“เสื่อกกนาหมอม้า” หรือ Na Mor Ma Mat หรือ Suer Kok Na Mor Ma หมายถึง เสื่อกกและผลิตภัณฑ์ที่แปรรูปจากเสื่อกก ซึ่งเป็นการทอด้วยกก โดยนำมาผ่านกระบวนการทอเสื่อด้วยมือ ผสมผสานกับภูมิปัญญาของท้องถิ่นที่สืบทอดกันมาอย่างยาวนาน ผลิตและแปรรูปในเขตพื้นที่จังหวัดอำนาจเจริญ ทั้งนี้กรมทรัพย์สินทางปัญญา ประกาศให้ขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ ( GI ) เมื่อ 9 กันยายน พ.ศ. 2567
ลักษณะของสินค้า
(1) เส้นใยกก มีลักษณะเป็นเส้นเล็ก กลม เหนียว ไม่เปื่อยง่าย ลำต้นยาว มีความมันวาว ทนทาน ย้อมสีแล้วติดทนนาน
(2) ประเภทสินค้า
(2.1) เสื่อผืน คือ เสื่อกกที่ผ่านกระบวนการทอเป็นผืนและถักริมหรือเย็บขอบให้เรียบร้อย มีหลายขนาดตามความต้องการใช้งาน
(2.2) เสื่อบุฟองน้ำ คือ เสื่อกกที่ผ่านกระบวนการทอเป็นผืน บุด้วยฟองน้ำ รองผ้า และถักริมหรือเย็บขอบให้เรียบร้อย มีขนาดตามความต้องการใช้งาน
(2.3) เสื่อพับ คือ เสื่อกกที่ผ่านกระบวนการทอเป็นผืน และนำมาตัดตามยาวเป็น 2-4 4 ส่วนหรือตามความเหมาะสมของการใช้งาน โดยเย็บต่อกันให้เป็นผืนโดยใช้ผ้า หรือวัสดุอื่นเย็บเชื่อมต่อกันบริเวณรอยพับให้สามารถพับได้
(2.4) ผลิตภัณฑ์แปรรูปจากเสื่อกก คือ การนำเสื่อผืนไปใช้เป็นวัตถุดิบหลักในการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ต่าง ๆ เช่น กระเป๋า กล่องใส่ของ ที่รองจาน รองเท้า เครื่องประดับ ตะกร้า วัสดุอุปกรณ์ตกแต่งบ้าน และหมวก เป็นต้น
กระบวนการผลิต
การผลิตเส้นกก
(1) การขยายพันธุ์กก สามารถนำเหง้ากกจากแปลงนากก เดิมมาแบ่งเป็นเหง้าเล็กๆ เพื่อปักดำในนากกและขยายพันธุ์ต่อได้ เหง้ากกที่ได้รับการดูแลที่เหมาะสมสามารถให้ผลผลิตได้นานหลายปี
(2) การปลูกกก สามารถปลูกได้ตลอดทั้งปี โดยเฉพาะบริเวณที่ราบลุ่มที่มีลักษณะดินเป็นดินร่วนปนทราย เริ่มจากการปรับพื้นที่ปลูกโดยการไถเปิดหน้าดิน แล้วพรวนและคราดเพื่อย่อยดิน เก็บเศษวัชพืชออกให้หมด
(3) หากปลูกแบบขุดร่อง ใช้ต้นพันธุ์กก 1- 2 เหง้าต่อจุด ปลูกลึกประมาณ 10 เซนติเมตร ระยะห่างระหว่างแถว 30 เซนติเมตร หรือตามความเหมาะสมของพื้นที่ ส่วนการปลูกแบบขุดหลุม ใช้ต้นพันธุ์กก 2 -3 เหง้า ปลูกลงหลุมที่เตรียมไว้ ควรโรยปูนขาวและใส่ปุ๋ยรองพื้นก่อนปลูก กลบดินหนาพอท่วมเหง้าและรดน้ำตามพอชุ่ม
(4) ควรใส่ปุ๋ยคอกเพื่อบำรุงต้นตามอายุของกก และกำจัดวัชพืช รวมถึงศัตรูพืชต่างๆ ตามความเหมาะสม
(5) ต้นกกที่นำมาใช้ควรมีอายุหลังปลูกไม่ต่ำกว่า 2 เดือน หรือสังเกตจากดอกของต้นกกจะออกเป็นสีขาวครีมและบานเต็มที่ โดยมีความยาวของต้นประมาณ 120 – 200 เซนติเมตร
(6) เมื่อต้นกกมีอายุและได้ขนาดที่เหมาะสม เก็บเกี่ยวโดยใช้มีดตัดบริเวณโคนต้นกก จากนั้นให้รวบมัดกกที่ตัดมาจากแปลง นำมาคัดเลือกขนาดต้นกกที่มีความยาวใกล้เคียงกันแยกไว้กองเดียวกัน
(7) เมื่อตัดกกไปแล้วเหง้ากกยังอยู่ จะแทงหน่อขึ้นมาเป็นลำต้นใหม่ จึงสามารถตัดต้นกกได้อีกหลายรอบ การดูแลรักษาให้ปฏิบัติเหมือนการปลูกครั้งแรก
(8) นำกกที่ผ่านกระบวนการคัดขนาดแล้ว กระแทกส่วนโคนของมัดกกกระทบพื้นเบาๆ และตัดส่วนปลายเส้นกกให้ได้ขนาดเท่ากัน โดยตำแหน่งตัดให้เลือกเส้นกกที่สั้นที่สุด และตัดให้ต่ำกว่าฐานช่อดอกเล็กน้อย
(9) การจักเส้นกก โดยการผ่าเป็นซีกเล็กๆ ประมาณ 4 – 7 ซีกต่อต้น หรือกว้างประมาณ 5 มิลลิเมตรต่อซีก ใช้มีดขูดเยื่อสีขาวคล้ายฟองน้ำที่อยู่แกนกลางของกกทิ้ง เหลือไว้แค่เปลือกนอกเท่านั้น
(10) เส้นกกที่จักเรียบร้อยแล้ว ให้น้ำมามัดรวบปลาย นำไปแขวนตาก ทิ้งให้แห้งประมาณ 5 – 7 วันหรือจนกว่าเส้นกกจะเปลี่ยนจากสีเขียวเป็นสีขาวครีม กรณีที่ไม่ต้องการมัดลวดลายสามารถนำเส้นกกที่เปลี่ยนสีแล้วไปแช่น้ำเพื่อเตรียมย้อมสีต่อไป
(11) ควรออกแบบและสร้างลวดลายที่ต้องการบนกระดาษ แล้วมัดกกตามลวดลายที่ออกแบบไว้
การย้อมสี
(1) นำเส้นกกที่มัดลวดลายแล้วไปแช่น้ำไว้ประมาณ 12 ชั่วโมง เพื่อให้การย้อมสีเส้นกกติดได้ดีขึ้น หากจะทอเป็นเสื่อสีธรรมชาติ (ไม่ย้อมสี) สามารถนำเส้นกกไปทอเสื่อได้เลยโดยไม่ต้องแช่น้ำ
(2) การเตรียมสีย้อมกก ให้ผสมสีที่ต้องการในอัตราเส้นกกแห้ง 1 กิโลกรัม ใช้สีย้อม 1 – 2 ซอง ต่อน้ำ 10 – 15 ลิตร ทั้งนี้ สามารถเพิ่มหรือลดความเข้มข้นได้ตามที่ต้องการ
(3) นำเส้นกกที่แช่น้ำไว้แล้วไปต้มในน้ำเดือดประมาณ 20 – 30 นาที จากนั้นนำส่วนที่มัดลายทำการจุ่มลาย สำหรับส่วนมัดย้อมที่ใช้สีที่แตกต่างกันจะใช้ภาชนะขนาดเล็กต้มย้อมเฉพาะส่วน ใช้เวลาประมาณ 10 นาที
(4) เมื่อย้อมสีเสร็จแล้วนำเส้นกกมาแกะส่วนที่มัดลวดลายออก แล้วล้างน้ำเปล่าจนไม่สีตกค้างในน้ำจากนั้นนำเส้นกกแขวนตากจนกว่าจะแห้งสนิท
การทอ
(1) ตั้งขนาดกี่ทอเสื่อตามขนาดที่ต้องการ ร้อยเชือกตามรูฟืมกับไม้คานด้านหัวยึดเส้นยืน ใช้ไม้โป้งเป้งสอดด้านล่าง เพื่อไม่ให้ตัวเสื่อทิ้งน้ำหนักลงด้านล่าง แล้วผูกปลายเชือกเข้ากับไม้คานด้านท้าย
(2) การทอเสื่อแบ่งออกเป็น 2 รูปแบบ
(2.1) การทอรูปแบบสีธรรมชาติ
ทอเสื่อโดยใช้แรงงาน 2 คน โดยคนที่ 1 ทำหน้าที่จับฟืมให้หงายและคว่ำสลับกันเพื่อให้เกิดช่องว่างระหว่างเส้นยืน และคนที่ 2 สอดไม้พุ่งพร้อมเส้นกกทีละเส้นผ่านช่องว่างระหว่างเส้นยืนจนสุดขอบฟืมแล้วชักไม้พุ่งออก จากนั้นคนที่ 1 จะกระแทกฟืมเข้าหาตัวให้เส้นกกเรียงเสมอกัน โดยสลับเส้นจากโคนกกและปลายกก และถักขอบเสื่อสลับกันทีละด้าน กรณีไม่ถักริมสามารถปล่อยปลายกกไว้และนำไปเย็บขอบด้วยผ้าหรือหนังเทียม ทอไปจนสุดขอบกี่หรือได้ขนาดความยาวตามที่ต้องการ
(2.2) การทอเสื่อลายมัดหมี่
ทอเช่นเดียวกันกับการทอรูปแบบสีธรรมชาติ แต่การทอลายมัดหมี่จะต้องเรียงเส้นกตามลวดลายที่ออกแบบไว้
(3) เสื่อที่ทอเป็นผืนแล้วนำไปผึ่งในที่ร่มให้แห้งและเก็บในที่ร่ม
การแปรรูป
การนำเสื่อกกไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ต้องใช้ “เสื่อกกนาหมอม้า”ที่ทอในพื้นที่จังหวัดอำนาจเจริญ มาตัด เย็บ โดยใช้จักรอุตสาหกรรมหรือวิธีการเย็บมือ เป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น กระเป๋า รองเท้า เครื่องประดับ เบาะรองนั่ง แผ่นรองจาน ที่คลุมเก้าอี้ กล่องกระดาษอเนกประสงค์ เป็นต้น และอาจมีวัสดุอื่นที่ใช้เป็นส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์แปรรูปจากเสื่อกก เช่น หนัง ผ้าบุ ห่วงโลหะ กระดุม เป็นต้น วัสดุเหล่านี้สามารถนำมาจากแหล่งผลิตภายนอกจังหวัดได้ โดยจะต้องแปรรูปในพื้นที่จังหวัดอำนาจเจริญ เท่านั้น
ลักษณะภูมิประเทศ
จังหวัดอำนาจเจริญ สภาพพื้นที่โดยทั่วไปเป็นที่ลุ่ม และมีเนินเขาเตี้ยๆ สภาพดินโดยทั่วไปเป็นดินร่วนปนทรายและบางส่วนเป็นดินลูกรังแต่สามารถทำการเกษตรได้ พื้นที่ส่วนใหญ่อยู่สูงกว่าระดับน้ำทะเลประมาณ 68 เมตร (227 ฟุต) มีลำน้ำน้ำสายใหญ่ไหลผ่าน ได้แก่ ลำเซบกและลำเซบาย และมีลุ่มน้ำต่างๆ ทั่วทั้งจังหวัด 7 ลุ่มน้ำ ได้แก่ ลุ่มน้ำโขง ลุ่มน้ำละโอง ลุ่มน้ำพระเหลา ลุ่มน้ำห้วยยาง ลุ่มน้ำเซบก ลุ่มน้ำเซบาย ลุ่มน้ำห้วยปลาแดก
ลักษณะภูมิอากาศ
มี 3 ฤดูกาล ได้แก่ ฤดูฝนเริ่มตั้งแต่เดือนพฤษภาคมถึงเดือนกันยายน เป็นระยะเวลาประมาณ 5 เดือน ฤดูหนาวเริ่มตั้งแต่เดือนตุลาคมถึงกลางเดือนมกราคม ระยะเวลาประมาณ 4 เดือน ฤดูร้อนเริ่มตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนพฤษภาคม ระยะเวลาประมาณ 3 – 4 เดือน และจะร้อนมากที่สุดในช่วงเดือนเมษายน
จากลักษณะภูมิประเทศและภูมิอากาศดังกล่าว ส่งผลต่อการเจริญเติบโตของต้นกก โดยเฉพาะพื้นที่ที่เป็นดินร่วนปนทราย เขตลุ่มน้ำเป็นดินที่สามารถเก็บกักความชื้นได้ดีและมีความอุดมสมบูรณ์ ส่งผลต่อการเจริญติบโตของกก ทำให้กกนาหมอม้ามีความแกร่ง และเหนียวทนทาน
ประวัติความเป็นมา
เมื่อราวปี พ.ศ. 2500 ชาวบ้านนาหมอม้าได้เริ่มทำเสื่อสำหรับปูนั่งปูนอน เนื่องจากบ้านเรือนในสมัยนั้นใช้วัสดุปูพื้นบ้านด้วยไม่ไผ่ ชาวบ้านได้น้ำต้นผือลักษณะลำต้นสามเหลี่ยมขึ้นเองตามธรรมชาติ บริเวณหนองน้ำ นำมาฆ่าตากแดดให้แห้งแล้วสานทั้งลำต้น (ไม่ย้อมสี) ต่อมามีชาวบ้านในชุมชนเดินทางไปเยี่ยญาติทางฝั่งเมืองยศ (ยโสธร) เดินผ่านทุ่งนามองเห็นต้นกกเกิดตามธรรมชาติมีลักษณะคล้ายกับต้นผือ จึงเกิดความคิดว่าน่าจะนำมาทดลองทอเสื่อ จึงได้นำเหง้ากกหรือหัวกกที่มีหน่ออ่อนงอกออกมาไปปลูกเพื่อขยายพันธุ์และนำกกมาตากแห้งแล้วนำมาทอทั้งล้ำต้น
ต่อมาตัวแทนชาวบ้านได้ไปศึกษาดูงานเสื่อจันทบูรที่จังหวัดจันทบุรีเพื่อดูวิธีการย่อมสีของเส้นกก หลังจากไปเรียนรู้วิธีย้อมสีของเส้นกก จึงได้นำวิธีการย้อมกลับมายอมเองที่ชุมชนบ้านนาหมอม้า
ปัจจุบันชาวบ้านนาหมอม้าสามารถออกแบบลวดลายของเสื่อกกมากกว่า 200 ลาย เช่น ลวดลายสร้างสรรค์ ลายภาพสัตว์ต่างๆ อาทิ ผีเสื้อ นกยูง หงส์ หรือเป็นตัวอักษรชื่อบุคคล โลโก้บริษัท ห้างร้าน รวมไปถึงการมัดย้อม มัดหมี่ ลายขอ ลายไท ลายบัวหลวง เป็นต้น เกิดเป็นอาชีพเสริมคือการทอเสื่อกก และผลิตภัตภัณฑ์แปรรูปจากเสื่อกก
นอกเหนือจากการทำนา ทำให้ชาวบ้านมีงานทำและมีรายได้เสริมตลอดทั้งปี มีวิถีชีวิตและวัฒนธรรมที่งดงาม “เสื่อกกนาหมอม้า” จึงถือได้ว่าเป็นมรดกที่ล้ำค่าที่บรรพบุรุษได้ถ่ายทอดและมอบไว้ให้ลูกหลานและคนรุ่นหลัง สืบสานต่อจากรุ่นสู่รุ่นต่อไป
ขอบเขตพื้นที่การผลิตและแปรรูป “เสื่อกกนาหมอม้า” ครอบคลุมพื้นที่ทั้งหมดของจังหวัดอำนาจเจริญ