สมุนไพรประจำบ้าน “ฟักข้าว”ลดความเสี่ยงของการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ และโรคมะเร็ง

ภายใต้สภาวะเศรษฐกิจสังคมที่บีบรัดและแข่งขันเช่นทุกวันนี้ คนไทยคงต้องตระหนักถึงการประหยัดและพอเพียงมากขึ้น สุขภาพของคนในครอบครัวเป็นปัจจัยสำคัญหนึ่งที่ต้องเอาใจใส่ เพราะมีค่าใช้จ่ายสูงมากหากเจ็บป่วย

วิธีดูแลสุขภาพ ได้แก่ การออกกำลังกาย ลดความเครียด รับประทานอาหารสุขภาพ หลีกเลี่ยงความเสี่ยงต่างๆ การใช้สารธรรมชาติและการใช้พืชสมุนไพร นับเป็นอีกทางเลือกที่ใช้ในการดูแลสุขภาพ

อย่างไรก็ตาม ก่อนการใช้สมุนไพรทุกครั้งควรศึกษาให้เข้าใจเกี่ยวกับสรรพคุณ ขนาด ปริมาณ และวิธีการใช้อย่างถูกต้องเพื่อให้ได้ผลดีในการรักษา และดูแลสุขภาพ

******

“ฟักข้าว” เป็นผักพื้นบ้านโบราณที่มีการนำมาใช้ประกอบอาหารในครัวเรือนมานาน พบทุกภูมิภาคของประเทศ ลักษณะเป็นไม้เถาเลื้อยขนาดใหญ่ ผลมีลักษณะกลมรีที่เปลือกมีหนามเล็ก อยู่รอบผล ผลอ่อนจะมีสีเขียวอมเหลือง แต่เมื่อสุกแล้วผลจะมีสีแดงหรือสีส้มอมแดง ผลสุกเนื้อจะเป็นสีเหลือง ฟักข้าวสามารถนำมารับประทานได้ ตั้งแต่ยอดอ่อน ใบอ่อน และผล ฟักข้าวมีสารอาหารที่สำคัญ คือ เบต้าแคโรทีนและไลโคปีน อยู่ที่เยื่อหุ้มเมล็ดของฟักข้าว มีสรรพคุณในการต้านอนุมูลอิสระ ลดความเสี่ยงของการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ และโรคมะเร็ง รวมทั้งช่วยเสริมภูมิคุ้มกันให้ร่างกาย

ฟักข้าว

การขยายพันธุ์และการปลูก

“ฟักข้าว” นิยมขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ด ทำได้โดยนำเมล็ดแช่น้ำทิ้งไว้1 คืน เมล็ดจะอิ่มน้ำหรือจะกะเทาะเปลือกแข็ง ๆ ออก เพื่อช่วยให้เมล็ดงอกได้ง่ายและเร็วขึ้น จากนั้นวางเมล็ดลงบนดินเพาะ ปลูกที่โปร่ง ชุ่มชื้น แต่ไม่แฉะ กลบดินบาง ๆประมาณ 2-3เซนติเมตร รดน้ำ ให้ชุ่ม ระวังอย่าให้ดินแห้ง พอเมล็ดแตกใบจริงออกมา 3-4 ใบ จึงนำไปลงแปลงปลูก การปลูกสามารถทำได้หลายรูปแบบ เช่น ปลูกขึ้นต้นไม้ตามธรรมชาติ หรือขึ้นตามรั้วบ้าน ในลักษณะค้างแบบแถวเดียว หรือทำค้างแบบหลังคา การเตรียมค้างปลูกแบบหลังคา ทำค้าง ให้มีหน้ากว้างประมาณ 3-4 เมตร สูงประมาณ 1.80 เมตร กางตาข่ายเพื่อให้เถาฟักข้าวเลื้อยเกาะค้างส่วนบน เป็นพื้นที่เลื้อยของเถา

ฟัก.jpg1

การดูแลรักษา

เมื่อต้นฟักข้าวเจริญเติบโต ควรมีการตัดแต่งและควบคุมทรงต้น โดยดูแลตัดกิ่งข้างที่งอกจากต้นหลักออกให้หมด รวมทั้งต้องมัดเถาให้เลื้อยขึ้นตั้งตรงอยู่ตลอดเวลา หลังจากต้นเจริญถึงค้างแล้ว ให้ตัดยอดบังคับให้แตกเถาใหม่ 3-4 กิ่ง จากนั้นจัดเถาให้กระจายออกไปโดยรอบต้นทั่วพื้นที่ของค้าง และควรตัดยอดของเถาอีกครั้งเมื่อยาวพอสมควรเพื่อช่วยให้แตกยอดมากขึ้น นอกจากนี้หลังเก็บเกี่ยวผลผลิต ควรมีการตัดแต่งกิ่ง โดยเลือกตัดแต่งกิ่งที่ตาย กิ่งไม่สมบูรณ์ เพื่อทำให้ทรงพุ่มโปร่ง และทำให้กิ่งที่เหลือมีการเจริญเติบโตได้เต็มที่

ฟักข้าว1

การเก็บเกี่ยว

การเก็บเกี่ยวผลสุกเพื่อบริโภค ให้เก็บเกี่ยวเมื่อเปลือกผลเปลี่ยนเป็นสีแดง ผลที่แก่เริ่มสุกเนื้อในผลมีสีเหลือง สามารถใช้บริโภคสดหรือแปรรูปได้ ฟักข้าวมีขั้วผล ค่อนข้างเหนียว การเก็บผลควรใช้มีดคมตัด กรณีค้างสูง ควรเก็บด้วยตะกร้อ และควรรองพื้นตะกร้อด้วยกระดาษหนังสือพิมพ์ก่อนเพื่อไม่ให้ผลช้ำ เก็บรักษาผลฟักข้าวในตู้เย็นควรห่อกระดาษเพื่อลดการคายความชื้น จะสามารถชะลอการสุกได้ประมาณ 2-4 สัปดาห์

ฟักข้าว 1

การใช้ประโยชน์ในครัวเรือน

ผลฟักข้าวสดแปรรูปเป็นน้ำฟักข้าวโดยการนำเนื้อฟักข้าวและเยื่อหุ้มเมล็ดมาปั่นให้เป็นเนื้อเดียวกัน เติมน้ำเสาวรสหรือน้ำ ผลไม้อื่นที่มีรสเปรี้ยวลงไป ต้มน้ำ ละลายน้ำตาลให้เดือด นำน้ำฟักข้าวใส่ลงไปคนให้เป็นเนื้อเดียวกัน เมื่อเดือดได้ที่ให้ยกลง นำ มารับประทานได้ นอกจากนี้ยอดและผลอ่อน นำไปต้มเป็นผัก รับประทานกับน้ำพริกแกงแค แกงส้ม แกงเลียง เป็นต้น