“กระเทียมแม่ฮ่องสอน” GI หอมฉุน เผ็ดร้อน ใช้น้ำจากแหล่งต้นน้ำธรรมชาติบนภูเขาปลูก

“กระเทียมแม่ฮ่องสอน “(Gra Tiam Mae Hong Son หรือ Mae Hong Son Garlic) หมายถึง กระเทียมพันธุ์กลาง สายพันธุ์ปาย มีลักษณะเฉพาะ คือ หัวกลมแป้น สีเปลือกนอกขาวอมม่วง เนื้อแน่น ผิวสีขาวหรือเหลืองอ่อน และเรียบเนียน มีกลิ่นหอมฉุน และรสชาติค่อนข้างเผ็ดร้อน โดยใช้น้ำจากแหล่งต้นน้ำธรรมชาติบนภูเขาที่สะอาดบริสุทธิ์ในการเพาะปลูก ซึ่งปลูกในพื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน ทั้งนี้กรมทรัพย์สินทางปัญญาประกาศให้ขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI)เมื่อ 22 มิถุนายน 2564

301150906 185627943851350 4866703608287420572 n

การปลูก

(1) เตรียมหัวพันธุ์กระเทียมแห้งสำหรับปลูก โดยคัดเลือกเฉพาะกลีบที่ใหญ่และสมบูรณ์ ไม่มีโรค

(2) ฤดูที่เหมาะสมในการปลูก ได้แก่ เดือนพฤศจิกายนหรือเดือนธันวาคม

3) ระยะการปลูก ควรเว้นระยะปลูกระหว่างต้น 10 x 10 เซนติเมตร หรือ 10 x 15 เซนติเมตร หรือเว้นระยะตามความเหมาะสมของพื้นที่

(4) ลักษณะการปลูกเป็นการปลูกแบบไม่ยกแปลง เหมาะกับพื้นที่ที่เป็นดินร่วนหรือดินร่วนปนทรายและมีแหล่งน้ำอุดมสมบูรณ์

(5)วิธีการปลูก ก่อนปลูกต้องรดน้ำแปลงปลูกไว้ล่วงหน้า ปักกลีบกระเทียมลงดิน ให้ส่วนรากลงลึกประมาณ 2 ใน 3 ส่วนของกลีบกระเทียม

(6) เมื่อปลูกทั่วทั้งแปลงให้คลุมด้วยฟางหรือหญ้าแห้งหนาพอสมควร เพื่อเป็นการรักษาความชุ่มชื้นและคุมวัชพืช จากนั้นรดน้ำให้ชุ่ม

106070132 934933270288254 6156397612041124738 n

การดูแลรักษา

(1) ให้น้ำที่เหมาะสมกับความต้องการของกระเทียมและความขึ้นของดิน โดยใช้น้ำจากแหล่งน้ำที่มาจากแหล่งต้นน้ำธรรมชาติบนภูเขาที่สะอาดบริสุทธิ์ซึ่งมีปริมาณน้ำเพียงพอที่จะใช้ในการผลิตกระเทียมให้มีคุณภาพ

(2) ใส่ปุ๋ยตามสภาพดินเพื่อเป็นการเพิ่มธาตุอาหารและปรับปรุงคุณภาพของดิน

(3) กำจัดวัชพืชโดยการตัด การถอน หรือการใช้สารเคมีในการป้องกันและกำจัดวัชพืช เนื่องจากกระเทียมเป็นพืชที่มีรากตื้น ดังนั้น ควรกำจัดวัชพืชในระยะที่วัชพืชเริ่มงอก หากวัชพืชมีขนาดใหญ่ควรใช้มีดหรือเสียมแซะวัชพืชออกเพื่อไม่ให้โดนรากของกระเทียม

การเก็บเกี่ยว

(1) ช่วงเวลาเก็บเกี่ยวกระเทียมแม่ฮ่องสอน ได้แก่ เดือนมีนาคมหรือเดือนเมษายน

(2) ทำการเก็บเกี่ยวกระเทียม เมื่อมีอายุการเก็บเกี่ยว 100 – 120 วัน หลังการปลูก เนื่องจากเป็นช่วงเวลาเหมาะสมที่กระเทียมจะแก่เต็มที่โดยสังเกตุจากปมกระเทียม ซึ่งจะขึ้นเป็นเม็ดเล็กๆ ตรงกลางลำต้น

(3) วิธีการเก็บเกี่ยว โดยวิธีการถอนด้วยมือจากแปลงปลูก โดยถอนกระเทียมทีละหลุม จับใบของกระเทียมแล้วดึงหัวกระเทียมให้พ้นดิน

(4) เก็บกระเทียมที่มัดจุกไว้นำไปแขวนบนราวในโรงเรือนปิดฝาทั้ง 4 ด้าน หรือสถานที่ที่มีอากาศถ่ายเทสะดวก ไม่ถูกฝน หรือน้ำค้าง รวมทั้งแสงแดด เช่น ใต้ถุนบ้าน เป็นต้น ประมาณ 3- 4 สัปดาห์ เพื่อทำให้กระเทียมแห้งสนิท

ลักษณะภูมิประเทศ

จังหวัดแม่ฮ่องสอน เป็นจังหวัดชายแดนอยู่ทางภาคเหนือตอนบน พื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอมเป็นแอ่งระหว่างภูเขาที่มีระดับความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลางตั้งแต่ 200 เมตรขึ้นไป ประกอบด้วยแอ่งปาน แอ่งขุนยวม และแอ่งแม่สะเรียง โดยมีรูปร่างยาวรีในตอนเหนือถึงตอนใต้ จัดเป็นแอ่งสะสมตะกอนทางน้ำ เนื่องจากเป็นที่รับน้ำและตะกอนจากทางน้ำที่ไหลลงมาจากภูเขาที่ล้อมรอบแอ่ง ส่งผลให้สภาพดินโดยทั่วไปเป็นดินร่วนหรือดินร่วนปนทรายที่มีความอุดมสมบูรณ์และมีการระบายน้ำได้ดี ความเป็นกรดเป็นด่างของดิน 5.60 – 6.50 เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของกระเทียมแม่ฮ่องสอนอย่างมาก เพราะมีปริมาณอินทรียวัตถุอยู่ในระดับปานกลางถึงสูง ส่งผลให้หัวกระเทียมน้ำหนักดี เนื้อในแน่น เกิดกลีบลีบน้อย

นอกจากนี้ดินในพื้นที่ยังมีธาตุอาหารหลักของพืชสูง เช่น ในโตรเจน ฟอสฟอรัส และโพแทสเซียม เป็นต้น ซึ่งเป็นธาตุอาหารที่สำคัญต่อคุณภาพของกระเทียมโดยเฉพาะอย่างยิ่งธาตุในโตรเจนมากว่าร้อยละ 0.2 ธาตุโพแทสเซียมที่แลกเปลี่ยนได้อยู่ในระดับสูง คือ 69.0 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม และแม้พื้นที่มีปริมาณธาตุฟอสฟอรัสที่เป็นประโยชน์อยู่ในระดับต่ำมาก คือ 5.7 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม แต่เกษตรกรผู้ปลูกกระเทียมโดยส่วนใหญ่จะใช้ปุ๋ยอินทรีย์และปุ๋ยคอกในการบำรุงดินเพื่อช่วยให้กระเทียมสามารถดูดน้ำและธาตุอาหารได้ดีและเจริญเติบโตเร็วขึ้น

นอกจากนี้จังหวัดแม่ฮ่องสอนเป็นพื้นที่ที่มีการกระจายตัวของฝนดี ฝนตกเยอะมีปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยต่อปี 1,419 มิลลิเมตร ทำให้ธาตุแคลเซียมสามารถซึมผ่านไปกับน้ำได้ดี ส่งผลให้กระเทียมมีขนาดใหญ่ ซึ่งธาตุแคลเซียมช่วยเรื่องการสร้างหัวกระเทียมที่อยู่ในดิน โดยซึมผ่านไปกับน้ำ ด้วยการกระจายตัวของฝนดี รวมถึงความชื้นสัมพัทธ์ตลอดทั้งปีเฉลี่ยร้อยละ 75 ทำให้จังหวัดแม่ฮ่องสอนถือได้ว่า เป็นพื้นที่เหมาะสมสำหรับการปลูกกระเทียมจังหวัดแม่ฮ่องสอน เป็นพื้นที่ที่มีแหล่งน้ำเพียงพอต่อการปลูกกระเทียม เนื่องจากมีแหล่งน้ำพุร้อน ที่สำคัญจำนวนมากถึง 11 แห่ง กระจายอยู่ในพื้นพื้นที่ตอดแนวเหนือใต้ของจังหวัด และยังมีแหล่งน้ำแร่ที่ไหลซึมตามแนวชอกเขาและแหล่งต้นน้ำในหลายพื้นที่ของจังหวัดที่ไหลรวมเป็นลำธารกลายเป็นแหล่งน้ำธรรมชาติเพื่อการทำเกษตรกรรมในพื้นที่ ซึ่งเป็นต้นทุนทางทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญสำหรับการทำเกษตร โดยเฉพาะการปลูกกระเทียมแม่ฮ่องสอน เพราะมีแร่ธาตุอาหารหลายชนิดที่ช่วยให้กระเทียมแม่ฮ่องสอนมีคุณภาพดีเปลือกมีสีขาวอมม่วง เนื้อแน่น และน้ำหนักดี

ประวัติความเป็นมา

กระเทียมแม่ฮ่องสอนเริ่มนำมาปลูกประมาณปี พ.ศ. 2523 ซึ่งแต่เดิมเกษตรกรจะปลูกข้าวเป็นหลัก โดยหลังจากเก็บเกี่ยวข้าวแล้ว จะมีพื้นที่ว่างสำหรับปลูกพืชอื่น ๆ จึงได้นำพันธุ์กระเทียมที่มาจากอำเภอปาย ซึ่งสายพันธุ์ดั้งเดิมที่ใช้ปลูก เรียกขานกันว่า “สายพันธุ์ปาย” เข้ามาปลูกในพื้นที่ตำบลห้วยโป้งอำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน และมีการขยายพื้นที่ปลูกกระจายออกไปทั้งจังหวัดแม่ฮ่องสอน การปลูกกระเทียมเป็นภูมิปัญญาชาวบ้านที่สืบทอดต่อกันมา โดยเริ่มจากการที่ชาวบ้านมาช่วยกันแกะกระเทียมสำหรับสำหรับปลูกและมีการยืมพันธุ์ระหว่างกันของชาวบ้านเพื่อนำไปปลูกในพื้นที่ของตนเอง เมื่อปลูกเสร็จแล้วก็นำมาคืนเท่ากับจำนวนที่ยืมไป ซึ่งทำให้ชาวบ้านไม่ต้องใช้เงินลงทุน โดยใช้วิธีหมุนเวียนกันในพื้นที่และทยอยเก็บรักษาพันธุ์ไว้ปลูกในคราวต่อไปหรือพันธุ์กระเทียมที่เก็บไว้อาจแบ่งให้ชาวบ้านรายอื่นยืมไปใช้ก่อน

นอกจากนี้ชาวบ้านจะใช้วิธีนำพันธุ์กระเทียมที่ตัวเองปลูกไปแจกจ่ายให้เพื่อนบ้านหรือเกษตรกรในพื้นที่อำเภออื่นใน จ.แม่ฮ่องสอน เนื่องจากหัวพันธุ์กระเทียมจะต้องไม่ปลูกซ้ำที่เดิมเนื่องจากการปลูกพันธุ์เดิมซ้ำ ๆ จะทำให้ผลผลิตต้อยคุณภาพลงเรื่อย ๆ เป็นสาเหตุให้การปลูกกระเทียมขยายไป ยังแต่ละพื้นที่ภายในจังหวัดมากขึ้น จนทำให้กระเทียมมีชื่อเสียงมานานถึงคุณภาพความเผ็ดร้อนและกลิ่นหอมฉุน เหมาะสำหรับนำไปประกอบอาหารหรือนำไปแปรรูปพื้นที่ในจังหวัดแม่ฮ่องสอนยังเหมาะกับการปลูกกระเทียม ด้วยสภาพ
ภูมิประเทศที่เป็นภูเขาและบำไม้ที่อุดมสมสบรณ์ ภูมิอากาศเหมาะสม รวมถึงมีแหล่งน้ำทางธรรมชาติเพียงพอ สำหรับปลูกกระเทียม จังหวัดแม่ฮ่องสอนจึงขึ้นชื่อได้ว่ามีกระเทียมธรรมชาติคุณภาพดี เป็นสินค้าทางการเกษตรที่เป็นที่ยอมรับและเป็นที่รู้จักของผู้บริโภคมานาน


ทั้งนี้ขอบเขตพื้นที่การปลูก กระเทียมแม่ฮ่องสอน ครอบคลุมพื้นที่ทั้งหมดของจังหวัดแม่ฮ่องสอน

GIAN174 page 0005