“ขี้เหล็ก” ผักสมุนไพรปลายนา คุณค่าสูง

ขี้เหล็ก เป็นพืชสมุนไพรพื้นบ้านยืนต้น จัดเป็นต้นไม้ขนาดพอเหมาะ ลำต้นเอนงอ มีผิวนูนกระจายตามลำต้น เปลือกไม้ของลำต้นมีสีน้ำตาลเทาเข้มเกือบดำ กิ่งก้านแตกแขนงออกเป็นพุ่มเล็กๆ ใบเรียงตัวกันคล้ายขนนก ทรงรี เรียงสลับซ้ายขวา มีสีใบเป็นสีเขียว ผิวใบและขอบใบเรียบ ผลขี้เหล็กจะออกผลเป็นฝักแบน แต่มีความหนา เพราะมีเมล็ดอยู่ด้านในฝักจำนวนมาก และผลิดอกช่อสีเหลืองบริเวณปลายกิ่ง

1784997992

ขี้เหล็ก พบได้ทั่วไปในทุกภูมิภาคของประเทศไทย เรานิยมนำมาประกอบอาหาร โดยเฉพาะยอดใบอ่อนและดอกขี้เหล็ก ที่ถูกนำมาเป็นเมนูพื้นบ้าน ทั้งนำไปลวกจิ้มน้ำพริก แกงคั่ว แกงป่า และยำ ว่ากันว่าช่วยให้เจริญอาหารเป็นอย่างดี นอกจากนี้ขี้เหล็กยังมีสรรพคุณในเรื่องของการบำรุงและรักษาสุขภาพ ในส่วนของใบ ในตำราแพทย์พื้นบ้าน นำมาใช้ในการลดน้ำตาลในเส้นเลือด แก้อาการปวดบิด ลดความดัน แก้เหน็บชา และเป็นยาระบาย ส่วนของรากช่วยขับพิษไข้ ดอกขี้เหล็ก ช่วยรักษาอาการทางระบบทางเดินหายใจ กระตุ้นให้เกิดการนอนหลับ ขจัดรังแค ส่วนของฝักถูกนำมาใช้บรรเทาริดสีดวง หิด ร้อนใน และขับพิษของเสียในเลือด ส่วนลำต้นและกิ่งใช้ขับปัสสาวะและระดูขาว

Senna simea2 600x401 1

ในด้านเภสัชวิทยา พิสูจน์มาแล้วว่าสมุนไพรขี้เหล็ก มีสาระสำคัญชื่อ บาราคอล ที่ช่วยคลายกังวลและความเครียด มีฤทธิ์ทำให้ผ่อนคลายและหลับดี และยังมีสารต้านอนุมูลอิสระ ช่วยในการชะลอวัย อุดมไปด้วยวิตามินเอ วิตามินบี1 วิตามินบี2 วิตามินบี3 วิตามินซี เบต้าแคโรทีน ครบถ้วน

การปลูกและขยายพันธุ์ต้นขี้เหล็กนั้นไม่ยุ่งยาก เพราะเป็นพืชที่เข้าได้ในทุกสภาพอากาศ ปลูกได้ทุกช่วง แต่แนะนำว่าปลูกหน้าฝนจะโตไวกว่า เราสามารถเลือกได้ว่าจะตอนกิ่งหรือเพาะเมล็ดแล้วแต่แนวทางที่สะดวก เมื่อเพาะกล้าได้ราว 3 เดือนต้นกล้าเริ่มตั้งตรง ให้ย้ายต้นกล้าลงแปลงที่เตรียมพรวนและปรับสภาพไว้แล้ว โดยให้แต่ละหลุมห่างกัน 6 เมตร เพื่อเว้นระยะให้ง่ายต่อการดูแลและเผื่อระยะให้ต้นขี้เหล็กแผ่กิ่ง ให้น้ำเช้าเย็นต่อเนื่อง 2 เดือน แล้วเว้นระยะการรดน้ำได้เลย เพราะขี้เหล็กจะเติบโดได้เอง ดูแลวัชพืชและให้ปุ๋ยบ้างปีละ 2 -3 ครั้ง ใช้เวลาไม่เกิน 3 ปีก็สามารถเก็บเกี่ยวดอกขี้เหล็กออกสู่ตลาดได้เลย ที่สำคัญคือควรต้องเร่งเก็บเกี่ยว เพราะดอกขี้เหล็กบอบบางและสลัดดอกเร็ว เมื่อเก็บเกี่ยวแล้วก็อย่าลืมปลิดยอดขี้เหล็กออกอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้ขี้เหล็กออกดอกมากขึ้น ส่วน เกษตรกรที่ไม่สนใจปลูกในเชิงการค้า อาจจะปลูกไว้ในสวนเพื่อปรับปรุงดิน เพราะขี้เหล็กเป็นต้นไม้ที่มีไนโตรเจนมาก จึงทำให้ดินชุ่มชื้นขึ้น เมื่อนำพืชผลปลูกก็ให้ผลผลิต และยอดอ่อน กับดอกขี้เหล็ก ก็ถือเป็นอาหารชั้นเลิศ