“ลำไยอบแห้งเนื้อสีทองลำพูน” หมายถึง ลำไยอบแห้งที่มีสีเหลืองทอง เนื้อหนา แห้งสนิทไม่ติดกัน มีรสชาติหวาน และมีกลิ่นหอมเป็นเอกลักษณ์เฉพาะ ซึ่งเป็นลำไยพันธุ์ดอที่ปลูกและผ่านกรรมวิธีการอบแห้งในเขตพื้นที่จังหวัดลำพูน ทั้งนี้กรมทรัพย์สินทางปัญญา ประกาศให้ขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ ( GI) “ลำไยอบแห้งเนื้อสีทองลำพูน” เมื่อ 27 ธ.ค. พ.ศ. 2559
ลักษณะภูมิประเทศ
ลำพูน มีพื้นที่ทั่วไปเป็นที่ราบหุบเขา จึงทำให้มีอากาศอบอุ่นตลอดปี ประกอบกับปริมาณฝนอยู่ในเกณฑ์ที่ต่ำ นอกจากนี้สภาพพื้นดินเป็นร่วนปนทรายและดินตะกอน เนื่องจากอยู่ในลุ่มน้ำใหญ่หลายสาย เรียกได้ว่าเป็นพื้นที่ “ดินน้ำไหลทรายมูล” ซึ่งทำให้ต้นลำไยเจริญเติบโตได้ดี ดังนั้นลำพูน จึงเหมาะสำหรับการปลูกลำไยพันธุ์ตอที่มีคุณภาพมากกว่าพื้นที่อื่นๆ โดยมีเปลือกบาง เนื้อหนาและไม่ฉ่ำน้ำ สีขาวใส เมล็ดเล็ก มีรสหวาน และมีกลิ่นหอม ซึ่งเหมาะสมอย่างยิ่งสำหรับวัตถุดิบในการผลิตลำไยอบแห้งเนื้อสีทองลำพูน
ประวัติความเป็นมา
ลำไยมีถิ่นกำเนิดในเขตร้อนและกึ่งร้อนของเอเซีย เข้าสู่ประเทศไทยในสมัยรัชกาลที่ 5 โดยมีชาวจีนนำพันธุ์ลำไยมาถวายพระราชชายาเจ้าดารารัศมี ต่อมามีการขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ดจนเกิดการกลายพันธุ์เป็นพันธุ์ใหม่ที่เหมาะสมกับลักษณะภูมิอากาศและภูมิประเทศ โดยเฉพาะจังหวัดลำพูนที่มีสภาพภูมิประเทศและอากาศที่เหมาะสมกับการเจริญเติบโตของลำไยจนเกิด “ลำไยต้นหมื่น” ที่บ้านหนองช้างคืนอำเภอเมืองลำพูน จนได้ชื่อว่าเป็นถิ่นกำเนิดของลำไยพันธุ์ดี มีพื้นที่ปลูกลำไยมาก ผู้คนที่รู้จักลำพูน ต้องกล่าวขานกันว่า ลำพูนคือลำไย และลำไยคือลำพูน และมีคำขวัญประจำจังหวัดที่ว่า “พระธาตุเด่น พระรอดขลัง ลำไยดัง กระเทียมดี ประเพณีงาม จามเทวีศรีหริภุญไชย” แสดงให้เห็นว่า ลำไยเป็นผลไม้ที่สำคัญของจังหวัดมากกว่า 100 ปี อีกทั้ง ในการจัดประเพณีต่างๆ ของคนในจังหวัดลำพูนหรือประเพณี จะต้องมีการนำอาหารแห้งหรือผลไม้เข้ามาประกอบซึ่งจะขาดลำไยไม่ได้เสมือนกับลำไยเป็นสิ่งบ่งบอกสัญลักษณ์วิถีชีวิตความเป็นอยู่เคียงคู่ของคนลำพูนอย่างแท้จริง