ผ้าไหมปักธงชัย (Pak Thong Chai Thai Silk หรือ Pha Mai Pak Thone Chai) หมายถึง ผ้าไหมพื้นหรือผ้าชิ้น ทอด้วยกี่กระตุก 2 ตะกอ (ไม่รวมกี่อุตสาหกรรม) ด้วยเส้นไหมยืนและเส้นไหมพุ่งที่ผลิตในประเทศไทยมีความกว้างของผ้าไหมไม่ต่ำกว่า 40 นิ้ว เนื้อผ้าหนาแน่น มีความมันวาว สีคงทน ไม่ตก ผืนผ้าไม่มีตำหนิ โดยเป็นการทอผ้าไหมตามกรรมวิธีที่ประณีตอันเป็นมรดกทางหัตถกรรมที่สืบทอดกันมา ผลิตในเขตพื้นที่อำเภอปักธงชัยของจังหวัดนครราชสีมา ทั้งนี้กรมทรัพย์สินทางปัญญา ประกาศให้ขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ ( GI) “ผ้าไหมปักธงชัย” เมื่อ 4 ก.ค. 2565
ลักษณะของผ้า
(1) ประเภทผ้า ผ้าพื้นหรือผ้าชิ้น
(2) ลักษณะทางกายภาพ
(2.1) ผ้าไหมที่ทอเป็นผ้าพื้น ทอด้วยเส้นพุ่ง 2 เส้น โดยไม่ปั่น
(2.2) ความกว้างของผ้าไหม ไม่ต่ำกว่า 40 นิ้ว
(2.3) เนื้อผ้าหนาแน่น มีความมันวาว สีคงทน ไม่ตก
(2.4) ผ้าที่ทอเสร็จแล้ว ริมผ้ามีความกว้างไม่น้อยกว่า 12 ช่องฟันหวี ที่แต่ละช่องจะมีเส้นไหม 4 เส้น
(2.5) ผ้าไหมที่ทอด้วยเส้นไหมไทยพื้นบ้าน มีน้ำหนักไม่น้อยกว่า 100 กรัมต่อตารางเมตร
(2.6) ผ้าไหมที่ทอด้วยเส้นไหมอุตสาหกรรม มีน้ำหนักไม่น้อยกว่า 90 กรัมต่อตารางเมตร
กระบวนการผลิต
วัตถุดิบ
(1) เส้นไหม
(1.1) สายพันธุ์ไหม ไหมพันธุ์ไทยและไหมพันธุ์ไทยปรับปรุง ที่ผลิตในประเทศไทย
(1.2) ลักษณะของเส้นไหม
(1.2.1) เส้นไหมยืน เป็นเส้นไหมอุตสาหกรรม ขนาด 60/70 Dinier
(1.2.2) เส้นไหมพุ่ง เป็นเส้นไหมอุตสาหกรรม ขนาด 150/200 Dinier หรือเส้นไหมไทยพื้นบ้าน
ขนาด 200/250 Dinier (Dinier คือ หน่วยวัดขนาดหรือความหนาแน่นเชิงเส้นของเส้นไหม มีค่าเท่ากับน้ำหนักเป็น
กรัม (g) ต่อความยาว ของเส้นไหม 9,000 เมตร)
(2) สีย้อมไหม
(2.1) สีจากธรรมชาติ เป็นสีที่ได้จากการสกัดจากส่วนต่างๆ ของพืช ซึ่งมีในประเทศไทย
(2.2) สีสังเคราะห์ที่ไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เป็นสีที่ผลิตในประเทศไทย
ขั้นตอนการผลิต
(1) การคัดเลือกเส้นไหม ผู้ผลิตผ้าไหมปักธงชัยจะใช้เส้นไหมไทยพื้นบ้านหรือเส้นไหมอุตสาหกรรม โดยผู้ผลิตจะมีการคัดเลือกเส้นไหมที่มีคุณภาพ เส้นไหมต้องมีความสม่ำเสมอ และต้องมีการดูแลเก็บรักษาอย่างดี
(2) การฟอกไหม เป็นการกำจัดชั้นกาวไหมและสิ่งสกปรกออกจากเส้นไหม โดยขั้นตอนการฟอกไหม มีรายละเอียดดังนี้
(2.1) เตรียมเส้นไหมดิบใส่ในห่วง
(2.2) ตั้งน้ำใส่หม้อต้มหรือภาชนะที่ไม่ทำปฏิกิริยากับเส้นไหมให้เดือด
(2.3) เติมด่างและสบู่ลงไปในปริมาณที่เหมาะสม คนให้ละลายเข้ากัน
(2.4) นำเส้นไหมที่ต้องการฟอกใส่ลงในหม้อต้มหรือภาชนะ ทำการพลิกกลับเส้นไหมอย่างสม่ำเสมอ ใช้เวลาในการฟอกไม่เกิน 1 ชั่วโมง หรือสังเกตว่ากาวไหมออกไปหมดหรือไม่ ตรวจสอบจากการสัมผัสเส้นไหม ถ้าเส้นไหมฝืด แสดงว่ากาวไหมออกหมดแล้ว
(2.5) นำเส้นไหมขึ้นจากหม้อต้มหรือภาชนะ พักไว้ให้เย็น แล้วล้างด้วยน้ำสะอาด อย่างน้อย 2 ครั้ง
(2.6) ทำการบิดเส้นไหมพอหมาด แล้วนำมาทำให้แห้งโดยการปั่นแห้ง นำมาผึ่งลม จากนั้นกระตุกเส้นไหมให้เส้นไหมแยกและเรียงเส้นโดยทั่วทั้งไจไหม ใช้เวลาในการผึ่งลมประมาณ 1 วัน
(3) การย้อมสีไหม จะใช้สีจากธรรมชาติหรือสีสังเคราะห์ที่ไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
ขั้นตอนการย้อมสีไหม มีรายละเอียดดังนี้
(3.1) เตรียมเส้นไหมที่ผ่านการฟอกไหมแล้วใส่ในห่วงๆ ละเท่าๆ กัน
(3.2) ทำการเตรียมสีตามสัดส่วนหรือปริมาณตามต้องการ
(3.2.1) สีจากธรรมชาติ ทำการต้มกับน้ำเพื่อสกัดสีออกมา แล้วกรองแยกกากออก
(3.2.2) สีสังเคราะห์ที่ไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ให้นำผงสีมาละลายกับน้ำ ตามสัดส่วนที่ต้องการใช้ แล้วคนผสมให้เข้ากัน
(3.3) เติมน้ำลงในหม้อต้ม ไม่น้อยกว่า 30 ลิตร และปริมาณน้ำต้องท่วมเส้นไหมประมาณ 10-20 เซนติเมตร ต่อการย้อมสีไหม 1 หม้อ แล้วผสมกับสีที่เตรียมไว้ ทำการคนให้สีกระจายสม่ำเสมอ จากนั้นนำเส้นไหมใส่ลงในหม้อต้ม
(3.4) แช่เส้นไหมในน้ำที่ผสมสีประมาณ 1 ชั่วโมง ให้เส้นไหมดูดสี หมั่นพลิกกลับเส้นไหมอย่างสม่ำเสมอ
(3.5) เมื่อเส้นไหมดูดสีจนอิ่มตัวแล้ว ทำการตั้งไฟให้ความร้อน ประมาณ 1 ชั่วโมง และหมั่นกลับเส้นไหมทุก 10 นาที (กลับเส้นไหมอย่างสม่ำเสมอ)
(3.6) เมื่อครบเวลาแล้ว นำเส้นไหมขึ้นจากหม้อต้ม พักให้เส้นไหมเย็นตัว แล้วล้างด้วยน้ำสะอาด จนน้ำที่ล้างเส้นไหมใส ไม่มีสี ทำการบิดเส้นไหมพอหมาด นำเส้นไหมมาผึ่งลม โดยกระตุกเส้นไหมให้เส้นไหมแยกและเรียงเส้นโดยทั่วทั้งใจไหม ผึ่งเส้นไหมจนแห้งสนิท
(4) การเตรียมเส้นไหม
(4.1) เส้นไหมยืน มีขั้นตอนดังนี้
(4.1.1) นำเส้นไหมที่ผ่านการย้อมสีแล้ว มากรอถ่ายลงในหลอดพลาสติกหรือวัสดุอื่นที่เหมาะสม
(4.1.2) ตั้งหลอดในหลักที่เดินไหม
(4.1.3) ทำการเดินเส้นไหม (สาวเส้นไหมยืน) ให้ได้ความยาวตามต้องการ และเสริมริมผ้าไม่น้อยกว่า 12 ช่องฟันหวี ที่แต่ละช่องจะมีเส้นไหม 4 เส้น
(4.1.4) ทำการหนีบเส้นไหมด้วยแม่แรงบีบไหม จากนั้นทำการดึงเส้นไหมออกมาคล้องกับเสาไม้คู่ โดยไม่ให้เส้นไหมตึงเกินไป
(4.1.5) ทำการร้อยเส้นไหมใส่ฟันหวี (ฟันหวี 2,000 ช่อง จะได้เส้นไหม 4,000 เส้น) การใส่ฟันหวีต้องช่วยกัน 2 คน โดยคนที่ 1 จะเป็นผู้ส่งเส้นไหม โดยจับเส้นไหมออกจากกลุ่มเส้นไหม คนที่ 2 จะใช้อุปกรณ์ซึ่งเป็นไม้ เกี่ยวเส้นไหมให้เข้าไปอยู่ในฟันหวีที่ละช่องจนครบทุกเส้น
(4.1.6) นำเส้นไหมที่ใส่ฟันหวีแล้วไปเข้าหัวม้วน โดยดึงเส้นไหมให้ตึงทุกเส้น ทำการตรวจสอบความเรียบร้อยของเส้นไหม ถ้าพบเส้นไหมขาดต้องทำการต่อเส้นไหมโดยผูกเป็นปมขนาดเล็ก จากนั้นค่อย ๆ หมุนแกนหัวม้วนเพื่อเก็บเส้นไหมจนสุดความยาวของเส้นไหม
(4.1.7) นำเส้นไหมที่เข้าหัวม้วนแล้ว มาทำการเก็บตะกอ โดยนำเส้นด้ายมามัดกับไม้แล้วลอดใต้เส้นไหมที่ขึ้นหัวเรียบร้อยแล้ว เกี่ยวเส้นไหมลอดขึ้นมาม้วนกับไม้ก้ามปูทีละเส้น ทำไปเรื่อยๆ จนหมดเส้นไหม 2,000 เส้น แล้วกลับด้านสลับฟันหวีจากบนลงล่างอีกครั้งจนครบ 2 ตะกอ (4,000 เส้น)
(4.2) เส้นไหมพุ่ง นำเส้นไหมมากรอใส่หลอดเส้นพุ่งสำหรับทอ เพื่อใส่ในกระสวยต่อไป
(5) การทอ กรรมวิธีการทอผ้าไหมปักธงชัยด้วยกี่กระตุก 2 ตะกอ จะประกอบไปด้วยไหม 2 ชุด คือ เส้นไหมยืนจะขึงไปตามความยาวผ้าอยู่ติดกับกี่ทอผ้าและหัวม้วนเส้นไหมยืน ไหมอีกกลุ่มหนึ่งคือ เส้นไหมพุ่งจะถูกกรอใส่หลอดเส้นพุ่งและนำหลอดเส้นพุ่งมาบรรจุใส่ในกระสวย จำนวน 2 หลอดพร้อมกัน เพื่อให้กระสวยเป็นตัวนำเส้นไหมพุ่งสอดขัดกับเส้นไหมยืนเป็นมุมฉาก
กรรมวิธีในการทอมีดังนี้
(5.1) ทำการเหยียบไม้เหยียบด้านล่างเพื่อให้เกิดการแยกตัวของเส้นไหมยืน ทำให้เกิดช่องว่างระหว่างเส้นไหมยืน
(5.2) ทำการดึงเชือกกระตุกด้านบน เพื่อให้กระสวยพุ่งผ่านช่องว่าง แล้วทำการกระทบฟันหวีไม่น้อยกว่า 1 ครั้ง
(5.3) เหยียบไม้เหยียบด้านล่างอีกข้างหนึ่ง เพื่อให้เกิดการแยกตัวของเส้นไหมยืน เส้นไหมยืนจะสลับตำแหน่งด้านบน-ล่าง เกิดช่องว่างระหว่างเส้นไหม
(5.4) ทำการดึงเชือกกระตุกด้านบน เพื่อให้กระสวยพุ่งผ่านช่องว่างกลับมาที่เดิม แล้วทำการกระทบฟันหวี 1 ครั้ง เพื่อให้เส้นไหมแนบชิดกัน เนื้อผ้าจะมีความแน่นหนา
(5.5) ทำการทอและม้วนผ้าเก็บทุกๆ 30 เซนติเมตร จากนั้นเริ่มทอต่อไปจนได้ความยาวตามที่ต้องการโดยในระหว่างการทอ หน้าผ้าต้องตึง
(5.6) เมื่อทอจนสิ้นสุดความยาวของเส้นไหมยืน ให้ทอเก็บปลายผ้า แล้วทำการตัดผ้า
ลักษณะภูมิประเทศ
อำเภอปักธงชัย จังหวัดนครราชสีมา มีลักษณะพื้นที่เป็นที่ราบสูง มีความลาดเอียงจากทิศศตะวันตกไปทิศตะวันออก มีความสูงอยู่ในช่วง 200 – 1,000 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง พื้นที่เป็นลักษณะลูกคลื่นลอนตื้น ยกเว้นบริเวณใกล้เชิงเขามีลักษณะเป็นพื้นที่ลูกคลื่นลอนลีก พื้นที่บางส่วนเป็นที่ราบลุ่มริมฝั่งแม่น้ำ มีลำน้ำน้ำไหลผ่านหลายสาย ได้แก่ ลำแชะ ลำพระเพลิง ลำตะคอง ลำน้ำมูล และลำจักราช อยู่ห่างจากตัวจังหวัด 35 กิโลเมตรมีพื้นที่ทั้งหมด 1,155.06 ตารางกิโลเมตร หรือ 721,913 ไร่
อำเภอปักธงชัย มีอาณาเขตติดต่อกับอำเภอต่างๆ ดังนี้ ทิศเหนือ ติดต่อกับอำเภอเมืองนครราชสีมา และอำเภอสูงเนิน จังหวัดนครราชสีมา ทิศใต้ ติดต่อกับอำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา ทิศตะวันออก ติดต่อกับอำเภอโชคชัย และอำเภอครบุรี จังหวัดนครราชสีมาและทิศตะวันตก ติดต่อกับอำเภอปากช่อง อำเภอวังน้ำเขียวและอำเภอสูงเนิน จังหวัดนครราชสีมา
สภาพภูมิอากาศตลอดทั้งปี เป็นแบบมรสุม มี 3 ฤดู ฤดูร้อน เริ่มตั้งแต่เตือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนเมษายน ฤดูฝน เริ่มตั้งแต่เดือนพฤษภาคมถึงเดือนตุลาคม และฤดูหนาว เริ่มตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนถึงเดือนมกราคม
ด้วยสภาพภูมิศาสตร์ดังกล่าว ประกอบกับมีลำน้ำน้ำไหลผ่านหลายสาย ได้แก่ ลำแชะ ลำพระเพลิง ลำลง ลำตะคอง ลำน้ำมูล และลำจักราช ทำให้พื้นดินดินมีความชุ่มชื่น อุดมสมบูรณ์เหมาะต่อการเพาะปลูกหรือการกสิกรรม รวมถึงด้านหัตถกรรม ซึ่งถือเป็นแหล่งผลิตผ้าไหมที่สำคัญที่สุดของจังหวัดนครราชสีมา และมีการผลิตมากที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศไทย ในอดีตอำเภอปักธงชัยมีการผลิตไหมแบบครบวงจร ตั้งแต่การปลูกหม่อน เลี้ยงไหม ตลอดจนการทอไหม
ปัจจุบันการผลิตผ้าไหม พัฒนามาเป็นกระบวนการทอไหมตามกรรมวิธีและภูมิปัญญาตั้งเดิมที่สืบทอดต่อกันมาเพื่อเพิ่มปริมาณการผลิตผ้าไหมให้ตอบสนองต่อความต้องการของตลาดที่เพิ่มมากขึ้น จนมีคุณภาพที่ดี ยากที่พื้นที่อื่นจะทำได้เหมือน
ประวัติความเป็นมา
อำเภอปักธงชัย มีประวัติอันยาวนาน มีความสำคัญตั้งแต่สมัยกรงศรีอยุธยา โดยปรากฏวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่นต่างๆ โดยเฉพาะวัฒนธรรมด้านการแต่งกายหรือภูมิปัญญาด้านการทอผ้า ซึ่งเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่สืบทอดกันมา โดยสมัยก่อนนั้นอำเภอปักธงชัย (เมืองปัก) เป็นเมืองหน้าด่านของเมืองนครราชสีมา จึงมีการสู้รบและเกิดการอพยพของชาวเมืองปักหรือชาวไทยโคราช และชาวเมืองเวียงจันทน์ เมื่อการสู้รบสิ้นสุดลง ก็ได้ทำการตั้งถิ่นฐานในบริเวณดังกล่าวมาแต่โบราณ มีการทำนา ทำไร่ การปลูกหม่อน ปลูกฝ้าย เลี้ยงไหม ทอผ้าไหม ทอผ้าฝ้าฝ้ายด้วยกี่พื้นบ้าน ซึ่งเป็นการพอผ้าไว้ใช้ในครัวเรือนหรือแบ่งปันให้ญาติพี่น้อง หากมีเหลือก็จะนำไปแลกเปลี่ยนกันกับพ่อค้าคนกลาง ที่เรียกตัวเองว่า นายฮ้อย ซึ่งนายฮ้อยจะนำผ้าไหมไปขายยังพื้นที่ต่างๆ
ต่อมาได้มีการพัฒนาการทอผ้าเพื่อจำหน่าย สร้างรายได้เสริมหลังจากฤดูทำนา ทำไร่ และเกิดการรวมกลุ่มผู้ทอผ้าไหมขึ้นจนเป็นอาชีพหลัก สร้างรายได้ให้กับครอบครัวและชุมชนท้องถิ่น
อำเภอปักธงชัย ถือเป็นแหล่งที่มีการผลิตผ้าไหมที่สำคัญที่สุดของจังหวัดนครราชสีมา และมีการผลิตมากที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศไทย จนมีการเรียกผ้าไหมที่ได้มีการผลิตในพื้นที่อำเภอปักธงชัยว่า “ผ้าไหมปักธงชัย” ซึ่งเป็นการบ่งชี้ถึงแหล่งผลิตผ้าไหมปักธงชัยเป็นสินค้าหัตถกรรมที่มีเอกลักษณ์และสร้างชื่อเสียงให้กับจังหวัดนครราชสีมาเป็นอย่างมาก ลักษณะของผ้าไหมปักธงชัยที่ได้ผลิตตามกรรมวิธีและภูมิปัญญาตั้งเดิมที่สืบทอดต่อกันมาคือ ผ้าพื้น ซึ่งทำการทอด้วยกี่พื้นบ้าน ซึ่งต่อมาได้พัฒนาเป็นกี่กระตูก ผ้าไหมมีลักษณะเป็นผ้าสีพื้น (ผ้าพื้นเรียบ)ทอแบบ 2 ตะกอ ผ้าไหมมีความกว้างไม่น้อยกว่า 40 นิ้ว เนื้อผ้าหนาแน่น สีคงทน ไม่ตก
ทั้งนี้ผ้าไหมปักธงชัยถือเป็นสินค้าที่แสดงถึงเอกลักษณ์ประจำท้องถิ่นที่มีมายาวนาน และมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของชุมชนและจังหวัดนครราชสีมา