“กล้วยหอมทองหนองบัวแดง”(Hom Thong Nong Bua Daeng Banana หรือ Kluay Hom Thong Nong Bua Daene) หมายถึง กล้วยที่มีเนื้อเหนียวนุ่มละเอียด ผลดิบสีเขียวนวล ผลสุกสีเหลืองนวล ไม่มีจุดดำที่เปลือก เปลือกหนา ทำให้ยากต่อการช้ำของเนื้อกล้วย รสชาติหอมหวาน ปลูกและผลิตในพื้นที่อำเภอหนองบัวแดง อำเภอภักดีชุมพล และอำเภอเกษตรสมบูรณ์ ของจังหวัดชัยภูมิ ปัจจุบันมีการส่งออกไปยังตลาดต่างประเทศที่สำคัญ คือ ประเทศญี่ปุ่น สามารถสร้างรายได้ปีละไม่ต่ำกว่า 40 ล้านบาท โดยภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีแนวทางที่จะส่งเสริมการจัดทำระบบควบคุมคุณภาพสินค้าเพื่อสร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้บริโภคและขยายช่องทางการตลาดอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้กรมทรัพย์สินทางปัญญา ประกาศให้ขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) ” กล้วยหอมทองหนองบัวแดง” เมื่อ 24 มีนาคม พ.ศ.2566
การปลูก
(1) ใช้หน่อพันธุ์ที่มีคุณภาพในจังหวัดชัยภูมิ มีลักษณะแข็งแรงสมบูรณ์ ไม่เป็นโรคหรือไม่มีแมลงรบกวน
(2) เตรียมพื้นที่ และปรับปรุงดินด้วยจุลินทรีย์และปุ๋ยหมักอินทรีย์ หรือตามความเหมาะสมของพื้นที่
(3) ขุดหลุมขนาด 30 x 30 x 30 เซนติเมตรโดยประมาณ และใส่ปุ๋ยคอกรองก้นหลุมก่อนทำการปลูกนำหน่อพันธุ์วางไว้ในหลุมปลูก จากนั้นกลบดินให้เสมอกับปากหลุม ทั้งนี้ระยะปลูกระหว่างหน่อควรห่าง 1 – 2 เมตร หรือตามความเหมาะสมของพื้นที่
การดูแลรักษา
(1) ควรผลิตกล้วยหอมทองแบบไม่ใช้สารเคมี โดยปรับปรุงดินด้วยจุลินทรีย์และปุ๋ยหมัก
(2) ควรตัดใบที่เหี่ยวแห้งทิ้งเป็นประจำ ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ต้นกล้วยเกิดโรคและมีแมลง โดยแต่งหน่อเลือกเฉพาะหน่อที่แข็งแรงไว้ 1 – 2 หน่อ และตัดหญ้าหรือดายหญ้าเป็นประจำ
(3) ให้น้ำเป็นประจำโดยเฉพาะในช่วงฤดูแล้งโดยสูบน้ำเข้าไปในร่องหรือใช้สปริงเกอร์รดน้ำให้ต้นกล้วย
(4) เมื่อกล้วยออกเครือใช้ไม้ไผ่หรือวัสดุแท่งยาวค้ำยันต้นกล้วย เพื่อป้องกันการล้ม
(5) บันทึกการเพาะปลูกลงในกิจกรรมแปลง
การเก็บเกี่ยว
ควรเก็บเกี่ยวเมื่อผลกล้วยสุกร้อยละ 70 – 80 สำหรับส่งออกไปจำหน่ายยังต่างประเทศ และผลสุกร้อยละ 80 -90 สำหรับส่งจำหน่ายภายในประเทศ หรือตามความเหมาะสมของระยะเวลาที่ใช้ในการขนส่งก่อนถึงผู้บริโภค
ลักษณะภูมิประเทศ
อำเภอหนองบัวแดง อำเภอเกษตรสมบูรณ์ และอำเภอภักดีชุมพล ของจังหวัดชัยภูมิ เป็นพื้นที่ราบสลับกับเนินเขาเตี้ยๆ จนถึงพื้นที่แบบค่อนข้างราบและราบลุ่มริมฝั่งน้ำจนถึงพื้นที่ราบลอนลึกและภูเขา มีภูเขาสูงสลับซับซ้อน พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นป่าไม้ที่มีความอุดมสมบูรณ์โดยเฉพาะ “ภูคิ้ง” เป็นยอดเขาที่สูงที่สุด มีความสูงประมาณ 1,300 เมตรจากระดับน้ำทะเล พื้นที่เหล่านี้เป็นที่ตั้งของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว (ทุ่งกะมัง) และมีภูเขาที่สำคัญอื่นๆ เช่น ภูเขาพังเหย ภูเขาพญาฝ่อ เป็นต้น อีกทั้งยังเป็นพื้นที่ป่าไม้ที่เป็นแหล่งต้นน้ำขนาดใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศไทย ปัจจุบันได้รับการประกาศเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำนานาชาติ (International Wetland)ตามสนธิสัญญาแรมชาร์
สภาพภูมิประเทศ มีลำน้ำสายสำคัญไหลผ่าน ได้แก่ “ลำน้ำพรม” ลำน้ำสายนี้ถือเป็นเส้นเลือดหล่อเลี้ยงชาวชัยภูมิตอนบนเกือบทุกอำเภอและเป็นลำน้ำสาขาของน้ำพอง และมีลำน้ำสำคัญอื่นๆ เช่น ลำน้ำชี ลำน้ำเจียง ลำน้ำเจา เป็นต้น ลักษณะดินเป็นดินร่วนปนทราย ทำให้มีการระบายน้ำที่ดี เหมาะแก่การทำการเกษตรเป็นอย่างยิ่ง ทรัพยากรดินส่วนใหญ่ในพื้นที่เป็นดินร่วนปนทราย มีการระบายน้ำได้ดี ปฏิกิริยาของดินเป็นกรดเล็กน้อย ซึ่งเป็นปัจจัยที่เหมาะสมสำหรับการเจริญเติบโตของกล้วย โดยเฉพาะมีโพแทสเซียมที่เป็นประโยชน์อยู่ในระดับปานกลาง – สูง ส่งผลให้กล้วยมีเนื้อแน่น เหนียว นุ่ม มีรสชาติหวานนุ่ม และมีเปลือกหนา ทำให้ยากต่อการช้ำของเนื้อกล้วย ส่งผลให้ง่ายต่อการขนส่ง โดยเฉพาะการส่งออกไปสู่ตลาดต่างประเทศ ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ที่โดดเด่น แตกต่างจากกล้วยที่ปลูกจากพื้นที่อื่น
ลักษณะภูมิอากาศ
มีลักษณะอากาศร้อนชื้น อยู่ในภูมิอากาศแบบมรสุมเขตร้อนมี 3 ฤดู โดยระยะเวลาในแต่ละฤดู อาจคลาดเคลื่อนไปตามสภาพดินฟ้าอากาศของแต่ละปี มีอากาศหนาวจัดในฤดูหนาว ร้อนจัดในฤดูร้อน และช่วงฝนสลับกับช่วงแห้งแล้งแตกต่างกันอย่างชัดเจนตามห้วงเวลามฤดูกาล ดังนี้
ฤดูหนาว ประมาณเดือน พฤศจิกายน – กุมภาพันธ์ ในช่วงนี้อุณหภูมิค่อนข้างหนาวเย็น และมีปริมาณน้ำฝนน้อย
ฤดูร้อน ประมาณเดือน มีนาคม – พฤษภาคม อากาศจะร้อนอบอ้าว ทั่วทุกเขตพื้นที่ของจังหวัด เพราะระยะนี้เป็นช่วงปลอดลมมรสุม เดือนที่มีอากาศร้อนที่สุด คือเดือนเมษายน
ฤดูฝน ประมาณเดือน มิถุนายน – ตุลาคม และในเดือนกันยายน จะมีปริมาณน้ำฝนมากที่สุด
ประวัติความเป็นมา
เมื่อปี พ.ศ. 2528 นายอุดมศักดิ์ เพิ่งจันดา ได้นำกล้วยหอมทอง พันธุ์กาบดำ มาจากอำเภอพัฒนานิคม จังหวัดลพบุรี มาทดลองปลูกในพื้นที่จำนวน 1 ไร่ ณ บ้านหัวนาคำ ตำบลถ้ำวัวแดง อำเภอหนองบัวแดง จังหวัดชัยภูมิ เมื่อผลผลิตเริ่มออกพบว่าเป็นกล้วยหอมที่มีเปลือกหนา เนื้อนุ่ม รสชาติดี จึงได้เริ่มมีการทดลองขายในตลาดชุมชน และผู้บริโภคเริ่มมีความต้องการเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ต่อมาปี พ.ศ. 2534 ได้มีสมาชิกในชุมชนบ้านหัวนาคำ ขอพันธุ์กล้วยหอมทอง จากนายอุดมศักดิ์เพื่อไปปลูกเพิ่มขึ้น จึงมีหน่วยงานต่างๆในพื้นที่เข้าไปส่งเสริมการปลูกและการตลาดให้กับชุมชน และในปี พ.ศ. 2552 บริษัท แพนแปซิฟิค ฟู้ด คอร์ปอเรชัน จำกัด ได้เข้ามาดูพื้นที่ปลูกโดยได้วิเคราะห์ข้อมูลทางภูมิศาสตร์ ดิน แหล่งน้ำ ภูมิอากาศในพื้นที่มีความอุดมสมบูรณ์ ส่งผลต่อคุณลักษณะ กล้วยหอมทอง จึงได้แนะนำให้เกษตรกรทำการรรรวมกลุ่ม เพื่อจะได้พัฒนาในการผลิตเพื่อการส่งออกได้ จึงเกิดการค่อยๆ รวมกลุ่มกันขึ้นในปี พ.ศ. 2554 ได้จดทะเบียนเป็นกลุ่มวิสาหกิจชุมชนปลูกกล้วยหอมทอง เพื่อการส่งออกหนองบัวแดง จัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2554 มีสมาชิกแรกเริ่มจำนวน 18 คน เป็นเครือข่ายกลุ่มผู้ปลูกกล้วยหอมทองปลอดภัย ต่อมาในปี พ.ศ.ศ. 2560 ได้มีการรวมกลุ่มผลิตในรูปแบบกลุ่มวิสาหกิจชุมชนแปลงใหญ่กล้วยหอมทอง ตำบลถ้ำวัวแดง มีสมาชิกเกษตรกรประมาณ 34 ราย พื้นที่รวม 220 ไร่ ได้รับมาตรฐานGAP (Good Agricultural Practice) และมีโรงงานคัดแยกแปรรูปที่ได้มาตรฐาน GMP (Good Manufacturing Practice) ปัจจุบันมีการขยายเครือข่ายสมาชิกปลูกเพิ่มขึ้นเพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการของตลาดในพื้นที่อำเภอหนองบัวแดง อำเภอภักดีชุมพล อำเภอเกษตรสมบูรณ์ โดยสมาชิกทุกรายที่ปลูกจะต้องนำกล้วยไปส่งที่โรงงานคัดแยกกลุ่มที่บ้านหัวนาคำ การผลิตกล้วยหอมทองหนองบัวแดง มีการดำเนินงานในรูปแบบคณะกรรมการโดยวางแผนการผลิตและการตลาดอย่างเป็นระบบ มีตลาดทั้งในและต่างประเทศ โดยตลาดในประเทศจำหน่ายประมาณ 1,000 – 2,000 กิโลกรัม/สัปดาห์ และมีการส่งไปยังประเทศญี่ปุ่น ประมาณ 3,000 – 5,000 กิโลกรัม/สัปดาห์ผ่านทางเรือขนส่งสินค้า ด้วยเอกลักษณ์ของกล้วยหอมทองหนองบัวแดงมีเปลือกที่หนา ทำให้ยากต่อการซ้ำ
ของเนื้อกล้วย ส่งผลให้ง่ายต่อการขนส่ง โดยเฉพาะการส่งออกไปสู่ตลาดต่างประเทศ
ทั้งนี้ กล้วยหอมทองหนองบัวแดง ถือได้ว่าเป็นพืชเศรษฐกิจหุบเขาเกษตรอินทรีย์จังหวัดชัยภูมิ และสอดรับกับแผนพัฒนาจังหวัดชัดชัยภูมิที่มุ่งเน้นการพัฒนาจังหวัดชัยภูมิให้เป็นเมืองแห่งเกษตรอินทรีย์ในอนาคต เป็นพืชที่สร้างรายได้ให้กับพื้นที่จังหวัดชัยภูมิปีละไม่ต่ำกว่า 40,000,000 บาท