หากตอบแบบเข้าใจง่ายๆ ก็คือ “ฟัก” กับ “แฟง” ก็คือพืชผลตัวเดียวกันนั่นเอง เพียงแต่มีอายุต่างกัน ฟัก คือผลแก่ ซึ่งที่ผิวฟักจะมีนวลแป้งสีขาวเพิ่มมากขึ้นตามอายุ ยิ่งแก่เนื้อและผิวจะยิ่งแข็ง ทำให้มีบางถิ่นเรียกว่า “ฟักขาว” หรือ “ฟักจีน” ส่วนแฟงคือผลอ่อนของฟัก มีสีเขียวสด ทำให้บางถิ่นเรียกว่า ฟักเขียวหรือแฟง

สำหรับด้านการเกษตร แม้ว่า “ฟัก” จะไม่ได้เป็นพืชผักเศรษฐกิจที่เกษตรกรปลูกกันในปริมาณมากมาย แต่ “ฟัก”ก็เป็นผักที่ขาดไม่ได้จากแผงผักในตลาดทั่วไป เพราะนอกจากจะทำอาหารได้หลายชนิดแล้ว ฟักยังมีสรรพคุณสมุนไพรที่เป็นประโยชน์ ถือเป็นตัวเลือกที่ดีอย่างหนึ่ง ในเมนูอาหารสุขภาพเลยทีเดียว และยังใช้เป็นเมนูอาหารผู้ป่วยที่พักฟื้นในโรงพยาบาลอีกด้วย
ผลฟัก เมื่อกินเป็นอาหารมีสรรพคุณ ช่วยขับความร้อนภายในร่างกายและถอนพิษไข้ต่างๆ ช่วยรักษาโรคหวัด แก้อาการไอ และขับเสมหะ แก้อาการบวมน้ำในร่างกาย ช่วยขับปัสสาวะ ช่วยแก้ท้องอืดท้องเฟ้อดีต่อระบบย่อยอาหารของลำไส้ ช่วยให้ขับถ่ายได้เป็นปกติ ช่วยขับพยาธิ ป้องกันโรคริดสีดวงทวาร ช่วยป้องกันโรคบิดได้ ผลฟัก นิยมนำมาทำอาหารทั้งคาวและหวาน เช่น ฟักแก่ที่มีเนื้อแข็ง มักนำมาทำอาหารประเภท ต้ม ตุ๋น ที่ใช้เวลาปรุงนาน เช่น ต้มแกงจืด แกงเลียง หรือ ตุ๋นน้ำซุป เป็นต้น แต่สำหรับ แฟง ซึ่งเป็นผลอ่อน มีเนื้อนิ่ม ก็ใช้ทำอาหารที่ไม่ต้องปรุงนาน เช่น ใส่แกงเผ็ด แกงเขียวหวาน ผัดกับหมู นอกจากนี้ ยังใช้เนื้อฟักนำไปเชื่อม แช่อิ่ม หรือ ทำเป็นไส้ขนมเปี๊ยะ เป็นต้น

สำหรับเกษตรกร ถ้าลองสำรวจในพื้นที่ของตัวเองดูแล้วพบว่ายังไม่ได้ปลูกฟักเอาไว้ การหาเมล็ดฟักมาปลูกทิ้งไว้ก็เป็นตัวเลือกหนึ่งที่น่าสนใจ เพราะนอกจากจะกินเองในครอบครัวแล้ว หากมีเหลือก็นำไปขายหรือแจกเพื่อนบ้านได้ เพราะฟักที่ปล่อยให้เป็นผลแก่ ก็ยังเก็บไว้ได้อีก 8-10 เดือน โดยไม่เน่าเสีย ส่วนการปลูกก็ไม่ยาก เพราะต้นฟักเป็นพืชล้มลุกจำพวกเถาเลื้อยเหมือนบวบ มะระ หรือ แตง ชนิดอื่น มีอายุสั้น ปลูกเพียง 3-4 เดือนก็เก็บผลผลิตได้ ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด สามารถปลูกได้ดีในดินร่วนปนทราย ผลฟัก เป็นรูปกลมยาวรี เส้นผ่าศูนย์กลาง 10-20 เซนติเมตร ยาวประมาณ 20-40 เซนติเมตร แฟงหรือผลอ่อนมีขน ส่วนฟักผลแก่ ผิวนอกมีนวลแป้งสีขาวเคลือบอยู่ เปลือกและเนื้อ ยิ่งแก่ยิ่งแข็ง เนื้อด้านในมีสีขาวปนเขียวอ่อน ฉ่ำน้ำ เนื้อแน่นหนา เนื้อตรงกลางฟูหรือพรุน และมีเมล็ดสีขาวอยู่ภายในจำนวนมาก ปลูกง่าย ประโยชน์เยอะ