“กล้วยหอมทองเพชรบุรี”GI เนื้อเนียนละเอียด รสชาติหอมหวาน

“กล้วยหอมทองเพชรบุรี” (Phetchaburi Gros Michel Banana หรือ Kluai Hom Thong Phetchaburi) หมายถึง กล้วยหอมพันธุ์ Gros Michel รูปทรงผลยาว ปลายจุกกล้วยยาว เปลือกบาง ผลดิบสีเขียวอ่อน ผลสุกเปลือกสีเหลืองนวล เนื้อกล้วยสีครีมถึงเหลืองอ่อน ไร้เมล็ด เนื้อเนียนละเอียด ละมุน นุ่มฟู ไส้ไม่ฉ่ำน้ำ รสชาติหอมหวาน ปลูกและผลิตในพื้นที่ 6 อำเภอของจังหวัดเพซรบุรี ได้แก่ อำเภอเมืองเพชรบุรี อำเภอท่ายาง อำเภอบ้านลาด อำเภอแก่งกระจาน อำเภอหนองหญ้าหญ้าปล้อง และอำเภอชะอำ ทั้งนี้กรมทรัพย์สินทางปัญญา ประกาศให้ขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) “กล้วยหอมทองเพชรบุรี” เมื่อ 10 เมษายน พ.ศ.2567

1676858

การปลูก

(1) ใช้หน่อพันธุ์กล้วยหอมทอง สายพันธุ์ Gros Michael ในพื้นที่จังหวัดเพชรบุรี

(2) ควรปลูกในพื้นที่ดินร่วนปนทราย โดยเตรียมพื้นที่ด้วยการไถดิน 2 ครั้ง ตากแดดประมาณ 1 – 2 เดือน จากนั้นไถแปรและชักร่อง ขนาดร่องกว้างประมาณ 4 – 6 เมตร ยาวตามสภาพพื้นที่ ลึกประมาณ 20 – 30 เซนติเมตร ระยะห่างระหว่างร่องประมาณ 1 เมตร หรือตามความเหมาะสมของพื้นที่

(3) ขุดหลุมขนาด กว้างประมาณ 30 เซนติเมตร ยาวประมาณ 30 เซนติเมตร ลึกประมาณ 30 เซนติเมตร ระยะห่างระหว่างหลุมประมาณ 1.5 – 2 เมตร ระหว่างแถวประมาณ 2 เมตร หรือตามความเหมาะสมของพื้นที่

(4) ใช้หน่อพันธุ์กล้วยหอมทองเพชรบุรีจากต้นแม่สูงประมาณ 50 – 100 เซนติเมตร จากหน่อใบแคบหรือหน่อดาบ โดยสังเกตจากใบที่เรียวเล็ก ซึ่งมักอยู่กับโคนต้นเดิมและมีขนาดอวบสมบูรณ์ นำหน่อพันธุ์วางตรงกลางหลุมและกลบดินให้แน่น

(5) หลังจากปลูกหน่อพันธุ์ประมาณ 3 สัปดาห์จะทำการปาดหน่อ เอียงประมาณ 45 องศาในทิศทางเดียวกันเพื่อให้ต้นกล้วยเติบโตอย่างสม่ำเสมอและสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้พร้อมกัน

1676859

การดูแลรักษา

(1) ให้น้ำ 3 – 4 วันต่อครั้ง หรือเมื่อสังเกตว่าดินแห้ง ด้วยระบบสปริงเกอร์หรือปล่อยน้ำเข้าร่องหรือวิธีอื่น ๆ ตามความเหมาะสม ไม่ควรปล่อยให้กล้วยขาดน้ำหรือมีน้ำขังในร่องหลายวัน

(2) ใส่ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมัก โดยให้ปุ๋ยตามอายุและสภาพของต้นกล้วยในอัตราส่วนที่เหมาะสม

(3) เมื่อกล้วยอายุประมาณ 3 – 4 เดือน ให้แต่งใบที่เสียโดยเฉพาะใบล่างออกประมาณ 2 – 3 ใบ ก้านกล้วยห่างจากต้นประมาณ 1 นิ้ว และเมื่อกล้วยอายุประมาณ 6 – 7 เดือน แต่งโบโดยเหลือไว้ที่ต้นประมาณ 8 – 12 ใบ

(4) ทำความสะอาดแปลงกล้วยอย่างสม่ำเสมอ หากมีใบที่เป็นโรคควรนำออกไปทำลาย

การเก็บเกี่ยว

(1) ให้ตัดปลีกล้วยหลังจากกล้วยทวีสุดท้ายออกมาจนสุด หรือสังเกตจากกล้วยหวีสุดท้ายไม่ขยายขนาด โดยตัดปลีกล้วยให้ห่างจากกล้วยหวีสุดท้ายประมาณ 15 เซนติเมตรหรือตามความเหมาะสม เพื่อให้ขนาดของกล้วยแต่ละหวีมีความสม่ำเสมอ

2) เก็บเกี่ยวกล้วยหอมทองหลังจากตัดปลีแล้วประมาณ 55 – 60 วัน กล้วยจะมีความสุกที่ประมาณร้อยละ 70 – 80 ทั้งนี้ระยะเวลาการเก็บเกี่ยวอาจขึ้นอยู่กับสภาพภูมิอากาศในพื้นที่

(3) ลำเลียงผลกล้วยออกจากสวน ด้วยความระมัดระวังเพื่อไม่ให้ผลกล้วยเสียหาย

การบ่มกล้วย

ควรบ่มกล้วยด้วยแก๊สเอทิลีน (Ethylene) ในห้องอับอากาศ เป็นเวลาประมาณ 21 – 24 ชั่วโมงซึ่งจะทำให้กล้วยสุกสามารถเก็บได้นาน

ลักษณะภูมิประเทศและลักษณะภูมิอากาศ

จ.เพชรบุรี ทิศตะวันออกติดทะเลอ่าวไทย มีไอทะเลและลมทะเลพัดผ่านซึ่งไอทะเลช่วยขับไล่แมลงที่จะมากินกล้วยเป็นอย่างดี และอยู่ภายใต้อิทธิพลของลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือซึ่งพัดผ่านในฤดูหนาวและลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดผ่านในฤดูฝน ทำให้อุณหภูมิระหว่างฤดูกาลและกลางวันกลางคืน จึงไม่แตกต่างกันมากนัก อุณหภูมิโดยเฉลี่ยจึงไม่สูงมากและอากาศไม่ร้อนจัด ส่วนฤดูหนาวอากาศจะมีอากาศเย็นได้บางครั้ง ประกอบกับ ทิศตะวันตกมีเทือกเขาตะนาวศรีกั้นเขตแดนระหว่างประเทศไทยและประเทศเมียนมาร์ ซึ่งมีลักษณะเป็นที่ราบสูงและภูเขาสูงชัน แล้วค่อยๆ ลาดต่ำมาทางทิศตะวันออกเกิดเป็นสันปันน้ำไหลลงมาทางทิศตตะวันออกกลายเป็นต้นน้ำของแม่น้ำปราณบุรีและแม่น้ำเพชรบุรี ทำให้บริเวณตอนกลางของจังหวัดเป็นเขตที่ราบลุ่มแม่น้ำซึ่งมีความอุดมสมบูรณ์ ประกอบกับมีเขื่อนแก่งกระจานและเขื่อนเพชรบุรี ซึ่งเป็นแหล่งน้ำระบบชลประทานที่ส่งผลให้บริเวณนี้เป็นเขตเกษตรกรรมที่สำคัญของจังหวัด ทำให้จังหวัดเพชรบุรีเป็นพื้นที่ที่มีทรัพยากรธรรมชาติและแหล่งแร่ธาตุอาหารที่อุดมสมบูรณ์ และด้วยลักษณะภูมิศาสตร์ดังกล่าวส่งผลให้กล้วยหอมทองเพชรบุรีมีความสมบูรณ์แข็งแรง มีขนาดพอดีไม่โตเกินไป เปลือกบาง เนื้อเนียนละเอียดมีสีครีมถึง สีเหลืองอ่อน มีความหอมหวานและมีความนุ่มฟู

ประวัติความเป็นมา

กล้วยเป็นพืชท้องถิ่นในจังหวัดเพชรบุรีตั้งแต่สมัยต้นรัตนโกสินทร์ เมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชยกทัพไปตีหัวเมืองมลายู ได้กวาดต้อนชาวมุสลิมมาอยู่ที่กรุงเทพฯ รวมถึงที่จังหวัดเพชรบุรี โดยต่อมาได้ยึดอาชีพทำนาและเลี้ยงสัตว์โดยเฉพาะ “วัว” ควบคู่กันไป เมื่อรู้ว่าจะมีการนวดข้าวชาวบ้านในละแวกใกล้เคียงก็ต่างนำวัวของตัวเองออกมาช่วย ใครมีวัวดีวัวสวยก็ตกแต่งมาโชว์อวดกันบ้านละตัวสองตัวตามอัตภาพ จากนั้นจะผลัดเปลี่ยนกันนำวัวไปผูกกับเสาที่กลางลานผูกเรียงกันเป็นพวงยาวเต็มพื้นที่บริเวณลานที่มีฟอนข้าววางไว้ โดยให้วัวเดินวนเพื่อนวดข้าว จนเกิดเป็นประเพณีแข่งวัวลาน โดยชาวบ้านจะบำรุงวัวหรือ “โดปวัว” ด้วยเกลือแร่ ไข่ น้ำมันตับปลา และกล้วยน้ำว่าหรือกลวยหอมแช่น้ำผึ้ง เพื่อเพิ่มกำลังให้แก่วัว ทำให้พื้นที่อำเภอบ้านลาด และอำเภอท่ายายาง เป็นแหล่งที่มีกล้วยหอมทองจำนวนมาก

ต่อมามีการขยายพันธุ์ไปปลูกในหลายพื้นที่ของจังหวัดเพชรบุรี และได้มีการรวมกลุ่มกันเพื่อทำการค้าในลักษณะของสหกรณ์โดยรับซื้อกล้วยหอมทองจากเกษตรกรในพื้นที่ส่งจำหน่ายทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งสามารถส่งออกกล้วยหอมทองไปยังประเทศญี่ปุ่นได้สำเร็จตั้งแต่วันที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.พ.ศ. 2535 จึงเป็นการแสดงให้เห็นว่า กล้วยหอมทองเพชรบรีเป็นสินค้าที่สำคัญและมีชื่อเสียงของจังจังหวัดเพชรบุรีมาเป็นเวลานแล้ว

ทั้งนี้พื้นที่การปลูกและผลิต กล้วยหอมทองเพชรบุรี ครอบคลุมเขตพื้นที่ 6 อำเภอของจังหวัดเพชรบุรี ได้แก่ อำเภอเมืองเพชรบุรี อำเภอท่ายาง อำเภอบ้านลาด อำเภอแก่งกระจาน อำเภอหนองหญ้าปล้อง และอำเภอชะอำ

GIregistration224 page 0006สส