“ผ้าหมักโคลนบึงกาฬ” หรือ Bueng Kan Fermented Mud Cloth wsa Pha Muk Klon Bueng Kan หมายถึง ผ้าย้อมสีธรรมชาติ และหมักโคลนตามภูมิปัญญาท้องถิ่นของชาวบึงกาฬ โดยเป็นโคลนที่นำมาจากจังหวัดบึงกาฬ ทำให้เนื้อผ้ามีความนุ่ม มันวาว มีกลิ่นหอมของดินโคลน มีสีตามที่สกัดได้จากพรรณไม้ชนิดต่าง ๆและโคลนที่นำมาหมัก สีไม่ตก แต่จะค่อย ๆ ซีดจางตามธรรมชาติ ซึ่งผลิตในเขตพื้นที่จังหวัดบึงกาฬ
ลักษณะของสินค้า
(1) ประเภทผ้า
ผ้าผืน และผลิตภัณฑ์สิ่งทอที่ผลิตจากผ้าหมักโคลนบึงกาฬ
(2) ลักษณะทางกายภาพ
-เนื้อผ้า
เนื้อผ้านุ่ม มีความมันวาว สีไม่ตก สีจะค่อย ๆ ชัดจางตามธรรมชาติ
-โทนสี
สีธรรมชาติที่ได้จากการย้อมสีจากพรรณไม้และหมักโคลน เช่น สีเทาเข้ม สีเทาประกายม่วง สีน้ำตาลเข้ม สีน้ำตาลอ่อน สีครามน้ำเงิน เป็นต้น
-กลิ่นผ้า
กลิ่นหอมไอดินกลิ่นโคลนตามธรรมชาติ
-เส้นใย
เส้นใยธรรมชาติ เช่น ฝ้ายและไหม เป็นต้น และเส้นใยประดิษฐ์
-ลวดลาย
ลวดลายตามภูมิปัญญาทองถิ่น เช่น ลายตายาย ลายสองฝั่งโขง ลายดารานาคี ลายสายฝน ลายถุงเงิน ลายชะโด และลายสายใย เป็นต้น
กระบวนการผลิต
วัตถุดิบ
(1) เนื้อโคลน เป็นโคลนดินเหนียวและเนื้อโคลนละเอียด ไม่มีเม็ดดินและทรายปะปน ที่ได้จากบริเวณริมแม่น้ำโขงเหนือสุดแดนอีสาน บ้านสะง้อ อำเภอเมืองบึงกาฬ (โคลนสีเทาเข้ม) บ่อดินบ้านนาสุขสันต์ อำเภอเมืองบึงกาฬ (โคลนสีออกส้มหรือแดง) หนองปลาซิว บ้านศรีมงคล อำเภอพรเจริญ (โคลนสีเทาเข้ม) หรือจากอำเภออื่น ๆ ในจังหวัดบึงกาฬ
(2) เส้นใย
(2.1)เส้นใยธรรมชาติ เช่น ฝ้าย และไหม เป็นต้น ที่ผลิตในพื้นที่จังหวัดบึงกาฬ หรือจังหวัดอื่นในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย
(2.2) เส้นใยประดิษฐ์ เช่น โพลีเอสเตอร์ และเรยอน เป็นต้น ที่ได้จากกรุงเทพมหานครหรือจังหวัดอื่นในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย
(3) สีย้อมผ้า เป็นสีธรรมชาติที่สกัดได้จากพรรณไม้ชนิดต่าง ๆ ในพื้นที่จังหวัดบึงกาฬ เช่น ต้นชมพู่ป่า ต้นขนุน ต้นค้อเชียว ต้นคูณ ต้นมะขาม ต้นประดู่ ต้นใบยอ ต้นคราม ต้นเปลือย ต้นลูกหว้า ต้นสัก ต้นดอกดาวเรือง และต้นสิรินธรวัลลี เป็นต้น ซึ่งพรรณไม้แต่ละชนิดจะให้สีที่แตกต่างกันไป
วิธีการผลิต
(1) การเตรียมสีย้อม
(1.1) นำพรรณไม้ที่จะใช้เป็นวัตถุดิบย้อมผ้ามาทำความสะอาด
(1.2) ต้มสกัดสี โดยควบคุมความร้อนให้คงที่ ใช้ระยะเวลาเคี่ยวอย่างน้อย 5 – 12 ชั่วโมง
(1.3) พักสีให้เย็น แล้วกรองด้วยผ้าขาวบาง
(2) การเตรียมเนื้อโคลน
นำโคลนที่ได้จากพื้นที่จังหวัดบึงกาฬมากรองด้วยผ้าที่มีความบาง เพื่อคัดกรองเอาเม็ดดิน เม็ดทรายออก ให้เหลือแต่เนื้อโคลนละเอียด และผสมน้ำเล็กน้อยให้โคลนมีลักษณะเหลว
(3) การย้อมสี
(3.1) นำเส้นใยไปทำความสะอาด และกระตุกเส้นใย เพื่อให้เส้นใยกระจายไม่พันกัน
(3.2) นำเส้นใยไปย้อมสีธรรมชาติที่เตรียมไว้ โดยกรรมวิธีการย้อมร้อนหรือย้อมเย็น ระยะเวลาประมาณ 5 – 20 นาที หรือสังเกตให้สีติดเส้นใยสม่ำเสมอ
(4) การหมักโคลน
(4.1) นำเส้นใยที่ย้อมสีธรรรมชาติแล้ว บิดให้หมาด และกระตุกเส้นใยอีกครั้ง
(4.2) นำเส้นใยลงไปหมักโคลนที่เตรียมไว้ 5 นาทีขึ้นไป โดยระยะเวลาในการหมักขึ้นอยู่กับความนุ่มที่ต้องการ หากต้องการให้มีความนุ่มมากให้หมักไว้ 1 คืน
(4.3) นำเส้นใยที่หมักโคลนแล้ว ล้างด้วยน้ำสะอาด 2- 3 ครั้งจนสะอาด
(4.4) กระตุกเส้นใย เพื่อให้เส้นใยกระจายไม่พันกัน และนำไปผึ่งลมในที่ร่ม ประมาณ 4 – 6 ชั่วโมง
(4.5) นำเส้นใยไปปั่นหลอด เพื่อเข้าสู่กระบวนการทอ
(5) การทอผ้า
ทำการทอเส้นใยเป็นผ้าผืน โดยทั่วไปจะใช้กี่ทอมือแบบพื้นบ้าน เพื่อให้สามารถจัดลวดลายได้ตรงและเรียบร้อย โดยทอเป็นลวดลายตามภูมิปัญญาท้องถิ่น เช่น ลายตายาย ลายสองฝั่งโขง ลายดารานาคี ลายสายฝน ลายถุงเงิน ลายชะโด และลายสายใย เป็นต้น
ลักษณะภูมิประเทศ
จังหวัดบึงกาฬ มีเขตพื้นที่ติดต่อกับสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว โดยมีแม่น้ำโขงเป็นแนวกั้นพรมแดน พื้นที่ส่วนใหญ่ในจังหวัดบึงกาฬเป็นที่ราบลุ่ม มีสภาพแวดล้อมสมบูรณ์ไปด้วยภูเขาและน้ำตก เช่น น้ำตกเจ็ดสี น้ำตกตาดชะแนนที่อยู่ภายในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูวัว เป็นต้น มีพื้นที่ชุ่มน้ำที่สำคัญระดับโลก ได้แก่ พื้นที่บริเวณกุดทิง และพื้นที่ชุ่มน้ำเขตห้ามล่าสัตว์ป่าบึงโขงหลง รวมถึงแหล่งแม่น้ำโขงบริเวณหน้าวัดอาฮงศิลาวาส ตำบลหอคำ อำเภอเมืองบึงกาฬ มีจุดที่แม่น้ำโขงมีความลึกที่สุด ไม่สามารถวัดระดับ
ความลึกได้ สังเกตได้จากเมื่อมีวัสดุหรือซากไม้ขนาดใหญ่ลอยมาถึงบริเวณนี้ จะหมุนวนอยู่ประมาณ 30 นาทีจึงจะไหลต่อไป ชาวบ้านจึงเชื่อกันว่าเป็น “สะดือแม่น้ำโขง” เมื่อมีการนำโคลนบริเวณใกล้เคียงกับสะดือแม่น้ำโขงและบริเวณแหล่งน้ำในจังหวัดบึงกาฬ ซึ่งเป็นโคลนที่เกิดจากการทับถมของตะกอนลำน้ำ มีลักษณะเป็นดินเหนียวปนดินร่วน มีเนื้อละเอียด เมื่อนำมาหมักกับเส้นใยหรือผ้าที่มีการย้อมสีจากพรรณไม้ธรรรมชาติแล้ว จะทำให้เส้นใยหรือผ้านั้นมีความนุ่ม มันเงา และมีกลิ่นหอมไอดินกลิ่นโคลน รวมถึงมีการปลูกต้นฝ้าย ซึ่งเป็นพืชไร่ที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ เป็นเส้นใยธรรมชาติที่นำมาใช้เป็นวัตถุดิบในการทำผ้าหมักโคลนบึงกาฬ
ลักษณะภูมิอากาศ
จังหวัดบึงกาฬ มีสภาพภูมิอากาศค่อนข้างดี เนื่องจากได้อิทธิพลจากแม่น้ำโขงทำให้อากาศไม่ร้อนมากในช่วงฤดูร้อน ส่วนในช่วงฤดูฝนจะมีฝนตกชุก ส่งผลให้มีความอุดมสมบูรณ์และความหลากหลายทางด้านพรรณไม้ธรรมชาติ พื้นที่เต็มไปด้วยป่าไม้ สวนยาง และต้นไม้นานาพรรณ จึงมีการนำส่วนประกอบต่าง ๆ ของพรรณไม้ไปต้มสกัดเป็นสีย้อมผ้าธรรมชาติ เช่น เปลือกของต้นชมพู่ป่า เปลือกหรือผลของต้นค้อเขียว ใบหรือฝักของต้นใบยอ และดอกหรือรากของต้นสิรินธรวัลลี เป็นต้น
จากลักษณะภูมิประเทศและลักษณะภูมิอากาศดังกล่าว ส่งผลให้ผ้าหมักโคลนบึงกาฬที่เกิดจากการใช้โคลนจากพื้นที่ของจังหวัดบึงกาฬมาหมักนั้น ทำให้เนื้อผ้ามีความนุ่ม มันวาว มีกลิ่นหอมละมุนของดินโคลนและการย้อมสีผ้าที่มาจากพรรณไม้ธรรมชาติ ไม่มีสารเคมีปะปน ทำให้ผู้ที่สวมใส่รู้สึกปลอดภัย
ประวัติความเป็นมา
จังหวัดบึงกาฬ มีการรวมกลุ่มหลากหลายทางชาติพันธุ์ทั้ง ลาว ไทพวน ภูไท โย้ย และญ้อ ซึ่งแต่ละกลุ่มมีลักษณะการแต่งกายที่แตกต่างกัน แต่มีศาสนาและความเชื่อที่คล้ายกัน ซึ่งถือเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของแต่ละกลุ่มซึ่งนอกจากเรื่องความเชื่อแล้ว แต่ละกลุ่มยังมีการสืบทอดภูมิปัญญาจากบรรพบุรุษ คือการสกัดใยฝ้ายมาปั่นเป็นเส้นใยทอเป็นผืนผ้า และมีภูมิปัญญาในการสกัดสีจากพรรณไม้ธรรมชาติ เพื่อนำมาย้อมสีผ้าให้มีสีสันที่หลากหลาย ซึ่งมีการสืบทอดต่อกันมาจากบรรพบุรุษรุ่นสู่รุ่น คาดว่าไม่ต่ำกว่า 100 ปีมาแล้ว
“ผ้าหมักโคลนบึงกาฬ”ในอดีตเกิดจากชาวบ้านที่ออกไปทำนา โดยเสื้อผ้าที่สวมใส่ส่วนล่างจะแช่ในน้ำโคลนและเปื้อนโคลนกลับมาทุกครั้ง เมื่อชาวบ้านกลับมาซักผ้าเพื่อทำความสะอาด จึงสังเกตว่าผ้าในส่วนล่างที่เปื้อนโคลนมีความนุ่มมากกว่าผ้าส่วนบนที่ไม่เปื้อนโคลน จากการสังเกตทำให้ชาวบ้านรู้กรรมวิธีที่จะทำให้ผ้านุ่มขึ้น จึงมีการนำเส้นใยฝ้ายหรือผ้าทอที่ผ่านกระบวนการย้อมสีจากพรรณไม้ธรรรมชาติแล้ว ไปหมักด้วยโคลนในพื้นที่จังหวัดบึงกาฬ จึงได้เป็นผ้าหมักโคลนที่นุ่มและมันวาวอย่างน่ามหัศจรรย์ รวมถึงสีที่นำมาสกัดเป็นสีย้อมผ้าได้มาจากพรรณไม้ธรรมชาติที่มีอยู่ในท้องถิ่น ทำให้ผู้สวมใส่รู้สึกปลอดภัยและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม จึงมีการส่งต่อภูมิปัญญานั้นมาจนถึงปัจจุบัน
นอกจากคุณสมบัติเฉพาะตัวที่กล่าวมาแล้ว “ผ้าหมักโคลนบึงกาฬ” ยังมีลวดลายที่เป็นเอกลักษณ์ซึ่งได้แรงบันดาลใจมาจากลายผ้าขาวม้าที่มีมาแต่ตั้งเดิม และมีการประยุกต์ลวดลายให้ทันสมัยขึ้น ส่งผลให้ “ผ้าหมักโคลนบึงกาฬ”เป็นที่นิยมอย่างแพร่หลายและเป็นผลิตภัณฑ์ชุมชนสินค้าเด่นของจังหวัดบึงกาฬ มีการจำหน่ายทั้งในจังหวัดและต่างจังหวัด ซึ่งสร้างรายได้ให้กับกลุ่มผู้ผลิตผ้าหมักโคลนบึงกาฬได้เป็นจำนวนมาก ทั้งนี้ขอบเขตการผลิตผ้าหมักโคลนบึงกาฬ ครอบคลุมเขตพื้นที่ทั้งหมดของจังหวัดบึงกาฬ