เกษตรกรและหลาย ๆ คนที่ปลูก “กุหลาบ” คงจะพบปัญหาหนักใจในช่วงฤดูฝน ที่ต้น “กุหลาบ”เจริญเติบโตไม่ดี และพบโรคและแมลงมารบกวนมาก ทำให้หมดกำลังใจในการดูแลกันไปเลยทีเดียว แต่ถ้าเรารู้สาเหตุของปัญหา ก็จะสามารถแก้ไขได้ทัน ลองมาดูกันว่าจะแก้ไขกันได้อย่างไร
.
Roses Planting ได้เขียนไว้ในเว็บไซด์ “rosesplanting.blogspot.com” เรื่อง “เข้าหน้าฝนกุหลาบอ่อนแอ ถ้าดูแลไม่ดี” โดยเน้นเรื่องรากเน่าเนื่องจากน้ำมากเกินไป ถ้าพบว่ามีปัญหานี้ก็ควรนำวัสดุคลุมดินผึ่งให้หมาด ๆ แล้วค่อยนำมาคลุมใหม่ก็จะช่วยได้ระดับหนึ่ง
งดการให้ปุ๋ยสักระยะเพราะรากไม่ดูดซึมปุ๋ยแล้ว ให้ปุ๋ยไปก็เปล่าประโยชน์ และอาจเป็นโทษอีกต่างหาก ต้องรอให้ต้นกุหลาบฟื้นตัวก่อนแล้วค่อยให้ปุ๋ยใหม่
อีกอย่างหนึ่งก็คือปัญหาของโรคกุหลาบ ต้องหมั่นทำความสะอาดแปลงปลูก พยายามเก็บใบกุหลาบที่เหลือง แห้ง หรือเน่าทิ้ง ทำให้แปลงปลูกกุหลาบหรือกระถางปลูกโปร่งให้มากที่สุด ให้แสงแดดส่องผ่านถึงผิวดินและโคนต้นกุหลาบได้ก็จะช่วยได้มาก
กรณีฝนตกต่อเนื่องไม่หยุด ควรย้ายกระถางกุหลาบหลบฝนบ้าง ในช่วงฤดูฝน เป็นช่วงที่กุหลาบเติบโตได้ดีพร้อมที่จะให้ดอกงามๆ ได้ในปลายฤดู จึงไม่ควรให้กุหลาบออกดอก เพราะดอกกุหลาบที่บานในหน้าฝนจะบานไม่ทน ให้รักษาต้นให้แข็งแรงไว้จะดีกว่า
โรคและแมลงที่สำคัญในช่วงฤดูฝน
1.โรคราแป้ง (Powdery Mildew) หรือโรคใบพอง อาการคือบริเวณใบเหมือนมีฝุ่นแป้งมาจับและพองงอ แล้วกระจายทั่วทั้งใบ ซึ่งบริเวณนี้จะกลายเป็นสีเหลืองและต่อมาเกิดใบไหม้ สามารถพบอาการได้ทั้งบนใบและดอก มักพบในช่วงเวลากลางวันที่มีอากาศร้อนจัดและกลางคืนอากาศเย็นชื้น ซึ่งพบมากในฤดูฝนและการแพร่ระบาดโดยลม
วิธีป้องกันและรักษาขั้นแรก คือ ตรวจดูว่าต้นกุหลาบได้รับแสงแดดเพียงพอหรือไม่ หากอยู่ในที่ร่มควรนำตากแดดในทันทีและฉีดน้ำให้ใบในเวลากลางวันเปียกเรื่อย ๆ ควบคู่กับใช้สารเคมีฉีดพ่น ได้แก่ ไตรโฟรีน (Triforine) , คาร์เบนดาซิม (Carbendazim) หรือ เฮกซาโคนาโซล (Hexaconazole)
.
2.โรคราน้ำค้าง (Downy Mildew) อาการคือ ส่วนใบอ่อนดูตก ใต้ใบแห้งเป็นสีม่วงแดงเป็นแห่ง ๆ ถ้าเป็นมากยอดจะเหี่ยวทั้ง ๆ ที่อากาศหนาว ส่วนใบแก่ ก้านดอกและกลีบเลี้ยงจะเป็นแผลรูปริ้วสีน้ำตาลคล้ายสนิมหรือรอยน้ำหมาก สังเกตได้ง่ายเพราะจะเป็นสาเหตุที่ทำให้ใบร่วงในเวลารวดเร็ว ซึ่งหากเชื้อแพร่ไปทั่วลำต้นก็จะโทรมและตายในที่สุด แพร่ระบาดโดยลมและน้ำ พบได้ทั้งในฤดูฝนและฤดูหนาว
การป้องกันคือ ช่วงอากาศเริ่มเย็นควรฉีดพ่นด้วยแมนโคเซป(Mancozep)และตรวจสอบอาการผิดปกติอยู่เสมอ หากพบว่าเริ่มมีอาการของโรคดังกล่าว ควรตัดกิ่งที่เกิดอาการไปทำลายทันทีและฉีดพ่นสารเมทาแลกซิล (Metalaxy) หรือไซมอกซานิล (Cymoxanil) เพื่อกำจัดโรคดังกล่าว
.
3.โรคราสีเทา (Gray Mold) อาการคือ ดอกกุหลาบตูมไม่ยอมบานออกจนกลีบนอกเริ่มเหี่ยวแห้งหรือทำให้ดอกกุหลาบเหี่ยวง่ายเร็วกว่าปกติ กลีบดอกมีสีน้ำตาล หากสภาพอากาศมีความชื้นสูงจะพบใยเชื้อราสีเทาบริเวณแผล พบในกุหลาบบางสายพันธุ์ที่อ่อนต่อโรค เช่น กุหลาบมอญ จุฬาลงกรณ์ จูว็องแซล และมาร์โกคอสเตอร์ นอกจากนั้นยังทำให้ทั่วทั้งกิ่งเหี่ยวแห้งตามไปจนถึงโคนต้นได้อีกด้วย
วิธีป้องกันคือ ตัดกิ่งดังกล่าวเพื่อกำจัดและฉีดสารไอโพรไดโอน (Iprodione) , เบนโนมิล (Benomyl) หรือ แคปแทนCaptan หรือถ้าไม่อยากใช้สารเคมี สามารถพ่นสปอร์แขวนลอยของเชื้อราไตรโคเดอร์มาอย่างสม่ำเสมอ ในสภาวะอากาศชื้น
4. โรคใบจุดสีดำ (Black spot) แพร่ระบาดเมื่อใบเปียกชื้นติดต่อกันเป็นเวลานาน อุณหภูมิที่เหมาะสมในการเกิดโรคคือ 18-24°C เกิดได้ตลอดปี แต่จะระบาดรุนแรงในฤดูฝน อาการคือพบรอยจุดสีดำหรือน้ำตาลที่ขอบ ขอบของจุดไม่ชัดเจนแต่พร่าเหมือนรอยน้ำหมึกหยดลงบนกระดาษและซึมที่ขอบ จากนั้นใบจะเริ่มเหลืองและร่วงหลุดไปเรื่อย ๆ
การป้องกัน คือการทำให้ใบไม่เปียก ควรดูแลรักษาความสะอาดแปลงสม่ำเสมอ ตัดแต่งกิ่งที่เป็นโรคเผาทำลาย ตัดแต่งให้ต้นกุหลาบโปร่ง พ่นสารเคมี เช่น ไตรโฟรีน (Triforine) เฮกซาโคนาโซล (Hexaconazole) คลอโรธาโลนิล (Chlorathalonil) แมนโคเซป (Mancozep) ป้องกันใบที่ยังไม่เป็นโรค โดยพ่นด้วยสารเคมีทุก 7 วันในช่วงฤดูฝน และทุก 15 วันในช่วงฤดูร้อน
สำหรับต้นที่เป็นโรคดังกล่าวแล้วควรตัดใบที่เป็นโรคออก รวมถึงใบเก่าและเศษใบที่ร่วงบริเวณโคนต้นให้หมด เพราะขณะที่ฝนตกหรือรดน้ำไปเชื้อราดังกล่าวก็ร่วงลงบริเวณโคนต้นด้วย เป็นสาเหตุของการระบาดต่อไป ดังนั้นผู้ปลูกกุหลาบจึงควรรดน้ำกุหลาบในแปลงตอนเย็นในช่วงบ่ายสามเพื่อให้มีเวลาที่น้ำตามใบแห้งสนิท
.
5.โรคแอนแทรคโนส (Anthracnose) หรือโรคตากบ อาการมีลักษณะคล้ายโรคใบจุดสีดำ แต่ขอบจุดชัดเจน ไม่เป็นรอยคล้ายหยดหมึก ตรงกลางมีลักษณะเป็นจุดแห้ง บางจุดคล้ายกับดวงตาของกบ ซึ่งลักษณะการป้องกันและกำจัดก็คล้ายกับโรคใบจุดที่เกิดจากการระบาดของเชื้อราอันเกิดจากความเปียกในเวลากลางคืน
.
6. ดายแบก (Dieback) ไม่ใช่โรค แต่เป็นอาการที่เกิดจากหลายโรค โดยกิ่งจะแห้งจากปลายกิ่งลงมาโคนต้น บางกิ่งจะเหลืองก่อนหรือเป็นสีดำลงมาเลย ถ้าลามลงมาถึงข้ออาจหยุดอยู่ตรงนั้น แต่ถ้ากิ่งยังเหลืองผ่านข้อลงมาแสดงว่าไม่หยุด
วิธีแก้ไขคือ ตัดดักโดยตัดให้ต่ำลงมาเพื่อดักเชื้อโรคที่กำลังลุกลามลงไปโคนต้น
ที่มา เว็บไซต์สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง