“ส้มโอปูโกยะรัง” (YARANG PUKO POMELO) หมายถึง ส้มโอพันธุ์ปูโก ผลมีลักษณะทรงกลมมีจุก ที่มีรสชาติหวาน หอม อร่อย เปลือกบาง เนื้อนิ่ม สีแดงทับทิม มีขนคล้ายกำมะหยี่ปกคลุมทั่วทั้งผล ซึ่งปลูกในพื้นที่อำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี
การปลูก
(1) ปลูกได้ทั้งที่ลุ่มและที่ดอน ระยะปลูกพื้นที่ดอนให้มีระยะห่างระหว่างต้น 6 x 6 เมตร พื้นที่ล่มให้มีระยะห่างระหว่างต้น 8 x 6 เมตร หรือตามความเหมาะสมของแต่ละพื้นที่
(2) ขุดหลุมขนาด 50 x 50 x 50 เซนติเมตร ตากดินไว้ 20 ถึง 25 วัน หรือตามความเหมาะสมของแต่ละพื้นที่
(3) การตัดแต่งทรงพุ่มหลังเก็บเกี่ยว ควรตัดแห่งกิ่งกระโดง กิ่งแห้ง กิ่งคดงอ และกิ่งเบียดเสียดออกเพื่อให้ทรงพุ่มโปร่งแสง แดดส่องถึงภายในทรงพุ่ม และควรทารอยแผลด้วยสารป้องกันเชื้อรา ปูนขาวหรือปูนแดง
(4) การใส่ปุ๋ย ควรใส่ปุ๋ยคอกและปุ๋ยเคมีควบคู่กันไป แตกต่างกันไปตามช่วงของการผลิตเพื่อบำรุงต้น
การเก็บเกี่ยว
(1) ระยะเก็บผลผลิตที่เหมาะสม คือ ช่วงเดือนสิงหาคม – กันยายน หรือเมื่อผลส้มโอมีอายุ 6 – 7เดือน หลังจากการออกดอก โดยสังเกตต่อมน้ำมันบนผิวส้มโอจะขยายเป็นเม็ดสีเขียว และเปลี่ยนเป็นสีเขียวอมเหลือง
(2) วิธีการเก็บ ใช้กรรไกรตัดให้ชิดกับไหล่ผล
ลักษณะภูมิประเทศ
อำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี สภาพพื้นที่โดยทั่วไปเป็นที่ราบลุ่ม สภาพดินเป็นดินเหนียวปนทราย มีแม่น้ำสำคัญไหลผ่านคือ แม่น้ำปัตตานีไหลผ่านตลอดพื้นที่อำเภอยะรังและไหลลงสู่ทะเลอ่าวไทยที่บริเวณปากแม่น้ำปัตตานี และบางส่วนไหลมาจากเทือกเขาสันการาคีรี จังหวัดยะลา และแม่น้ำจากประเทศมาเลเซีย ทำให้ดินบริเวณนี้มีความอุดมสมบูรณ์ เนื่องจากเป็นดินตะกอนที่แม่น้ำปัตตานีพัดพามามาทับถมกัน ชั้นดินบางแห่งพบศิลาแลงอ่อน เหล็กหรือแมงกานีสปะปนอยู่ด้วย ปฏิกิริยาของดินเป็นกรดจัดถึงเป็นกรดเล็กน้อย ค่าความเป็นกรดเป็นด่าง 5.5 – 6.5
ลักษณะภูมิอากาศ
เป็นแบบโซนร้อน แต่เนื่องจากอยู่ใกล้ทะเลจึงมีลมทะเลพัดผ่านตลอดเวลาทำให้ไม่ร้อนและไม่หนาวจัด อุณหภูมิเฉลี่ยตลอดทั้งปีประมาณ 27 องศา มีฝนตกมากและเนื่องจากเป็นจังหวัดที่อยู่ทางด้านตะวันออกของภาคใต้ จึงได้รับอิทธิพลจากมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดผ่านอ่าวไทย ทำให้จังหวัดนี้มีฝนตกมากในช่วงฤดูหนาว คือระหว่างเดือนพฤศจิกายนและธันวาคมอีกช่วงหนึ่งด้วย จึงนับว่าจังหวัดนี้มีฤดูฝนที่ยาวนาน
ประวัติความเป็นมา
ส้มโอปูโกยะรัง เป็นส้มโอที่มีกำเนิดมาจากส้มโอพันธุ์ทองดีนครชัยศรี เกษตรกรบ้านต้นมะขาม ต.เมาะมาวี อ.ยะรัง ซื้อมารับประทาน โดยผลที่ซื้อมามีการประทับตราด้วยตัวอักษรจีน และเห็นว่ามีรสชาติดีจึงได้นำเมล็ดไปปลูก และขยายพันธุ์ ต่อมาเกิดการกลายพันธุ์ทำให้เกิดสัมโอพันธุ์ใหม่ที่มีรสชาติหวานหอม อร่อย เปลือกบาง เนื้อนิ่ม มีขนคล้ายกำมะหยี่ปกคลุมทั่วทั้งผล เนื้อสีแดงทับทิม และได้เรียกพันธุ์ส้มโอดังกล่าวเป็นภาษามลายูว่า ส้มโอปูโก ซึ่งมีความหมายว่าส้มที่ประทับตรานั่นเอง
อำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี มีพื้นที่ปลูกส้มโอมากที่สุดในจังหวัดปัตตานี เนื่องจากอำเภอยะรังมีทางน้ำสายสำคัญคือแม่น้ำปัตตานีไหลผ่านตลอดแนวอำเภอ ในฤดูน้ำหลากของทุกปี แม่น้ำสายสำคัญนี้ได้พัดพาธาตุอาหารสำหรับพืชจำนวนมากจากต้นน้ำไหลบ่าลงสู่ที่ราบเบื้องล่าง ทำให้สภาพดินในอำเภอยะร้ง อุดมสมบูรณ์เหมาะสมต่อการเพาะปลูก ส่งผลให้ผลผลิตทางการเกษตรโดยเฉพาะไม้ผลในพื้นที่อำเภอยะรังเป็นที่ต้องการของตลาด เพราะมีรสชาติดี ถือว่าเป็นส้มโอที่มีชื่อเสียงของจังหวัด ทั้งยังเป็นพื้นที่แหล่งต้นกำเนิดของส้มโอพันธุ์ทับทิมสยาม โดยอำเภอยะรัง จังหวัดปัดตานี จัดงาน “ส้มโอหวาน เทศกาลแข่งเรือ ของดีเมืองยะรัง” มุ่งประชาสัมพันธ์ส้มโอบูโกให้เป็นที่รู้จัก พร้อมยกระดับมาตรฐานการผลิตและราคาให้สูงขึ้น