“ผ้าตีนจกแม่แจ่ม ” 16 ลายโบราณ หนึ่งในสินค้าหัตถกรรมของ GI ไทย

“ผ้าตีนจกแม่แจ่ม” หมายถึง ผ้าฝ้ายหรือผ้าไหมที่ทอและจกด้วยมืออย่างปราณีตตามกรรมวิธีการทอและการจกแบบดั้งเดิมที่เป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นซึ่งเป็นมรดกทางหัตถกรรมที่ถ่ายทอดสืบกันมาและผลิตในแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ ทำให้เกิดเป็นผ้าที่มีลวดลายเป็นเอกลักษณ์เฉพาะถิ่น

capture 20241207 195507แก้

ลวดลายหลักมี 16 ลาย คือ หละกอนหลวง หละกอนกลาง (หละกอนก๋ง) เจียงแสนหลวง ขันเสี้ยนสำ หงส์บี้ หงส์ปล่อย หละกอนหน้อย โกมหัวหมอน โกมรูปนก (โกมฮูปนก) นกนอนกุม (นกนอนกุม) นาคกุม (นาคกุม) นกกุม (นกกุม) ขันแอวอู ขันสามแอว เจียงแสนหน้อย และกุดขอเบ็ด โดยมีโครงสร้างประกอบด้วย ขอไล่ ห้องนกหรือห้องกุด ขัน โกม หางสะเปา

41748730 2102064783443117 464517691068121088 n

ทั้งนี้กรมทรัพย์สินทางปัญญาประกาศให้ขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ ( GI) “ผ้าตีนจกแม่แจ่ม ” เมื่อ 20 มีนาคม พ.ศ.2566

กระบวนการผลิต

เส้นด้าย

(1) กรณีผลิตเส้นฝ้ายเองในพื้นที่

(1.1) การปลูกฝ้าย การดูแลรักษาให้ปฏิบัติตามหลักวิชาการ

(1.2) กระบวนการทำฝ้ายให้เป็นเส้นใยที่พร้อมสำหรับการทอ ให้ปฏิบัติตามหลักวิชาการ เพื่อให้ได้เส้นฝ้ายคุณภาพดี

(1.3) การย้อมสี ใช้สีธรรมชาติ หรือสีสังเคราะห์ที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม

2) กรณีซื้อเส้นฝ้ายหรือเส้นไหมนอกพื้นที่

(2.1) คัดเลือกเส้นฝ้ายหรือเส้นไหมให้ได้มาตรฐานตามลักษณะของเส้นยืน และเส้นพุ่ง

(2.2) คัดเลือกเส้นฝ้ายหรือเส้นไหมหรือดิ้นเงินดิ้นทองที่ใช้เป็นเส้นพุ่งพิเศษให้เหมาะสมกับการจก

การทอและการจก

(1) การเตรียมอุปกรณ์การทอและจก

(1.1) กี่

เป็นกี่พื้นเมืองโครงสร้างไม้เนื้อแข็ง ติดตั้งอุปกรณ์ที่ใช้ในการทอให้ครบถ้วน เช่น ไม้ม้วนผ้า เป็นต้น

(1.2) ฟืม

เป็นอุปกรณ์หลักที่จัดเรียงเส้นด้ายในแนวยืนและใช้เป็นเครื่องมือในการกระแทกให้เส้นด้ายยึดติดแน่นเป็นเนื้อเดียวกัน จะติดอยู่กับส่วนที่เรียกว่าขอบฟืม ซึ่งติดอยู่กับกี่ทอผ้า

(1.3) กระสวย ใช้สำหรับใส่หลอดด้ายซึ่งนำไปเป็นพุ่งขวางกับเส้นยืน

(1.4) พะขอ ใช้สำหรับจัดเรียงเส้นด้าย (ห้วน) ให้ได้ความกว้างยาวตามต้องการ

(1.5) บะกวัก เป็นอุปกรณ์ที่ใช้กรอเส้นด้ายก่อนนำไปห้วนหรือพันใส่หลอดหรือพะขอ

(1.6) ขนหมู ใช้ในการหวีเส้นด้ายที่ขึงในกี่ (หูก) ให้เรียงอย่างเป็นระเบียบง่ายต่อการทอและทำให้ผืนผ้าเรียบสวยงาม

(1.7) ขนเม่นหรือเหล็กแหลม เป็นอุปกรณ์ที่ใช้ในการจกลวดลาย

(2) วิธีการทอและจก

(2.1) เป็นกรรมวิธี 2 อย่างพร้อมกัน คือ ทอ และจกลวดลายที่มีลักษณะพิเศษ

(2.2) ติดตั้งอุปกรณ์ให้พร้อมสำหรับการทอและจก พร้อมเตรียมเส้นยืน เส้นพุ่ง และเส้นพุ่งพิเศษ

(2.3) การทอธรรมดาโดยการเหยียบไม้ที่ผูกติดตะกอ เส้นยืนจะถูกแยกออก และเกิดช่องว่างให้สอดกระสวยด้ายพุ่งผ่านได้ เมื่อพุ่งกระสวยแล้วต้องกระทบฟืมเสมอเพื่อให้ด้ายพุ่งแนบติดกัน หรือทอพิเศษด้วยกระสวย 2 ตัว บรรจุด้ายตัวละสี พุ่งเข้าหากันตรงกลาง แล้วไขว้เส้นด้ายกันก่อนพุ่งกลับ เมื่อพุ่งกระสวยแล้วให้กระทบฟืมเสมอ เมื่อทอได้ผ้าความยาวช่วงหนึ่งจะเริ่มทำการจก

(2.4) การจก ใช้ขนเม่นหรือเหล็กแหลมควักเส้นด้ายเส้นยืนตามแต่ลวดลายในแต่ละแถวและสอดด้วยเส้นพุ่งพิเศษที่เตรียมไว้ ซึ่งผู้ทอใช้สอดสลับสีได้หลากสีตามภูมิปัญญา ความชำนาญและจินตนาการที่เกิดจากธรรมชาติโดยรอบ เป็นการจกลวดลายที่ค่อนข้างถี่แน่น

(2.5) เมื่อจกครบแถว ให้พุ่งกระสวย 1 ครั้ง แล้วกระทบฟืม

(2.6) เป็นการจกแบบ ” คว่ำลายลง ” คือ จกจากด้านหลังของผ้า และใช้วิธีการผูกเก็บปมเส้นพุ่งพิเศษด้านบน โดยต้องผูกเก็บเส้นด้ายเรียบร้อยเป็นระเบียบสวยงาม ไม่มีเส้นด้ายไขว้ไปมา

(2.7) เมื่อทอและจกเสร็จและนำออกจากอุปกรณ์ ผ้าที่ได้ต้องมีลวดลายแน่นเรียบ คล้ายกันทั้งด้านหน้าและด้านหลัง ใช้ได้ทั้งสองด้าน และเมื่อขยี้ด้วยมือตรงลวดลายก็ไม่ขาดหรือหลุดลุ่ย

ลักษณะภูมิประเทศ

แม่แจ่ม เป็นอำเภอเล็ก ๆ เงียบสงบอยู่กลางหุบเขาใกล้ดอยอินทนนท์ ซึ่งเป็นภูเขาที่สูงที่สุดในประเทศไทยมีแม่น้ำไหลผ่านหลายสาย เช่น แม่แจ่ม แม่แรก แม่ปาน แม่หลุ แม่เม็ง แม่ศึก แม่อวม ฯลฯ สมัยก่อนน้ำแม่แจ่มไหลผ่านบ้านอาฮาม เมื่อหน้าน้ำหลากตลิ่งพัง ชาวบ้านบางส่วนจึงอพยพไปอยู่บ้านทัพ ต่อมาน้ำแม่แจ่มเปลี่ยนสายทำให้น้ำท่วมบ้านทัพ ชาวบ้านส่วนหนึ่งจึงย้ายไปอยู่บ้านไร่ บ้านท้องฝาย บ้านห้วยริน บ้านแม่ปาน บ้านห้วยไห บ้านนาเรือน บ้านป่าแง และบ้านสองธาร ชุมชนในหมู่บ้านเหล่านี้มีการถ่ายทอดภูมิปัญญาให้คนรุ่นหลังได้ตระหนักถึงความวิริยะและอุตสาหะ ในการสร้างสรรค์ผ้าตีนจกแม่แจ่มซึ่งเป็นงานหัตถกรรมที่ปราณีต สวยงาม
และมีเอกลักษณ์

ประวัติความเป็นมา

จุดกำเนิดผ้าตีนจกแม่แจ่มที่สืบค้นได้อยู่ที่ บ้านอาฮาม หมู่ที่ 4 ตำบลท่าผา อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นหมู่บ้านเจ้าพญาผู้ปกครองเมืองแจ๋ม คือ พญาเขื่อนแก้ว และพญาไจย ตระกูลช่างทอตีนจกสืบเชื้อสายมาจากพญาเขื่อนแก้ว พญาไจย และวงศ์วานที่ได้อพยพเข้ามาอยู่แม่แจ่ม เชื้อสายช่างทอตีนจกไม่ว่าจะสืบทอดทางพ่อหรือทางแม่ จะทอผ้าตีนจกลายโบราณได้สวยงามรวมทั้งการให้สีสันตามความพอใจของตน นอกจากนี้ผ้าตีนจกมีปรากฏลวดลายในภาพจิตรกรรมฝาผนังวัดป่าแดด อำเภอแม่แจ่ม ด้วย

ในอดีต ผ้าตีนจกแม่แจ่มที่ทอด้วยดิ้นเงินดิ้นทองจะผลิตขึ้นเพื่อส่งส่วยเจ้าเชียงใหม่ โดยทางคุ้มเจ้าเชียงใหม่ส่งดิ้นเงินดิ้นทองมาให้ การส่งส่วยใช้ช้างบรรทุกไปปีละครั้งพร้อมของส่งส่วยอื่น เช่น ไม้ สมุนไพร หวาย หนังสัตว์ เขาสัตว์ ถั่ว งา เป็นต้น และห้ามชาวบ้าน ” ไพร่ ” นุ่งตีนจกที่ทอด้วยดิ้นเงินดิ้นทอง ให้ใช้ฝ้ายอย่างเดียว ฝ้ายที่นำมาทอมีทั้งที่ผลิตได้เองในแม่แจ่มและซื้อจากภายนอก ผ้าตีนจกถือเป็นสมบัติล้ำค่า และเป็นสิ่งบ่งชี้ฐานะทางสังคม เพราะมีไม่กี่คนเท่านั้นที่สามารถเข้าถึงฝ้ายคุณภาพดีได้เพราะฝ้ายราคาแพง ตามประเพณีนิยมผู้หญิงจะใช้นุ่งไปวัดตอนบุญใหญ่ เช่น ปอยหลวง งานเป็งต่างๆ วันศีลหลวง หญิงผู้น้อยใช้ไหว้แม่สามีเมื่อแต่งงานใหม่ ผู้หญิงคนแก่เก็บไว้นุ่งให้ตัวเองตอนตาย 1 ผืน ให้ลูกหลานทำบุญอุทิศให้ตัวเองอีก 1 ผืน เอาตีนจกใส่สังฆทานให้พ่ออาจารย์(มัคคทายก) 1 ผืน เพราะเชื่อว่าอาจารย์เวณตานบอกทางไปให้ ปัจจุบันได้ประยุกต์ใช้ผ้าตีนจกเป็นลวดลายประดับเครื่องแต่งกายและผ้าใช้สอยอย่างอื่นด้วย

เมื่อรถยนต์เข้าถึงแม่แจ่มตั้งแต่ปี พ.ศ.2506 วิถีชีวิตของผู้คนเริ่มเปลี่ยนไป ไม่นิยมนุ่งซิ้นตีนจกและหันไปทำงานอย่างอื่น เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถได้เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎรชาวแม่แจ่มเป็นครั้งแรกในปี พ.ศ.2517 โปรดเกล้าให้คนแม่แจ่มฝึกทอตีนจกแบบประยุกต์ใช้ฝ้ายที่ชาวบ้านเรียกว่า ” ไหมประดิษฐ์ ” ทำให้ทอได้เร็วขึ้น

ต่อมาในช่วงปี2529-2530 ล้านนาเกิดการตื่นตัวแต่งกายย้อนยุค ผู้หญิงนุ่งซิ่นโดยเฉพาะซิ่นตีนจกแบบโบราณ ตีนจกแม่แจ่มจึงถูกกล่าวขวัญขึ้นอีก ในด้านความโดดเด่น สวยงาม มีเอกลักษณ์ของตนเอง และตั้งแต่ปี พ.ศ. 2537 เป็นต้นมา มีการจัด ” งานเทศกาลผ้าตีนจกแม่แจ่ม” ขึ้นในอำเภอแม่แจ่ม ซึ่งกิจกรรมหลัก คือการประกวดทอผ้าตีนจกลายโบราณ และขบวนแห่ผ้าตีนจก


ทั้งนี้การผลิตผ้าตีนจกแม่แจ่ม ตั้งอยู่ที่อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ ทางภาคเหนือของประเทศไทย

GIRegisteration50100015 2แก้ page 0006