“ส้มควายภูเก็ต” GI พืชเศรษฐกิจ สร้างรายได้ให้กับเกษตรกรในพื้นที่

“ส้มควายภูเก็ต” เป็นพันธุ์ส้มที่มีทรงผลกลม ร่องผิวเปลือกตื้น เนื้อละเอียด หนา แน่น รสชาติเปรี้ยวจัด มีขอบเขตการปลูกครอบคลุมพื้นที่ทั้งหมดของจังหวัดภูเก็ต ลักษณะดินเป็นดินร่วนปนเหนียว อุดมไปด้วยธาตุอาหารหลักที่จำเป็น อีกทั้งสภาพภูมิอากาศที่มีฝนตกชุกตลอดปี ถือเป็นพื้นที่ที่เหมาะสมต่อการปลูกต้นส้มควาย ทำให้ต้นส้มเจริญเติบโตได้ดี ทั้งในมิติของการจัดการใบ ดอก และติดผล สามารถเก็บเกี่ยวได้ตลอดทั้งปี จำหน่ายในรูปแบบผลสด แบบแห้งและแบบผง โดยผ่านกระบวนการแปรรูปตามวิธีการที่กำหนด ปลูกและแปรรูปในเขตพื้นที่จังหวัดภูเก็ต ทั้งนี้กรมทรัพย์สินทางปัญญาประกาศให้ขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ ( GI ) “ส้มควายภูเก็ต”เมื่อวันที่ 10 เมษายน พ.ศ.2567

ส้มใหม่

นอกจากนี้ “ส้มควายภูเก็ต “ยังเป็นพืชที่มีคุณค่าทางโภชนาการและสารสำคัญต่าง ๆ ผสมผสานกับกระบวนการผลิตที่พิถีพิถัน มีการควบคุมคุณภาพทุกขั้นตอน ตั้งแต่กระบวนการผลิต การเก็บเกี่ยว จนถึงการแปรรูป โดยอาศัยทั้งภูมิปัญญาที่สืบทอดต่อกันมา ร่วมกับการส่งเสริมจากหลายภาคส่วนในจังหวัด ส่งผลให้ส้มควายภูเก็ตเป็นสินค้า ที่มีคุณภาพดี สามารถนำมาจำหน่ายได้ทั้งแบบผลสด แบบแห้ง และแบบผง อีกทั้งยังสามารถนำมาแปรรูปเป็นอาหารพื้นเมือง และเป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมเวชสำอางค์ได้อีกด้วย

ส้มภู

จากคุณลักษณะพิเศษดังกล่าว ส้มควายภูเก็ตจึงเป็นอีกหนึ่งสินค้าที่เป็นที่ยอมรับและเป็นที่ต้องการของตลาด มีการสั่งซื้อส้มควายทั้งแบบขายปลีก ขายผ่านช่องทางออนไลน์ และด้วยการสนับสนุนจากหน่วยงานต่าง ๆ ให้มีการส่งสินค้าไปจำหน่ายนอกพื้นที่จังหวัดภูเก็ต รวมถึงการร่วมงานแสดงสินค้าต่าง ๆ ทั่วประเทศ ทำให้ส้มควายภูเก็ตได้กลายเป็นพืชเศรษฐกิจที่สร้างอาชีพและสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรในพื้นที่กว่า 3.6 ล้านบาทต่อปี”

การปลูก

(1) การเตรียมต้นพันธุ์ส้มควาย สามารถขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด หรือเสียบยอด หรือตอนกิ่งหรือติดตา

(2) สามารถปลูกได้ทั้งปี โดยพื้นที่ที่เหมาะสมควรมีฝนตกชุก สภาพดินควรเป็นดินร่วนปนเหนียว ระดับความสูงไม่เกิน 600 เมตรจากระดับน้ำทะเล


(3) ระยะปลูกที่เหมาะสม ควรอยู่ในช่วง 5 x 5 เมตร ถึง 8 x 8 เมตร หรือตามความเหมาะสมของแต่ละพื้นที่

(4) ขุดหลุมปลูกขนาดไม่น้อยกว่า 50 x 50 x 50 เซนติเมตร ควรรองก้นหลุมด้วยปุ๋ยหรืออินทรียวัตถุ หรือ สิ่งอื่นตามความเหมาะสมของแต่ละพื้นที่ นําต้นพันธุ์ลงปลูกในหลุม กลบดิน รดน้ำให้ชุ่ม ใช้ไม้ยึดลําต้นกันโยก และควรมีตาข่ายพรางแสง

การดูแลรักษา

(1) ควรให้น้ำตามความเหมาะสม เพื่อให้ได้รับน้ำอย่างเพียงพอ โดยปรับปริมาณการให้น้ำตามช่วง ระยะการพัฒนาของดอกและผล หรือตามสภาพแวดล้อมในแปลง

(2) การใส่ปุ๋ย ควรใส่ปุ๋ยอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง หรือตามระยะพัฒนาการของต้น ได้แก่ หลังเก็บเกี่ยว ผลผลิต ระยะเร่งสร้างดอก ระยะบํารุงผล และระยะปรับปรุงคุณภาพผลผลิต สําหรับประเภทและอัตราการใส่ปุ๋ย พิจารณาให้เหมาะสมกับอายุ ขนาดต้น และความอุดมสมบูรณ์ของดิน หรือตามความเหมาะสมของแต่ละพื้นที่

(3) การตัดแต่งกิ่ง ทําการตัดแต่งกิ่งที่ไม่ต้องการออก เช่น กิ่งที่มีโรคและแมลงทําลาย กิ่งกระโดง กิ่งไขว้ กิ่งไม่สมบูรณ์ เป็นต้น และควรทาแผลด้วยยาป้องกันกําจัดเชื้อรา

(4) การกําจัดวัชพืช ควรทําการกําจัดวัชพืชอย่างสม่ำเสมอ

(5) การกําจัดศัตรูพืชและโรคพืช ควรสํารวจแปลงปลูกอย่างสม่ำเสมอ เพื่อป้องกันและวางแผนในการกําจัดโรคและศัตรูพืช

การเก็บเกี่ยว

(1) สามารถเก็บเกี่ยวได้ตลอดทั้งปี และต้องเก็บเมื่อผลแก่จัดแต่ยังไม่สุกงอม โดยสังเกตจากสีของผลจาก สีเขียวนวลเป็นสีเหลืองอ่อน ร่องผลตื้นจนเกือบเรียบทั้งผล หรือระยะที่เหมาะสม คือ 70 – 90 วัน นับจากระยะหลังดอกบาน

(2) กรณีต้นสูงควรใช้ตะกร้อหรืออุปกรณ์สําหรับสอย กรณีต้นไม่สูงควรใช้กรรไกรตัดขั้วผล ไม่ควรบิดหรือดึงผลส้มควาย โดยเก็บเกี่ยวอย่างระมัดระวังไม่ทําให้เกิดรอยแผลหรือผลบอบช้ำและให้มีภาชนะบรรจุหรือใช้วัสดุปูรองผลผลิตระหว่างเก็บเกี่ยว ทั้งนี้ ไม่ควรวางบนพื้นดินโดยตรง

(3) ผลส้มควายสุดต้องเก็บไว้ในสถานที่ที่สะอาด โปร่ง และอากาศถ่ายเทได้ดี มีวัสดุสําหรับรองรับและไม่วางบนพื้นโดยตรง เพื่อรอการจําหน่ายหรือนําไปแปรรูปต่อไป ทั้งนี้ หากจะนําไปแปรรูปควรใช้ผลส้มควายสด ที่เก็บเกี่ยวภายในระยะเวลาไม่เกิน 3 วัน

การแปรรูป

(1) ส้มควายแห้ง

(1.1) นําผลส้มควายสดที่เก็บเกี่ยวภายในระยะเวลาไม่เกิน 3 วัน คัดเลือกผลที่แก่จัด เนื้อแน่น ไม่ช้ำ ไม่มีรอยเจาะแทะจากแมลง นํามาผ่าครึ่งเอาเมล็ดออกแล้วฝานเป็นแผ่นบางๆ หรือตามรูปทรงที่ต้องการ เพื่อให้สามารถทําให้แห้งสนิทได้

(1.2) นําส้มควายที่ผ่านแล้ววางเรียงในภาชนะที่เหมาะสม แต่ไม่ให้ซ้อนกัน นําไปตากแดด 3 – 4 วัน ให้แห้งสนิท หรือนําไปผ่านกรรมวิธีอื่น ๆ ที่ทําให้แห้งสนิท เช่น ตู้พลังงานแสงอาทิตย์ ตู้อบดูดความชื้น เป็นต้น ให้มีความชื้นไม่เกินร้อยละ 12 โดยมีการจัดการและควบคุมให้ถูกต้องตามหลักสุขาภิบาล

(1.3) ส้มควายเมื่อแห้งสนิทแล้ว ให้นำไปบรรจุในภาชนะหรือบรรจุภัณฑ์ที่มีความแห้ง สะอาดสามารถป้องกันการเปียกชื้นและไม่ก่อให้เกิดการปนเปื้อนจากสิ่งไม่พึงประสงค์ ปิดให้มิดชิด เก็บไว้ในสถานที่ที่สะอาด โปร่ง และอากาศถ่ายเทได้ดี มีวัสดุสำหรับรองรับและไม่วางบนพื้นโดยตรง เพื่อรอการจำหน่าย
หรือนำไปแปรรูปเป็นส้มควายผงต่อไป

(2) ส้มควายผง

(2.1) นำส้มควายแห้งมาลดความชื้นให้เหลือไม่เกินร้อยละ 6 ก่อนทำเป็นส้มควายผง

(2.2) ส้มควายที่ผ่านกระบวนการตามข้อ (2.1) แล้ว นำมาบดให้มีลักษณะเป็นผง ซึ่งผลิตได้ทั้งแบบหยาบ หรือแบบละเอียด หรือลักษณะอื่นๆ ตามวัตถุประสงค์การใช้งาน ซึ่งกรรมวิธีการผลิตและการบรรจุต้องเป็นไปตามมาตรฐานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงสถานที่ผลิตต้องได้รับอนุญาตจากกระทรวงสาธารณสุข


GIregistration226 page 0007อ