“เงาะทองผาภูมิ “(Thong Pha Phum Rambutan หรือ Ngoh Thong Pha Phum) หมายถึง เงาะพันธุ์โรงเรียน ผลค่อนข้างกลมเล็ก เปลือกบางสีเหลืองปนแดง ขนค่อนข้างสั้นสีเขียวตองอ่อน เนื้อหนาหวาน ล่อน กรอบ ไม่ฉ่ำน้ำ เมล็ดเล็ก ซึ่งปลูกในพื้นที่อำเภอทองผาภูมิ อำเภอไทรโยค อำเภอสังขละบุรี และอำเภอศรีสวัสดิ์ ของจังหวัดกาญจนบุรี ทั้งนี้กรมทรัพย์สินทางปัญญา ประกาศให้ขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) ” เงาะทองผาภูมิ” เมื่อ 22 มิถุนายน 2564
การปลูก
(1) การเตรียมดิน ไถพรวน ปรับหน้าดินเพื่อวางแนวปลูกให้ต้นเงาะได้รับแสงตลอดทั้งวันอย่างทั่วถึง
(2) ต้นพันธุ์ต้องมาจากการติดตาหรือการเสียบยอด มีความสมบูรณ์แข็งแรง อายุไม่เกิน 1 ปี ระบบรากสมบูรณ์ ไม่คดหรืองอ
(3) ควรปลูกในช่วงฤดูฝน ระหว่างเดือนพฤษภาคม – ตุลาคม
(4) การเตรียมหลุมปลูก ให้มีระยะปลูก ระหว่างต้น 8 – 10 เมตร ขุดหลุม ขนาด 50 x 50 x 50 เซนติเมตร กรณีดินมีความอุดมสมบูรณ์ต่ำควรขุดหลุม ขนาด 1 x 1 x 1 เมตร หรือตามความเหมาะสมของพื้นที่ ควรผสมดินปลูกด้วยปุยหมัก หรือปุยคอกแห้ง 1 – 2 บุ้งกี๋
(5) นำกิ่งพันธุ์ลงปลูกกลางหลุมที่เตรียมไว้ และกลบดินอย่าให้สูงกว่ารอยแผลที่ติดตาหรือเสียบยอดและใช้ไม้หลักผูกยึดต้นป้องกันโยกคลอนโดยเฉพาะในช่วง 1 ปีแรกของการปลูก หรือในช่วงฤดูฝน
(6) นำฟางข้าว หรือเศษพืชคลุมโคนต้น เพื่อรักษาความชุ่มชื้น รดน้ำให้ชุ่มภายหลังการปลูก
(7) ช่วงระยะเริ่มปลูกถึงอายุ 3 ปี ควรให้น้ำอย่างสม่ำเสมอ ตามสภาพอากาศ ใส่ปุ๋ยเคมีหรือปุ๋ยอินทรีย์ทุก 3 เดือน หรือตามความเหมาะสมของพื้นที่
(8) กำจัดวัชพืชอย่างสม่ำเสมอ โดยการดายหญ้าพรวนดิน ป้องกันกำจัดโรคและแมลงศัตรูพืชในระยะแตกใบอ่อน ออกดอก และติดผล ตัดแต่งกิ่งที่ไม่เป็นระเบียบ เพื่อสร้างทรงพุ่ม ปีละ 1 – 2 ครั้ง ก่อนฤดูฝนและหลังการเก็บเกี่ยว
(9) เมื่ออายุ 3 – 4 ปี เงาะจะเริ่มให้ผลผลิต หลังจากดอกบานแล้วประมาณ 130 – 160 วัน ระยะเวลาที่เหมาะสมในการเก็บเกี่ยวและออกสู่ตลาด ช่วงเดือนพฤษภาคม – กรกฎาคม โดยจะเก็บเกี่ยวผลเงาะที่ไม่แก่จัดในระดับร้อยละ 80 ลักษณะผลจะเริ่มเปลี่ยนจากสีเขียวเป็นสีเหลืองปนแดง โคนขนจะมีสีแดง ปลายจะมีสีเขียวตองอ่อน
การเก็บเกี่ยว
การเก็บนิยมตัดเป็นช่อ โดยในช่อจะต้องมีผลเงาะที่พร้อมเก็บเกี่ยวในระดับร้อยละ 80 ขึ้นไปเก็บเกี่ยวอย่างระมัดระวัง โดยการใช้กรรไกร หรืออุปกรณ์ที่คม และสะอาด ตัดช่อผล และนำมารวบรวบรวมในภาชนะหรือตะกร้าพลาสติกหรือเข่ง แล้วขนย้ายเข้าสู่ที่ร่มโดยเร็ว เพื่อลดการคายน้ำ ช่วยรักษาความสดของเงาะได้ยาวนานขึ้น
การดูแลรักษาหลังการเก็บเกี่ยว
การดูแลรักษาหลังเก็บเกี่ยว เมื่อทำการเก็บเกี่ยวแล้วควรจัดเก็บวัสดุและเศษไม้ต่างๆ ออกจากสวน และตัดแต่งกิ่งที่แตกหัก กิ่งที่เป็นโรคออกทุกครั้ง ใส่ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก หรือปุ๋ยเคมีสูตรเสมอ เช่น สูตร 15 – 15 – 15 เป็นต้น อัตราการใส่ 1 – 2 กิโลกรัมต่อต้น แล้วรดน้ำให้มีความชื้นพอเหมาะ
ลักษณะภูมิประเทศ
พื้นที่อำเภอทองผาภูมิ อำเภอไทรโยค อำเภอสังขละบุรี และอำเภอศรีสวัสดิ์ มีลักษณะภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นป่าไม้และภูเขาสูงเป็นเทือกเขาต่อเนื่องมาจากเทือกเขาถนนธงชัยทอดยาวลงไปทางด้านใต้ มีระดับความสูง 400 – 1,000 เมตร บริเวณนี้จึงเป็นแหล่งกำเนิดต้นน้ำที่สำคัญ คือ แม่น้ำแควใหญ่ และแม่น้ำแควน้ำแควน้อย ซึ่งมีน้ำอุดมสมบูรณ์ ภูเขาเป็นภูเขาหินปูนมีแคลเซียม ฟอสฟอรัสสูง ส่งผลให้ผลไม้มีรสชาติหวาน ลักษณะภูมิอากาศ โดยทั่วไปเป็นแบบมรสุมเมืองร้อน ได้รับอิทธิพลจากมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งพัดจากทิศตะวันออกเฉียงเหนือปกคลุมในช่วงฤดูหนาว ทำให้มีอากาศหนาวเย็นและแห้งกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ซึ่งพัดปกคลุมในช่วงดูฝน ทำให้มีฝนและอากาศชุ่มชื้น มีอุณหภูมิต่ำสุดเฉลี่ย 21.04
องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุดเฉลี่ย 33.20 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์เฉลี่ย 78 เปอร์เซ็นต์และมีปริมาณน้ำฝน 1,600 – 2,000 มิลลิเมตรต่อปี เนื่องจากเป็นเขตโซนที่มีอิทธิพลของลมตะวันออกเฉียงใต้และลมจากทะเลอันดามัน จึงมีความเหมาะสมในการปลูกเงาะทองผาภูมิเป็นอย่างมากเพราะเงาะเป็นพืชที่ชอบภูมิอากาศแบบร้อนชื้น ด้วยสภาพภูมิประเทศและภูมิอากาศดังกล่าว ทำให้เงาะทองผาภูมิที่ปลูกในพื้นที่อำเภอทองผาภูมิ อำเภอไทรโยค อำเภอสังขละบุรี และอำเภอศรีสวัสดิ์ ของจังหวัดกาญจนบุรี มีผลค่อนข้างกลม เปลือกบางสีเหลืองปนแดงขนค่อนข้างสั้นสีเขียวตองอ่อน เนื้อหนา หวาน ล่อน กรอบ ไม่ฉ่ำน้ำ เมล็ดเล็ก นิยมทานผลกึ่งสุก ซึ่งมีเอกลักษณ์แตกต่างจากพื้นที่อื่น
ประวัติความเป็นมา
เมื่อปี พ.ศ. 2513 นายธงชัย โสมทอง หรือชาวบ้านเรียกกันว่า “หมอธง” เป็นคนสุราษฎร์ธานีโดยกำเนิดแต่ได้ย้ายถิ่นฐานมาตั้งรกรากที่อำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี และในปี 2520 ได้นำกิ่งพันธุ์เงาะ กาแฟ โกโก้และยางพารา จากอำเภอนาสาร จังหวัดสุราษฎร์ธานี มาปลูก ณ บ้านหินแหลม ตำบลท่าขนุน อำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี ต่อมาเมื่อเงาะได้ผลผลิต ปรากฏว่าเงาะที่ได้มีลักษณะผลค่อนข้างกลม ขนสวย เปลือกบาง เนื้อหนา หวาน ล่อน กรอบ ไม่ฉ่ำน้ำ เมล็ดเล็ก ทำให้ปลูกกันแพร่หลายมากขึ้นในพื้นที่อำเภอทองผาภูมิ อำเภอไทรโยค อำเภอสังขละบุรี และอำเภอศรีสวัสดิ์ ส่งผลให้ “เงาะทองผาภูมิ” เป็นที่รู้จักไปทั่วทั้งจังหวัดกาญจนบุรีและจังหวัดข้างเคียง
จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2545 ได้เริ่มมีการจัดงานผลไม้ครั้งแรก ณ บริเวณลานติดกับสะพานทองผาภูมิ เพื่อให้เกษตรกรผู้ปลูกเงาะนำผลผลิตเงาะทองผาภูมิมาจำหน่าย ต่อมาเมื่องานผลไม้เป็นที่รู้จักก็ได้เริ่มมีการนำผลไม้ชนิดอื่นๆ เข้ามาจำหน่ายภายในงาน เช่น ทุเรียน ขนุน ส้มโอ เป็นต้น จนเกิดเป็นงานผลไม่ไม่ในปัจจุบัน โดยงานผลไม้ในปัจจุบันใช้ชื่อว่า “งานวันผลไม้ของดีอำเภอทองผาภูมิ” และสืบสานประเพณีลานบ้าน ลานวัฒนธรรม จากความมีชื่อเสียงทำให้การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยได้กำหนดทำปฏิทินการท่องเที่ยวงวงานวันผลไม้ของดีอำเภอทองผาภูมิ ในเดือนมิถุนายนของทุกปี
ทั้งนี้ขอบเขตพื้นที่การปลูกและผลิต เงาะทองผาภูมิ ครอบคลุมพื้นที่ 4 อำเภอของจังหวัดกาญจนบุรี ได้แก่ อำเภอทองผาภูมิ อำเภอไทรโยค อำเภอสังขละบุรี และอำเภอศรีสวัสดิ์