“ผ้าไหมคึมมะอุบัวลาย” (Khum Ma Au Bua Lai Silk หรือ Pha Mai Khum Ma Au Bua Lai) หมายถึง ผ้าไหมทอมือชนิด 2 ตะกอ ทอลายตารางแบบดั้งเดิม โดยประกอบด้วยเส้นไหม 5 สีได้แก่ สีแดง สีดำสีเขียว สีส้ม และสีขาว เป็นผ้าไหมที่มีความประณีตสวยงามมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ซึ่งผลิตในพื้นที่อำเภอบัวลาย จังหวัดนครราชสีมา ทั้งนี้กรมทรัพย์สินทางปัญญาประกาศขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ ( GI ) “ผ้าไหมคึมมะอุบัวลาย” เมื่อ 26 ส.ค. 2565
ลักษณะของสินค้า
(1) ลักษณะทางกายภาพ
ผ้าไหมทอมือ ชนิด 2 ตะกอ ทอลายตารางแบบดั้งเดิมด้วยภูมิปัญญาท้องถิ่นของชาวบ้านอำเภอบัวลาย โดยประกอบด้วยเส้นไหม 5 สี ได้แก่ สีแดง สีดำ สีเขียว สีส้ม และสีขาวเท่านั้น และในแต่ละผืนต้องมีเส้นไหมครบทั้ง 5 สี เส้นพุ่งและเส้นยืนทำจากเส้นไหมสาวมือพันธุ์ไทยปรับปรุง เช่น พันธุ์เหลืองโคราช พันธุ์เหลืองสระบุรี พันธุ์ดอกบัว เป็นต้น
(2) ประเภทของผ้า
(2.1) ผ้าถือไหม คือ ผ้าที่มีขนาดเล็ก ความกว้างไม่เกิน 80 เชนติเมตร ความยาวไม่เกิน 2 เมตรต่อผืน
(2.2) ผ้าผืน คือ ผ้าที่มีขนาดใหญ่ ความกว้างไม่น้อยกว่า 100 เซนติเมตร ความยาวตามขนาดของเส้นยืน
กระบวนการผลิต
(1) การคัดเลือกเส้นไหม
การคัดเลือกเส้นไหมเพื่อนำมาเป็นเส้นพุ่งและเส้นยืน ใช้เส้นไหมสาวมือพันธุ์ไทยปรับปรุง เช่น พันธ์เหลืองโคราช พันธ์เหลืองสระบุรี พันธุ์ดอกบัว เป็นต้น ที่มีคุณภาพดีและขนาดเส้นใกล้เคียงกัน ซึ่งผลิตในพื้นที่อำเภอบัวลาย อำเภอสีดา และอำเภอบัวใหญ่ จังหวัดนครราชสีมา
(2) การฟอกไหม
การฟอกไหมหรือการลอกกาวไหม เป็นการนำเส้นไหมดิบมาฟอกด้วยด่างเพื่อกำจัดกาวไหมที่มีลักษณะเป็นสีเหลืองทึบหรือมีสีขาวออกจากเส้นใยไหม เพื่อเตรียมเส้นไยไหมก่อนที่จะนำมาย้อมสีต่าง ๆ เส้นไหมหลังการฟอกจะมีสีขาวและมีความนุ่มมากขึ้น หลังการฟอกไหมต้องล้างเส้นไหมด้วยน้ำสะอาด แล้วนำเส้นไหนมาผึ่งให้แห้ง เพื่อเตรียมสู่กระบวนการย้อมสีต่อไป
3) การย้อมสีไหม
หลังการฟอกไหมแล้ว นำเส้นไหมมาย้อมด้วยสีสังเคราะห์ที่ไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมทั้ง 5 สี ได้แก่ สีแดง สีดำ สีเขียว สีส้ม และสีขาว จากนั้นผึ่งลมให้แห้ง
(4) การเตรียมไหม
(4.1) การเตรียมเส้นไหมยืน นำเส้นไหมที่ย้อมสีทั้ง 5 สี ได้แก่ สีแดง สีดำ สีเขียว สีส้ม และสีขาว มากวักใส่อักแล้วนำไปเดินเป็นเส้นยืน โดยสามารถจัดวางสีตามที่ต้องการ
(4.2) การเตรียมเส้นไหมพุ่ง นำเส้นไหมที่ย้อมสีทั้ง 5 สี ได้แก่ สีแดง สีดำ สีเขียว สีส้ม และสีขาว มากรอใส่หลอดเส้นพุ่งสำหรับทอ เพื่อใส่ในกระสวยเตรียมทอ
5) การทอไหม
การทอจะทอด้วยกี่ทอมือ ลายขัด 2 ตะกอ ลำดับสีและจำนวนเส้นไหมในการเดินเส้นยืนสามารถเรียงได้ตามความเหมาะสมสวยงาม แต่ต้องมีเส้นไหมครบทั้ง 5 สีได้แก่ สีแดง สีดำ สีเขียว สีส้ม และสีขาว โดยจะใช้สีใดเริ่มก่อนก็ได้ เส้นพุ่งก็เช่นเดียวกัน สามารถเรียงลำดับสีได้ตามความเหมาะสมสวยงาม แต่ต้องมีเส้นไหมครบทั้ง 5 สี
ลักษณะภูมิประเทศ
พื้นที่อำเภอบัวลาย จังหวัดนครราชสีมา มีลักษณะเป็นที่ราบโดยทั่วไป มีความลาดชันร้อยละ 0 – 2 มีป่าไม้เบญจพรรณบ้างเล็กน้อย และป่าโปร่งตามหัวไร่ปลายนา พื้นที่ส่วนใหญ่เหมาะสำหรับการทำการเกษตรควบคู่ไปกับการเลี้ยงสัตว์ สภาพดินส่วนใหญ่เป็นดินร่วนปนทราย และดินทรายปนกรวดสีแดง และชุดดินในพื้นที่อำเภอบัวลายเป็นดินร่วนปนทราย ร่วนซุย หน้าดินลึก เป็นดินที่มีการระบายน้ำดี และน้ำไม่ขังติดต่อกันหลายวันในฤดูฝน ทำให้เหมาะแก่การปลูกหม่อนเลี้ยงไหม อำเภอบัวลายเป็นแหล่งปลูกหม่อนเลี้ยงไหมที่สำคัญของจังหวัดนครราชสีมา ชาวบ้านจะปลูกหม่อนเลี้ยงไหมในทุกฤดู โดยจะปลูกและเลี้ยงมากที่สุดในช่วงหลังจากเก็บเกี่ยวผลผลิตทางการเกษตรหรือช่วงหลังจากเกี่ยวข้าว
ลักษณะภูมิอากาศ
เป็นแบบร้อนชื้น มีความชื้นเล็กน้อย ฝนตกน้อย และมักทิ้งช่วงยาวในเดือนกรกฎาคมถึงต้นเดือนสิงหาคม มีปริมาณน้ำฝนเฉลี่ย 995.11 มิลลิเมตรต่อปี มีอุณหภูมิเฉลี่ยในฤดูหนาว 24.2 องศาเซลเชียส อุณหภูมิเฉลี่ยในฤดูร้อน 28.6 องศาเชลเชียส และอุณหภูมิเฉลี่ยในฤดูฝน 27.6 องศาเชลเชียส มีความชื้นสัมพัทธ์เฉลี่ยตลอดปีร้อยละ 73
ประวัติความเป็นมา
บ้านคึมมะอุ ก่อตั้งมาแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ประมาณปี พ.ศ. 2452 หลังจากที่พ่อหลวงศรีวิชาและพ่อใหญ่สรสิทธิ์ได้พาชาวบ้านอพยพมาตั้งถิ่นฐานบริเวณหนองน้ำใหญ่ เดิมชื่อ บ้านคึมบักอู แต่เพี้ยนเสียงเป็น คึมมะอุ ชาวบ้านคึมมะอุและชาวบัวลายประกอบอาชีพเกษตรกรรมทำนาเป็นหลัก ควบคู่กับการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมเป็นอาชีพเสริม หลังหมดฤดูทำนาทำไร่ ผู้หญิงจะทอผ้าไว้ใช้เองในครัวเรือนและแบ่งปันให้ญาติพี่น้อง รวมถึงญาติผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือ โดยใช้เส้นไหมที่เลี้ยงเองนำมาทอขัดกันระหว่างเส้นพุ่งและเส้นยืนเป็นผ้าลายตาราง เรียกว่า ผ้าถือไหม โดยถ้าทอให้ผู้ชายจะนิยมนำผ้าถือไหมมาใช้คาดเอวหรือพาดบ่า ส่วนผู้หญิงจะใช้เป็นสไบ เพื่อไปร่วมงานมงคลหรือเข้าร่วมพิธีทางศาสนาหากมีเหลือจะนำไปแลกเปลี่ยนกันและต่อมามีการจำหน่ายเป็นรายได้เสริมให้กับครอบครัว
ชาวบ้านคึมมะอุและชาวบัวลายได้ทำการทอผ้าถือไหมด้วยสีสันที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวจนได้รับความนิยมอย่างมาก ส่งผลให้ผ้าไหมคึมมะอุบัวลาย กลายเป็นผลิตภัณฑ์เลื่องชื่อในอำเภอบัวลาย ในช่วงหลังจากเทศกาลออกพรรษา ชาวอำเภอบัวลายจะพร้อมใจกันจัดงานประเพณีของดีอำเภอบัวลายขึ้น ซึ่งภายในงานจะมีการประกวดผลิตภัณฑ์ที่แปรรูปจากผ้าไหม
รวมถึงนำผลงานหรือผลผลิตของผ้าไหมของชาวบ้านมาจัดจำหน่ายเป็นโอกาสให้คนต่างถิ่นได้มาชื่นชมความงามของผ้าไหมและชาวบ้านในพื้นที่ได้แลกเปลี่ยนความรู้เรื่องการผลิตผ้าไหมไปพร้อมกัน ทั้งนี้ขอบเขตพื้นที่การผลิตผ้าไหมคึมมะอุบัวลาย ครอบคลุมพื้นที่ อำเภอบัวลาย จังหวัดนครราชสีมา