“เผือกหอมบ้านหมอ” (Ban Mo Taro หรือ Phueak Hom Ban Mo) หมายถึง เผือกหอมชนิดหัวใหญ่ สายพันธุ์เผือกหอมเชียงใหม่หรือเผือกหอมพิจิตร เนื้อเผือกมีสีขาวอมม่วงอ่อน มีเส้นใยสีม่วงกระจายทั่วหัว เมื่อผ่านความร้อนเนื้อเผือกจะร่วนซุย และมีกลิ่นหอมกว่าเผือกหอมทั่วไป ปลูกและผลิตครอบคลุมพื้นที่ 3 อำเภอของจังหวัดสระบุรี ได้แก่ อำเภอบ้านหมอ อำเภอดอนพุด และอำเภอหนองโดน ทั้งนี้กรมทรัพย์สินทางปัญญาประกาศให้ขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ ( GI ) ” เผือกหอมบ้านหมอ”เมื่อ 25 มกราคม พ.ศ. 2565
การปลูก
(1) สามารถปลูกได้ตลอดปีในแหล่งที่มีปริมาณน้ำเพียงพอ หรือปลูกในช่วงฤดูฝน หรือส่วนใหญ่นิยมปลูกในช่วงเดือนกันยายนถึงเดือนมกราคมซึ่งเป็นช่วงที่มีอากาศเหมาะสม
2) การเตรียมต้นพันธุ์ ควรคัดหน่อพันธุ์ที่มีคุณภาพ กรณีใช้หน่อพันธุ์เดิม ไม่ควรเกิน 3 ครั้งและไม่ควรอยู่ในพื้นที่เสี่ยงต่อการเกิดโรค เตรียมแปลงขนาดตามความเหมาะสม ควรโรยพื้นด้วยแกลบดำให้หนาพอประมาณ นำลูกเผือกมาวางเรียงไม่ให้ทับกัน โรยกลบด้วยแกลบดำแล้วปิดคลุมด้วยฟาง รดน้ำให้ชุ่ม จนลูกเผือกเริ่มผลิหน่อเป็นต้นอ่อน หรืออายุประมาณ 1 เดือน จึงย้ายลงแปลงปลูก
(3) การปลูก เตรียมดินโดยการไถดะ ตากดินทิ้งไว้ระยะหนึ่ง แล้วไถแปรเพื่อย่อยดิน ทำการปรับปรุงดินตามความเหมาะสมของพื้นที่
(3.1) การปลูกแบบยกร่อง ยกร่องแปลงปลูกให้สันร่องกว้างประมาณ 30 – 50 เซนติเมตร เว้นระยะห่างระหว่างแปลงปลูกให้กว้างประมาณ 80 – 100 เซนติเมตร จากนั้นหล่อน้ำทิ้งไว้ในร่องน้ำให้มีความขึ้นและดินอ่อนนุ่ม ขุดหลุมปลูกบนหลังร่อง วางหน่อพันธุ์ลงปลูกให้ต้นตั้งตรง หรือถ้าดินอ่อนนุ่มสามารถกดหัวหน่อพันธุ์ลงไปในแถวดินได้เลย จากนั้นเกลี่ยดินกลบ ควรปลูกให้มีระยะห่างระหว่างต้นไม่น้อยกว่า 25 เซนติเมตร
(3.2) การปลูกแบบไม่ได้ยกร่องหรือปลูกพื้นที่ราบ ให้ทำเทือก (ทำให้เป็นโคลนเป็นตม) แล้วปลูกด้วยวิธีปักดำ อาจใช้เชือกขึงเพื่อกะระยะในการปลูก จากนั้นวางหน่อพันธุ์เผือกลงปลูกให้ต้นตั้งตรง ควรปลูกให้มีระยะห่างระหว่างต้นไม่น้อยกว่า 25 เขนติเมตร
(4) การดูแลรักษา
(4.1) การให้น้ำ ดูแลให้ได้รับน้ำอย่างพอเพียงสม่ำเสมอ รักษาระดับน้ำให้สูงพอประมาณ แต่ต้องไม่ท่วมหัวเผือก
(4.2) การพูนดินหรือแทงโปะ เมื่อเผือกตั้งตัวได้แล้ว พรวนดินบนร่องปลูกโดยตักดินจากระหว่างแถวเผือกหรือสันร่องมากลบต้นเผือก เพื่อทำให้เลือกมีหัวป้อมใหญ่และมีน้ำหนักดี
(4.3) การตัดแต่งหน่อ ตัดแต่งหน่อข้างโดยใช้มีดคมๆ ปาดหน่อที่แตกออกทิ้ง ตกแต่งไม่ให้แตกเป็นกอใหญ่เพราะจะได้เผือกที่มีหัวเล็ก
(4.4) การใส่ปุ๋ย ปริมาณการใส่ปุ๋ยขึ้นอยู่กับปริมาณธาตุอาหารที่มีอยู่ในดิน ซึ่งการใส่ปุ๋ยครั้งสุดท้าย ควรใส่ปุ๋ยก่อนเก็บเกี่ยวไม่น้อยกว่า 60 วัน โดยทั่วไปควรใส่ปุ๋ยอย่างน้อย 3 ครั้ง คือ
-เมื่อเผือกอายุประมาณ 2 – 3 สัปดาห์ เพื่อเร่งการเติบโตของลำต้น โดยหยอดใส่บริเวณโคนต้น เมื่อเผือกอายุประมาณ 1 – 2 เดือน เพื่อเร่งราก ลำต้น และหัว โดยโรยปุ๋ยข้างๆ ร่องเผือก เมื่อต้นเผือกหอมอายุ 3 – 4 เดือน เพื่อเร่งสร้างและบำรุงหัว อาจทำการบำรุงทางใบเพื่อช่วยให้ได้หัวเผือกขนาดใหญ่และเพิ่มผลผลิตให้มากขึ้น
(4.5) การกำจัดวัชพืชอย่างสม่ำเสมอจนถึงช่วงเวลาเก็บเกี่ยว โดยการกำจัดวัชพืชควรทำไม่น้อยกว่า 3 ครั้ง ไม่แนะนำให้ใช้สารเคมีฉีดพ่น
(4.6) การกำจัดโรคพืชและแมลงศัตรูเผือก เลือกใช้วิธีการกำจัดตามความเหมาะสมกับโรคพืชหรือแมลงศัตรูพืช หรือใช้หลายวิธีร่วมกันก็ได้
การเก็บเกี่ยว
(1) ระยะเวลาที่เหมาะสมในการเก็บเกี่ยว คือ ประมาณ 5 – 7 เดือน นับตั้งแต่วันปลูกหรือสังเกตจากใบจะค่อยๆ เหี่ยว มองเห็นกาบใบได้ชัดเจนขึ้น หรือสังเกตจากโคนต้นที่จะลอยเหนือดินขึ้นมาเล็กน้อย ถ้ามีน้ำขังให้ระบายน้ำในแปลงเผือกออกก่อนเก็บเกี่ยว 7 – 15 วัน
(2) วิธีการเก็บเกี่ยว นำอุปกรณ์ขุดเผือกแทงลงไปที่ได้หัวเผือกแล้วงัดขึ้นมา ลอกดึงเอากาบแห้งออกให้หมดตัดลำต้นออกพอประมาณ ตัดแยกลูกหัวเผือกออก ควรชุดเผือกด้วยความระมัดระวัง ไม่ให้หัวเผือกมีบาดแผลบอบช้ำ
(3) การเก็บรักษา หลังจากเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้ว ควรนำเผือกไปไว้ในที่ร่ม มีอากาศถ่ายเทได้สะดวกไม่อับลม ผึ่งให้ค่อนข้างแห้ง ไม่ให้เปียกชื้น ควรแยกเผือกมีบาดแผลไว้ต่างหากไม่ปะปนกัน
(4) การบรรจุและการขนส่ง ทำการคัดแยกขนาดของเผือกแล้วบรรจุในภาชนะที่เหมาะสม สามารถระบายอากาศได้ดี การขนส่ง ควรมีภาชนะใส่เผือกที่เหมาะสม วางเรียงสลับกัน ไม่ควรขึ้นไปเหยียบนเผือก หรือนำเผือกมาสุมกองกันเป็นปริมาณมากเกินไป
ลักษณะภูมิประเทศ
จังหวัดสระบุรี บริเวณพื้นที่อำเภอบ้านหมอ อำเภอดอนพุด และอำเภอหนองโดน สภาพภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นกลุ่มชุดดินที่ 1 โดยเฉพาะพื้นที่ ตำบลหรเทพ ตำบลโคกใหญ่ และตำบลตลาดน้อย ซึ่งเป็น 3 ตำบลที่มีการปลูกเผือกหอมมากที่สุด พบว่า ส่วนใหญ่เป็นชุดดินโคกกระเทียมและชุดดินบ้านหมี่ ชุดดินทั้ง 2 ชุด เป็นดินเหนียวจัด ปฏิกิริยาดินเป็นกรดจัดถึงเป็นกรดเล็กน้อย ในฤดูแล้งหน้าดินจะแตกระแหง น้ำท่วมขังในฤดูฝน ลักษณะดินแบบนี้สามารถขังน้ำได้ดี จึงเหมาะสมสำหรับการปลูกเผือก ประกอบกับความอุดมสมบูรณ์ของดินสูงมีอินทรีย์วัตถุปานกลางและมีโพแทสเซียมอยู่ในระดับสูงซึ่งโพแทสเซียมเป็นธาตุอาหารหลักของพืช มีความสำคัญในการสร้างและการเคลื่อนย้ายสารอาหารพวกแป้ง และน้ำตาลไปเลี้ยงส่วนที่กำลังเติบโตและส่งไปเก็บไว้ที่หัวหรือที่ลำต้น จึงเป็นธาตุอาหารที่จำเป็นมาก สำหรับพืชหัว ทำให้เผือกหอมเจริญเติบโตได้ดี มีปริมาณแป้งสูงทำให้เผือกร่วยซุย และมีกลิ่นหอมที่โดดเด่นกว่าเผือกหอมจากแหล่งอื่น จนได้รับการยอมรับและเป็นที่ต้องการของตลาด
ลักษณะภูมิอากาศ
สภาพภูมิอากาศของจังหวัดสระบุรี บริเวณพื้นที่อำเภอบ้านหมอ อำเภอดอนพูด และอำเภอหนองโดน มีลักษณะอากาศแบบฝนเมืองร้อนเฉพาะฤดู ลักษณะภูมิอากาศแบบนี้จะมีฝนน้อยแห้งแล้งในฤดูหนาวและมีฝนตกซุกในช่วงเดือนพฤษภาคมถึงเดือนตุลาคม ประกอบกับพื้นที่เป็นที่ราบลุ่ม มีลุ่มน้ำและมีลำคลองธรรมชาติหลายสายที่เป็นสาขาของแม่น้ำเจ้าพระยาไหลผ่าน และคลองชลประทานตัดผ่านหลายพื้นที่ รวมถึงมีปริมาณน้ำฝนในระดับที่เหมาะสม จึงทำให้ปริมาณน้ำมีเพียงพอตลอดระยะเวลาการปลูก สำหรับอุณหภูมิเนื่องจากเป็นจังหวัดในภาคกลางและอยู่ลึกเข้ามาในแผ่นดิน ทำให้มีอุณหภูมิค่อนข้างสูง อากาศร้อนอบอ้าวในฤดูร้อน ฤดูหนาวอากาศไม่หนาวจัด อุณหภูมิเฉลี่ยตลอดปี 28 – 30 องศาเซลเซียส ด้วยลักษณะสภาพภูมิอากาศ ปริมาณแหล่งนำ และอุณหภูมิ มีความเหมาะสมจึงส่งผลดีต่อการเจริญเติบโตของเผือกหอม
ประวัติความเป็นมา
อำเภอบ้านหมอ เป็นแหล่งปลูกเผือกหอมมานานกว่า 70 ปี เดิมชาวบ้านปลูกข้าวและแตงโมเป็นอาชีพหลัก แต่เมื่อแตงโมเกิดโรคระบาด ชาวบ้านจึงได้ทดดลองหาพืชชนิดอื่นมาปลูก และมีชาวบ้านกลุ่มหนึ่งได้ทดลองนำเผือกหอมมาปลูก แล้วได้ผลผลิตดีและที่สำคัญมีกลิ่นหอมมากกว่าแหล่งที่นำพันธุ์มาปลูก ชาวบ้านจึงหันมาปลูกเผือกกันมากขึ้นและขยายพื้นที่ไปยังอำเภอหนองโดนและอำเภอดอนพุด ซึ่งมีภูมิศาสตร์แบบเดียวกัน ทำให้เผือกหอมของที่นี่เป็นที่รู้จักและเป็นที่นิยม ด้วยความหอมที่เป็นเอกลักษณ์มากกว่าเผือกหอมจากที่อื่นๆจึงทำให้ผู้คนเรียกเผือกหอมของที่นี่กันจนติดปากว่า”เผือกหอมบ้านหมอ” และชาวบ้านยังคงยึดอาชีพปลูกเผือกเสริมสลับกับการทำนามาจนถึงปัจจุบัน อำเภอบ้านหมอจึงเป็นแหล่งปลูกเผือกหอมคุณภาพดี ด้วยความมีชื่อเสียงของเผือกหอมบ้านหมอประกอบกับเป็นพืชเศรษฐกิจที่ขึ้นชื่อของพื้นที่ จึงมีการจัดงาน “เทศกาลผักหวานป่า ทุ่งนาเผือกหอม” มาอย่างต่อเนื่อง เป็นที่กล่าวขานโด่งดังไปทั่วทั้งในประเทศและต่างประเทศ จนนำมาตั้งเป็นคำขวัญของอำเภอว่า “เผือกหัวใหญ่ ไร่ผักหวาน มันแกวรสดี มีโรงงานย่านอุตสาหกรรม ถิ่นนกน้ำทะเลเทียม”
ด้วยความที่ “เผือกหอมบ้านหมอ” เป็นเผือกหอมที่มีคุณภาพดีจนได้ชื่อว่าดีที่สุดในประเทศ ทำให้บริษัทแปรรูปอาหารระดับประเทศเลือกใช้เผือกหอมบ้านหมอเป็นวัตถุดิบเพียงแห่งเดียวในการผลิต และด้วยคุณภาพและคุณลักษณะพิเศษดังกล่าวทำให้เผือกหอมบ้านหมอเป็นที่ต้องการของตลาดเป็นอย่างมาก
ทั้งนี้พื้นที่การปลูกและผลิต เผือกหอมบ้านหมอ ครอบคลุมพื้นที่ 3 อำเภอของจังหวัดสระบุรี ได้แก่ . อำเภอบ้านหมอ อำเภอดอนพุด และอำเภอหนองโดน