“ผ้าไหมสาเกต” GI ของดีแดนอีสาน

“ผ้าไหมสาเกต “(Saket Silk หรือ Pha Mai Saket) หมายถึง ผ้าไหมมัดหมี่ที่ทอประดิษฐ์ขึ้นด้วยลายผ้ามัดหมี่โบราณพื้นบ้าน 5 ลาย มาทอต่อกันในผ้าผืนเดียวกัน เริ่มจากลายโคมเจ็ด ลายนาคน้อย ลายคองเอี้ย ลายคำเพา และลายหมากจับ โดยมีเอกลักษณ์สำคัญคือลายนาคน้อย 12 ตัว อยู่ตรงกลาง และลายหมากจับ 3 ลำ เป็นช่องไฟของลายพื้น และแต่ละลายจะทอคั่นด้วยผ้าสีพื้นเป็นสีดอกอินทนิลบก (สีชมพูอมม่วง) ซึ่งเป็นดอกไม้ประจำจังหวัดร้อยเอ็ด ผลิตในพื้นที่จังหวัดร้อยเอ็ด ทั้งนี้กรมทรัพย์สินทางปัญญาได้ประกาศให้ขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI ) ” ผ้าไหมสาเกต” เมื่อวันที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2565

20211213dd56b78777e20754464527f860399711113317

ลักษณะภูมิประเทศ

จังหวัดร้อยเอ็ด บริเวณตอนล่างมีลักษณะเป็นที่ราบลุ่มแม่น้ำมูลและลำน้ำสาขาประกอบด้วย ลำน้ำเสียว ลำน้ำพลับเพลา ลำน้ำเตา เป็นต้น ดินส่วนใหญ่มีความชื้นที่เหมาะสม ทำให้ต้นหม่อนเจริญเติบโตอย่างต่อเนื่อง จังหวัดร้อยเอ็ดจึงมีพื้นที่ปลูกหม่อนและเลี้ยงไหมกระจายอยู่ทั่วทั้งจังหวัด

ลักษณะภูมิอากาศ

จังหวัดร้อยเอ็ด ได้รับอิทธิพลของมรสุมที่พัดประจำฤดูกาล 2 ชนิด คือ มรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งพัดพามวลอากาศเย็นและแห้งจากประเทศจีนเข้าปกคลุมประเทศไทยในช่วงฤดูหนาว(ตั้งแต่ประมาณกลางเดือนตุลาคมถึงประมาณเดือนกุมภาพันธ์) ทำให้จังหวัดร้อยเอ็ดมีอากาศหนาวเย็นและแห้งทั่วไปและมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ซึ่งพัดพามวลอากาศขึ้นจากทะเลและมหาสมุทรเข้าปกคลุมประเทศไทยในช่วงฤดฝน(ประมาณกลางเดือนพฤษภาคมถึงประมาณกลางเดือนตุลาคม) ทำให้มีฝนตกชุกทั่วไป เนื่องจากจังหวัดร้อยเอ็ด มีลักษณะภูมิประเทศเป็นที่ราบสูงและบางพื้นที่เป็นภูเขาเตี้ยๆ ทำให้อากาศไม่หนาวเย็นมากนักในช่วงฤดูหนาวแต่อากาศจะค่อนข้างร้อนอบอ้าวในช่วงฤดูร้อน โดยอุณหภูมิเฉลี่ยตลอดทั้งปี 26.9 องศาเชลเชียส อุณหภูมิต่ำสุดเฉลี่ย 22.5 องศาเซลเซียส และอุณหภูมิสูงสุดเฉลี่ย 32.3 องศาเซลเซียส

2021


ด้วยสภาพภูมิศาสตร์ดังกล่าว ประกอบกับมีแม่น้ำไหลผ่านหลายสาย เช่น แม่น้ำชี ลำน้ำยัง ลำน้ำเสียว ลำน้ำพลับเพลา ลำน้ำเตา และแม่น้ำมูล เป็นต้น ทำให้พื้นดินของเมืองร้อยเอ็ด มีความชุ่มชื่น อุดมสมบูรณ์เหมาะต่อการเพาะปลูกหรือการกสิกรรม อาชีพประชากรส่วนใหญ่จะประกอบอาชีพทำนาเป็นอาชีพหลัก ปลูกหม่อนเลี้ยงไหมเป็นอาชีพเสริม จึงมีการสืบทอดวัฒนธรรมการทอผ้าจากบรรพบุรุษในอดีตมาจนถึงปัจจุบัน

ประวัติความเป็นมา

สาเกตนคร เป็นชื่อในอดีตของเมืองร้อยเอ็ด ได้มาจากชื่อในตำนานอุรังคธาตุ (คำบอกเล่าความเป็นมาของพระธาตุพนม จ.นครพนม) ซึ่งกล่าวถึง เมืองใหญ่ที่มีบริวารมากถึงร้อยเอ็ดเมือง และมีประตูเมืองมากถึงร้อยเอ็ดประตู เป็นเมืองศูนย์กลางที่มีอำนาจครอบคลุมออกไปโดยรอบทุกสารทิศ ตั้งอยู่กึ่งกลางของภาคอีสานมานานกว่า 200 ปี มีความอุดมสมบูรณ์และเจริญรุ่งเรืองมากในยุคนั้น มีผู้คนเข้ามาตั้งบ้านเรือนอาศัยอยู่จำนวนมาก กลุ่มชนที่อยู่ในเมืองร้อยเอ็ด ประกอบด้วย 5 กลุ่มหลัก ได้แก่ กลุ่มไทยอีสาน กลุ่มไทย-ลาว กลุ่มไทยเขมร กลุ่มไทย-ส่วย และกลุ่มภูไท ประชากรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำนาเป็นอาชีพหลัก ปลูกหม่อนเลี้ยงไหมเป็นอาชีพเสริมมีการสืบทอดวัฒนธรรมการทอผ้าจากบรรพบุรุษในอดีตมาจนถึงปัจจุบัน ผ้าไหมที่พบในในจังหวัดร้อยเอ็ดส่วนมากเป็นผ้าซิ่น (ผ้าถุงผู้หญิง) ผ้าโสร่ง (ผ้านุ่งผู้ชาย) สไบ ผ้าพื้น ผ้าขาวม้า และผ้าปูม เป็นต้น ผ้าซิ่นไหมส่วนมากจะสวมใส่ในโอกาสสำคัญหรือในงานประเพณีต่างๆ เช่น ประเพณีบุญผะเหวด บุญกฐิน งานสมรส เป็นต้นโดยเฉพาะผ้าไหมมัดหมี่ถือเป็นเครื่องแต่งกายที่มีลวดลายอันสวยงามมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่โดดเด่น และได้สืบทอดมาตั้งแต่โบราณ

ผ้าไหมสาเกต มาจากชื่อ สาเกตนคร ซึ่งเป็นชื่อเดิมของจังหวัดร้อยเอ็ด ผู้ตั้งชื่อคือ คุณมารศรี บุญเดช นายกเหล่ากาชาดจังหวัดร้อยเอ็ด (พ.ศ. 2543-2544) ในขณะนั้น เห็นว่าเป็นชื่อที่ไพเราะให้ความรู้สึกลึกล้ำด้านวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่น ผ้าไหมสาเกตเกิดจากลายผ้าที่เป็นอัตลักษณ์การทอผ้าไหมของจังหวัดร้อยเอ็ด จากลายมัดหมี่พื้นบ้าน 5 ลาย ได้แก่ ลายโคมเจ็ค ลายนาคน้อย ลายคองเอี้ย ลายค้ำเพา และลายหมากจับ ซึ่งนิยมทอในกลุ่มชนที่อยู่ในจังหวัดร้อยเอ็ด มาทอต่อกันในผ้าผืนเดียวกัน เปรียบเสมือนเป็นการหลอมรวมความสามัคคีของชาวร้อยเอ็ดให้เป็นหนึ่งเดียว โดยแต่ละลายจะทอคั้นด้วยผ้าพื้นสีดอกอินทนิลบก (สีชมพูอมม่วง)ซึ่งเป็นดอกไม้ประจำจังหวัดร้อยเอ็ด และเมื่อวันที่ 13 กันยายน 2544 ได้มีประกาศจังหวัดร้อยเอ็ด เรื่อง การกำหนดชื่อและลายผ้า “ลายสาเกต” เป็นเอกลักษณ์ประจำจังหวัดร้อยเอ็ด ซึ่งลายมัดหมี่พื้นบ้านทั้ง 5 ลาย มีความหมายที่สื่อสะท้อน และบ่งบอกถึงวิถีชีวิตความเป็นอยู่ และวิถีวัฒนธรรมท้องถิ่นของชาวร้อยเอ็ด ดังนี้

1) ลายโคมเจ็ด หมายถึง โคมไฟส่องสว่างสู่ความรุ่งเรือง ความอุดมสมบูรณ์ ความเพิ่มพูนของผลผลิต ตลอดถึงการอยู่ดีกินดีของชาวร้อยเอ็ด

2) ลายนาคน้อย หมายถึง ลายนาคพ่นน้ำ เป็นสัญลักษณ์ของความอุดมสมบูรณ์ ชุ่มชื้น ฝนตกต้องตามฤดูกาล ยังความอุดมสมบูรณ์แก่ไร่นา

3) ลายคองเอี้ย หมายถึง ลักษณะของสายน้ำที่เอื้ออำนวยต่อวิถีชีวิตความเป็นอยู่ และการประกอบอาชีพเกษตรกรรมของชาวร้อยเอ็ด

4) ลายค้ำเพา หมายถึง ความชื่อตรงมุ่งมั่น เข้มแข็ง คงทน ความยั่งยืนแห่งมิตรภาพของชาวร้อยเอ็ด (เป็นลายเส้นตรงประกอบด้วย เส้นสองเส้น)

5) ลายหมากจับ หมายถึง ความประทับใจ (จับจิตจับใจ) เมื่อใครได้พบเห็นความมีน้ำใจของชาวร้อยเอ็ดแล้ว อยากจะไปมาหาสู่ตลอดไป (หมากจับ เป็นชื่อพืชชนิดหนึ่ง)

GI65100173 page 0009