“ขนุนหนองเหียงชลบุรี” GI เปลือกบาง ซังน้อย เนื้อกรอบ

“ขนุนหนองเหียงชลบุรี” (Nong Hiang Chonburi Jackfruit หรือ Kha Nhun Nhong Hiang Chonbur)หมายถึง ขนุนผลใหญ่ เปลือกบาง ซังน้อย ยวงใหญ่ เนื้อหนา แห้ง และกรอบ เนื้อมีสีเหลืองทอง สีเหลือง สีแดงอมส้ม สีเหลืองอมส้ม สีเหลืองเข้ม รสชาติหวานกำลังดี มีกลิ่นหอมไม่แรงเกินไป เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวซึ่งปลูกและผลิตในพื้นที่อำเภอพนัสนิคม จังหวัดชลบุรี กรมทรัพย์สินทางปัญญา ประกาศให้ขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ ( GI ) “ขนุนหนองเหียงชลบุรี” เมื่อ 24 มีนาคม พ.ศ. 2566

ขนุนชลบุรี32

การปลูก

(1) กิ่งพันธุ์ขนุนที่ได้จากการทาบกิ่งและติดตาเฉพาะพันธุ์ที่ขอขึ้นทะเบียน ซึ่งมีความสมบูรณ์แข็งแรงรอยแผลที่ทำการขยายพันธุ์ไม่มีรอยแยกหรือรอยแตก ไม่มีโรคและแมลง รากสมบูรณ์ นำมาจากแหล่งที่เชื่อถือถือได้ เช่น จังหวัดปราจีนบุรี จังหวัดระยอง และอำเภอบ่อทอง จังหวัดชลบุรี เป็นต้น

(2) ฤดูที่เหมาะสมในการปลูก ได้แก่ เดือนพฤษภาคม – เดือนมิถุนายน เนื่องจากเป็นช่วงต้นฤดูฝน

(3) ลักษณะแปลงปลูกเป็นแบบยกร่องหรือพื้นที่ราบ หรือตามความเหมาะสมของพื้นที่

(4) ระยะการปลูก 6 x 6 เมตร หรือ 5 x 5 เมตร หรือความเหมาะสมของพื้นที่

(5) ขนาดของหลุมปลูกควรกว้าง 0.5 เมตร ยาว 0.5 เมตร และลึก 0.4 – 0.5 เมตร ใส่ปุ๋ยคอกผสม ได้แก่ ปุ๋ยมูลสัตว์บางส่วนผสมกับส่วนผสมอื่นๆ ที่หาได้ในพื้นที่ เช่น ปุ๋ยหมักจากเศษวัสดุ เป็นต้น หรืออื่น ๆ รองก้นหลุมปริมาณ 500 กรัมต่อหลุม หรือตามความเหมาะสมของพื้นที่

(6) นำกิ่งพันธุ์ขนุนไปปลูกลงในหลุม กลบดินให้แน่นพอสมควร แล้วใช้ไม้ปักเป็นหลักผูกกันลมโยกและรดน้ำทันที จากนั้นอาจใช้วัสดุอื่น ๆ เช่น ใบไม้แห้ง หญ้าแห้ง เป็นต้น มาคลุมบริเวณรอบโคนต้นเพื่อรักษาความชื้นให้แก่ต้นขนุนจนกว่าต้นขนุนจะตั้งตัวได้

ขนุนชลบุรี31 1แก

การดูแลรักษา

(1) ใส่ปุ๋ยเคมีร่วมกับปุ๋ยอินทรีย์ โดยจะใส่ปุ๋ยคอกซึ่งเป็นปุ๋ยอินทรีย์ปีละ 2 ครั้ง ในช่วงต้นฝนและปลายฝนอัตราการใส่ขึ้นอยู่กับขนาดของต้นขนุน หรือตามความเหมาะสมของแต่ละพื้นที่

(2) การให้น้ำเป็นระบบสปริงเกอร์ทั้งหมด โดยให้น้ำสัปดาห์ละ 2 – 3 ครั้ง ขึ้นอยู่กับสภาพอากาศซึ่งต้องคอยดูให้มีความชื้นสม่ำเสมอ ไม่ให้แห้งมาก ซึ่งในช่วงแรกของการปลูกจะรดน้ำทุกวัน หากเป็นช่วงฤดูแล้งจะให้น้ำ 2 วันต่อครั้ง ช่วงให้ผลผลิตจะให้น้ำอย่างต่อเนื่องและปริมาณเพิ่มขึ้น เนื่องจากอยู่ในภาวะการให้ผลผลิต หากขาดน้ำอาจเกิดผลกระทบต่อผลผลิตได้

(3) ทำการกำจัดวัชพืชอย่างสม่ำเสมอ หากหญ้ารกมากอาจใช้สารเคมีในการป้องกันกำจัดอย่างถูกต้องและเหมาะสม

(4) เกษตรกรผู้ปลูกขนุนควรสังเกตแปลงที่ปลูกว่ามีศัตรูพืชหรือโรคเกิดขึ้นหรือไม่ กรณีพบการระบาดของโรคและแมลงขั้นรุนแรงจึงจะใช้สารเคมีในการป้องกันกำจัด โดยใช้สารเคมีอย่างถูกต้องเหมาะสม

(5) ควรตัดแต่งกิ่งในช่วงก่อนฤดูฝน เพื่อให้ต้นมีความพร้อมในการแตกกิ่งออกมาใหม่เมื่อได้รับน้ำฝน อีกทั้งจะป้องกันการเกิดเชื้อโรคในระยะการตัด เพราะหากตัดในช่วงฝนตกจะส่งผลกระทบต่อการเข้าทำลายของเชื้อโรคได้ง่าย

ลักษณะภูมิประเทศ

อำเภอพนัสนิคม จังหวัดชลบุรีตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของไทย หรือชายฝั่งทะเลด้านตะวันออกของอ่าวไทย เป็นพื้นที่ราบลุ่มแม่น้ำบางปะกง มีลักษณะทางธรณีวิทยาเป็นที่ราบที่ถูกทับถมด้วยตะกอนน้ำพัดมา มี 2 ลักษณะได้แก่ ตะกอนธารน้ำพากรวดทราย ทรายแป้งและตินเหนียวสะสมตัวตามร่องน้ำคันดินแม่น้ำและแอ่งน้ำท่วมถึงและตะกอนพัดลำน้ำ กรวดทราย ทรายแป้งดินเหนียวและศิลาแลง ลักษณะดังกล่าวก่อให้เกิดเป็นที่ราบและที่ดอน โดยดินตะกอนอันอุดมสมบูรณ์จากการพัดพาของแม่น้ำบางปะกงนี้เอง ได้ก่อให้เกิดที่ราบลุ่มเหมาะสมต่อการเกษตรกรรม ซึ่งพื้นที่ส่วนใหญ่ของอำเภอพนัสนิคมเป็นที่ราบลุ่มและดอน ระดับความสูงจากระดับน้ำทะเล 50 – 100 เมตร จึงเหมาะสมสำหรับการปลูกพืชสวนอย่างขนุน ซึ่งขนุนเจริญเติบโด้ดีในระดับความสูงของพื้นที่ไม่เกิน 1,200 เมตร จากระดับน้ำทะเล

นอกจากนี้ยังพบว่าชุดดินส่วนใหญ่เป็นที่ดอนในเขตดินแห้ง ซึ่งดินบนพื้นที่ดอนหมายถึงดินที่ไม่มีน้ำแช่ชังซึ่งพบบริเวณที่เป็นเนิน มีการระบายน้ำดีสภาพพื้นที่เป็นที่ราบเรียบ เป็นลูกคลื่นหรือเนินเขา ใช้ปลูกพืชไร่ ไม้ผล และไม้ยืนต้น ซึ่งต้องการน้ำน้อย ไม่มีน้ำแช่ขัง โดยลักษณะทางธรณีวิทยาพบว่าแหล่งดังกล่าวเป็นตะกอนตะพักระดับสูง (Qt) ลักษณะเป็นกรวด ปนดินเคลย์และทราย ส่งผลให้ผลผลิตของขนุนหนองเหียงชลบรี มีคุณภาพโดดเด่นกว่าแหล่งอื่นๆ ทั้งในเรื่องของการเจริญเติบโตในพื้นที่ที่เหมาะสม ประกอบกับเกษตรกรดูแลผลผลิตของตนเองเป็นอย่างดี ทำให้ขนุนมีคุณภาพดี สีสวย รสชาติหวานกรอบ

ลักษณะภูมิอากาศ

อำเภอพนัสนิคมเป็นอำเภอหนึ่งของจังหวัดชลบุรีซึ่งเป็นจังหวัดที่อยู่ติดชายฝั่งทะเลและอยู่ในภาคตะวันออกของประเทศ อุณหภูมิตลอดทั้งปีไม่เปลี่ยนแปลงมากนัก กล่าวคือ ฤดูร้อนอากาศไม่ร้อนจัดและฤดูหนาวอากาศไม่หนาวจัด อุณหภูมิเฉลี่ยตลอดทั้งปี 28.56 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุดเฉลี่ย 33.3 องศาเซลเชียส ซึ่งเหมาะสมกับขนุนที่เจริญเติบโตได้ดีในช่วงอุณหภูมิ 30 – 40 องศาเซลเชียส

ประวัติความเป็นมา

“ขนุนหนองเหียงชลบุรี ” เริ่มปลูกในพื้นที่ตำบลหนองเหียง อำเภอพนัสนิคม จังหวัดชลบุรี ตั้งแต่ปีพ.ศ. 2481 ซึ่งสมัยก่อนได้ปลูกขนุนพันธุ์ทองสดใจ พันธุ์เหรียญทอง แต่พบปัญหาในด้านคุณภาพของผลผลิต คือเนื้อน้อย เนื้อมีสีขาว ส่งผลกระทบทางด้านการตลาด ต่อมาได้มีการพัฒนาสายพันธุ์ขนุนและนำกิ่งพันธุ์มาปลูกในพื้นที่ จนพบว่าพันธุ์ที่เหมาะสมกับพื้นที่และให้ผลผลิตตรงกับความต้องการของตลาด สามารถให้ผลเกือบตลอดปี ได้แก่ พันธุ์ทองประเสริฐ ซึ่งลักษณะผลค่อนข้างกลมใหญ่ เปลือกบาง ผิวสีเขียวสม่ำเสมอมีน้ำหนักประมาณ 10 – 25 กิโลกรัม หนามถี่แหลมยาว เนื้อเป็นสีเหลืองทอง กรอบและหนา เป็นที่รู้จักกันดีในจังหวัดชลบุรี ทำให้เกษตรกรในพื้นที่อำเภอพนัสนิคมหันมาปลูกขนุนเพิ่มขึ้น ปัจจุบันมีการปลูกขนุนทางการค้าอยู่จำนวนหลายพันธุ์ ได้แก่ พันธุ์ทองประเสริฐ พันธุ์มาเลย์ พันธุ์เพชรราชา พันธุ์ทองส้ม และพันธุ์แดงสุริยา

โดยผลผลิตที่ได้มีลักษณะผลใหญ่ เปลือกบาง ซังน้อย ยวงใหญ่ เนื้อหนา แห้ง กรอบ สีเนื้อขนุน ตามแต่ลักษณะพันธุ์ รสชาติหวานกำลังดี มีกลิ่นหอมไม่แรงเกินไปเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว แตกต่างจากขนุนในแหล่งอื่น พบว่า เนื้อของขนุนหนองเหียงจะมีสีสดกว่าพันธุ์เดียวกันในแหล่งอื่นๆ เช่น ถ้าเป็นสีเหลืองก็จะเข้มมากกว่าขนุนในพื้นที่จังหวัดอื่นๆ รสชาติขนุนหวานกรอบ ยวงใหญ่หนา เนื้อแห้ง ซังน้อยกว่า ด้านชื่อเสียงและคุณภาพของขนุนหนองเหียงชลบุรีเป็นที่ประจักษ์ต่อสาธารณชนผู้นิยมบริโภคขนุนจากหลักฐานประกาศนียบัตร รางวัลต่างๆที่ได้รับจากการส่งขนุนหนองเหียงชลบุรีเข้าประกวดในงานเทศกาลต่างๆ ระดับประเทศ


ขอบเขตพื้นที่การปลูกและผลิตขนุนหนองเหียงชลบุรี ครอบคลุมพื้นที่อำเภอพนัสนิคม จังหวัดชลบุรี

GIregistration201 page 0007