ปลูกสมุนไพรติดบ้านไว้ ดีอย่างไร ?
-ปลูกไว้ใช้เวลาฉุกเฉินใช้บรรเทาอาการเจ็บป่วยเบื้องต้น ทำให้ประหยัดค่ารักษา แบ่งเบาภาระทางเศรษฐกิจ เป็นการดูแลสุขภาพพื้นฐานของคนทั้งครอบครัว
-มีวิธีใช้ที่ง่าย ได้สรรพคุณทางยาครบถ้วน หากปลูกและใช้ถูกวิธี ไม่มีผลร้ายข้างเคียง สมุนไพรที่ใช้ปลอดภัย ไม่ปนเปื้อนสารเคมี จุลินทรีย์ หรือเชื้อรา
-เป็นซุปเปอร์มาร์เก็ตในบ้าน ทั้งประกอบอาหารเป็นเครื่องปรุง เป็นเครื่องดื่ม ใช้ไล่ยุงและแมลงในแปลงปลูกพืชและในบ้านเรือน ใช้กับสัตว์เลี้ยง หรือจะใช้เป็นไม้ประดับสวยงาม ทำสวนสวยก็ได้
ก่อนจะลงมือปลูกพืชสมุนไพร จะต้องรู้อะไรบ้าง ?
–ต้องรู้จักชื่อพืชสมุนไพร เรียกให้ถูกชื่อ ถูกต้น ระวังชื่อพ้อง ข้อนี้สำคัญมากอย่าใช้ผิดต้น
–เลือกชนิดที่เหมาะกับบ้าน และความต้องการบริโภคและใช้ของคนในครอบครัว
–รู้จักธรรมชาติของพืช ต้องการแสงหรือร่มเงา ชอบขึ้นมากน้อย ต้องการน้ำมากน้อย เติบโตได้ดีในดินแบบใด
–เตรียมดินให้ดี ตากดินใส่ปุ๋ยคอกหรือหมักซึ่งต้องย่อยสลายแล้ว ปรับปรุงดินให้มีความอุดมสมบูรณ์ หากปลูกในภาชนะ
ดินหรือวัสดุปลูกต้องโปร่งร่วนซุย หากเป็นภาชนะแขวนต้องให้มีน้ำหนักเบา
–ต้องรู้จักลักษณะของพืช ไม้ยืนต้น ขนาดเล็ก ใหญ่ กลาง, ไม้ล้มลุกหรือประเภทหัว, ไม้เลื้อย หรือเถา ขนาดเล็ก ใหญ่ หรือไม้พุ่ม
–รู้วิธีขยายพันธุ์ เมล็ดขนาดใหญ่ ปลูกลงดินโดยหยอดหลุมหรือเพาะในถุงดำ ส่วนเมล็ดขนาดเล็ก เพาะกล้า
ในภาชนะแล้วย้ายกล้าปลูกหรือใช้วิธีหว่าน
รู้วิธีเก็บเกี่ยวสมุนไพรไปใช้ให้ถูกส่วน เพราะสารสำคัญออกฤทธิ์หรือตัวยาในแต่ละส่วนของพืชมีความแตกต่างกัน รู้ระยะเก็บเกี่ยวไปใช้ให้ถูกอายุพืชเพราะตัวยาที่ได้จากส่วนต่าง ๆของพืช มีมากน้อยแตกต่างกันตามระยะการเจริญเติบโตของพืช
พืชสมุนไพรที่แนะนำให้ปลูกติดบ้านไว้ มีอะไรบ้าง ?
กระเจี๊ยบแดง : แก้ร้อนใน กระหายน้ำ ป้องกันการจับตัวของไขมันในเส้นเลือด
ขมิ้นชัน : แก้ท้องอืด ท้องเฝ้อ ท้องร่วง รักษาแผลในกระเพาะอาหาร
ชุมเห็ดเทศ : (ดอก) เป็นยาระบาย บรรเทาอาการท้องผูก
: (ใบ) ชะล้างบริเวณที่เป็นฝี และแผลพุพอง
ตะไคร้หอม : (ใบ) ป้องกันยุง ดับกลิ่นไม่พึงประสงค์
บัวบก : แก้ร้อนใน อ่อนเพลีย บำรุงกำลัง สมานแผล
ฟ้าทะลายโจร : บรรเทาการเจ็บคอ ท้องเสีย(แบบไม่ติดเชื้อ)
มะขามป้อม : แก้ไอ ทำให้ชุ่มคอ ขับเสมหะ
รางจืด : ล้างพิษออกจากร่างกาย
ว่านหางจระเข้ : รักษาแผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวก บำรุงเส้นผม รักษาแผลบนหนังศีรษะ
หญ้าหนวดแมว : ขับปัสสาวะ ขับนิ่ว แก้โรคไต กระเพาะปัสสาวะอักเสบ
อัญชัน : ทำให้ผมดกดำ เงางาม ลดน้ำตาตาลในเลือด ทำให้ระบบโลหิตไหลเวียนได้ดีขึ้น
การใช้สมุนไพรอย่างให้ได้ผลดีที่สุด ?
สมาคมเภสัชและอายุรเวชโบราณแห่งประเทศไทย ได้ระบุถึงหลักการใช้ยาสมุนไพรต้องใช้อย่างมีความรู้ โดยยึดหลักดังต่อไปนี้
–ใช้ให้ถูกต้น สมุนไพรส่วนใหญ่ชื่อพ้องหรือซ้ำกันมากแล้ว แต่ละท้องถิ่นก็อาจเรียกชื่อแตกต่างกัน ทั้งๆ ที่เป็นพืชชนิดเดียวกัน หรือบางครั้งชื่อเหมือนกัน แต่เป็นพืชคนละชนิดเพราะฉะนั้นจะใช้สมุนไพรอะไรก็ต้องใช้ให้ถูกต้นจริงๆ
–ใช้ถูกส่วน พืชสมุนไพรไม่ว่าราก ดอก ใบ เปลือก ผล หรือเมล็ด จะมีฤทธิ์ในการรักษาหรือบำบัดโรคไม่เท่ากัน แม้กระทั่งผลอ่อน หรือผลแก่ก็มีฤทธิ์แตกต่างกัน ดังนั้น การน่ามาใช้ก็ต้องมีความรู้จริงๆ
–ใช้ให้ถูกขนาด ธรรมชาติของยาสมุนไพร คือ หากใช้น้อยไป ก็จะรักษาไม่ได้ผล แต่ถ้าใช้มากไปก็อาจเกิดอันตรายต่อร่างกายได้เช่นกัน
-ใช้ให้ถูกวิธี สมุนไพรที่จะนำมาใช้ บางชนิดต้องใช้ต้นสด บางชนิดต้องผสมกับเหล้า บางชนิดใช้ต้มหรือชง ซึ่งหากใช้ไม่ถูกต้องก็ไม่เกิดผลในการรักษา
ใช้ให้ถูกโรค เช่น มีอาการท้องผูก ก็ต้องใช้สมุนไพรที่มีฤทธิ์เป็นยาระบาย ถ้าไปใช้สมุนไพรที่มีรสฝาด จะทำให้ท้องยิ่งผูกมากขึ้น
หากใช้สมุนไพรไม่ถูกต้อง จะเกิดอันตรายอย่างไรบ้าง ?
1.การหยุดยารักษาโรคเเผนปัจจุบัน แล้วหันมารักษาด้วยสมุนไพรแทน จะทำให้โรคที่เป็นอยู่ขาดการรักษาและกำเริบได้เนื่องจากสมุนไพรอาจไม่มีประสิทธิภาพในการรักษาโรค เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน หรือโรคหืด
2.สมุนไพรบางชนิด มีสารที่เป็นพิษต่อร่างกายโดยตรง เช่น ผลของมะเกลือสุกสีดำจะมีสารพิษต่อประสาทตา ทำให้ตาบอด หรือใบยี่โถ มีสารพิษที่ทำให้หัวใจเต้นช้าลง และหยุดเต้นได้
3.สมุนไพรหลายชนิด มีสารเจือปนที่เป็นอันตราย ซึ่งสารเจือปนในสมุนไพรหากได้รับในปริมาณมากหรือนานเกินไปก็จะส่งผลเสียต่อสุขภาพ เช่น สารหนู สเตียรอยด์ สารปรอท สารตะกั่ว เป็นต้น ซึ่งสารเหล่านี้อาจมาจากสมุนไพรโดยตรง หรือถูกเติมเข้ามาในขั้นตอนของการผลิต
4.สมุนไพร อาจทำให้เกิดอาการแพ้ อาการไม่พึงประสงค์ หรือทำให้ยาที่ใช้เป็นประจำเพิ่มหรือลดระดับได้
5. สมุนไพรอาจก่อเกิดอาการข้างเคียงและมีอันตราย โดยเฉพาะในผู้ที่มีโรคประจำตัว ได้แก่โรคไต โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคไขมันในเลือดสูง โรคมะเร็ง โรคเกาต์ ทำให้ไตเสื่อม ไตวาย เกิดนิ่วที่ไต น้ำท่วมปอด หัวใจเต้นผิดจังหวะ ร้ายแรงถึงเสียชวิตได้ ดังนั้นผู้ที่มีโรคประจำตัวควรปรึกษาแพทย์ทุกครั้งก่อนกินยาสมุนไพร
หลักการในการใช้สมุนไพรที่ถูกต้อง มีอะไรบ้าง ?
1.ถ้าเป็นโรคที่ยังพิสูจน์ไม่ได้แน่ชัดว่ารักษาด้วยสมุนไพรได้ดี ไม่ควรรักษาด้วยสมุนไพร เช่น งูพิษกัด สุนัขบ้ากัด โรคบาดทะยัก กระดูกหัก วัณโรค เบาหวาน เป็นต้น
2.กลุ่มอาการบางอย่างที่บ่งชี้ว่า อาจจะเป็นโรคร้ายแรงที่จำเป็นต้องรักษาอย่างรีบด่วน เช่นไข้สูง ซึม ไม่รู้สึกตัว ปวดอย่างรุนแรง อาเจียนเป็นเลือด ตกเลือดจากช่องคลอด ท้องเดินอย่างรุนแรงหรือคนไข้เป็นเด็กและสตรีมีครรภ์ ควรรีบปรึกษาแพทย์ แทนการรักษาด้วยสมุนไพร
3.การใช้ยาสมุนไพรนั้น ควรค้นคว้าจากตำราหรือปรึกษาผู้รู้ โดยใช้ให้ถูกต้น ใช้ให้ถูกส่วน ใช้ให้ถูกขนาด ใช้ให้ถูกวิธี ใช้ให้ถูกโรค และใช้ให้ถูกคนด้วย
4.ไม่ควรใช้สมุนไพรติดต่อกันเป็นเวลานานๆ เพราะพิษอาจจะสมได้ เมื่อใช้ยาหลายสัปดาห์ อาการไม่ดีขึ้นควรปรึกษาแพทย์
5.ถ้ามีอาการพิษที่เกิดขึ้นจากยาสมุนไพร ควรรีบหยุดยาโดยเร็ว