“ปลิงทะเลเกาะยาว” หรือ Koh Yao Sea Cucumber หรือ Pling Thale Koh Yao หมายถึง ปลิงทะเลสด ปลิงทะเลพร้อมปรุง และปลิงทะเลแห้ง ผลิตจากปลิงทะเลสายพันธุ์ปลิงขาว ซึ่งมีลำตัวเป็นทรงกระบอกขนาดใหญ่ ตัวยาว เนื้อแน่น หนา เพาะเลี้ยงในบ่อดินในพื้นที่อำเภอเกาะยาว และแปรรูปตามภูมิปัญญาชุมชน ครอบคลุมพื้นที่จังหวัดพังงา ทั้งนี้กรมทรัพย์สินทางปัญญา ประกาศให้ขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ ( GI) ” ปลิงทะเลเกาะยาว” เมื่อ 15 ก.พ. 2567
กระบวนการผลิต
วัตถุดิบ
ลูกพันธุ์ปลิงทะเลเกาะยาว ต้องเป็นพันธุ์ปลิงขาวที่ได้มาจากธรรมชาติในพื้นที่บริเวณทะเลฝั่งอันดามันหรือได้จากการเพาะพันธุ์หรืออนุบาลจากแหล่งเพาะพันธุ์ที่เชื่อถือได้ เช่น ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งพังงา หรือหน่วยงานภายใต้สังกัดกรมประมง หรือสถาบันการศึกษาที่เกี่ยวข้อง เป็นต้น โดยลักษณะลูกพันธุ์ปลิงทะเลที่ดี ต้องมีความแข็งแรง ไม่มีอาการตัวเปื่อย หรือขับอวัยวะภายในออกมา
การเลี้ยงปลิงทะเล
(1) ปลิงทะเลเกาะยาวต้องเลี้ยงในบ่อดินในพื้นที่อำเภอเกาะยาว ซึ่งใช้เลี้ยงสัตว์น้ำอยู่เดิมหรือขุดขึ้นใหม่ก็ได้โดยพื้นบ่อมีลักษณะเป็นดินเลนปนทราย มีประตูน้ำหรือทางเชื่อมต่อให้น้ำทะเลไหลเข้าออกหมุนเวียนในบ่อได้
(2) นำลูกพันธุ์ปลิงทะเลที่ได้มาจากธรรมชาติหรือจากการมพาะทันธุ์มาปล่อยองในบ่อคืน
(3) ตรวจสอบและปรับระดับความเค็มของน้ำในบ่อดิน ให้ระดับความเค็มไม่ต่ำกว่า 25 ppt
(4) เมื่อปลิงทะเลมีน้ำหนักตัวไม่น้อยกว่า 500 กรัม สามารถจับขึ้นมาจำหน่ายหรือทำการแปรรูปได้
ลักษณะภูมิประเทศ
พื้นที่เพาะเลี้ยงปลิงทะเลเกาะยาว ครอบคลุมพื้นที่อำเภอเกาะยาว จังหวัดพังงา โดยอยู่ระหว่างเส้นละติจูดที่ 8 องศา 6 ลิปดา 42 ฟิลิปดาเหนือ และลองจิจูดที่ 98 องศา 35 ลิปดา 27 ฟิลิปดาตะวันออก เป็นเกาะที่ตั้งอยู่ในอ่าวพังงา ซึ่งเป็นอ่าวกึ่งปิดเพราะถูกล้อมรอบด้วยแผ่นดิน มีความหลากหลายทางชีวภาพสูง มีแนวหญ้าทะเล และแนวปะการังกระจายตัวอยู่ทั่วไป โดยเฉพาะบริเวณเกาะยาวใหญ่ และเกาะยาวน้อยมีแหล่งหญ้าทะเล ที่มีความหลากหลายของแพลงก์ตอนพืช แพลงก์ตอนสัตว์ สาหร่าย และสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กอื่นๆ
เป็นบริเวณที่สามารถพบปลิงทะเลได้ ซึ่งการเพาะเลี้ยงปลิงทะเลของเกาะยาว จะเลี้ยงในบ่อดินที่มีลักษณะเป็นดินเลนปนทราย บริเวณริมคลองมีการเชื่อมต่อกับทะเล โดยมีการทำประตูน้ำหรือต่อท่อน้ำให้น้ำให้น้ำทะเลไหลเข้าออกหมุนเวียนในบ่อได้และจะเลี้ยงรวมกับสัตว์น้ำเศรษฐกิจต่างๆ
ลักษณะดินของเกาะยาว เป็นกลุ่มชุดดินที่ 13 ชุดดินตะกั่วทุ่ง เนื้อดินเป็นดินร่วนถึงดินร่วนเหนียวปนทรายแป้ง ปนเศษพืช เหมาะสมกับการเป็นที่อยู่อาศัยและเพาะพันธุ์สัตว์น้ำ ตำแหน่งที่ตั้งมีระดับความสูงไม่เกิน 10 เมตร จากระดับทะเลปานกลาง น้ำทะเลจึงสามารถไหลเข้าออกได้ตามกระแสน้ำขึ้นลง จึงมีความเค็มอยู่ในช่วงประมาณตั้งแต่ 25 ppt ขึ้นไป เป็นระดับที่ปลิงทะเลสามารถเจริญเติบโตได้ดี ลักษณะกระแสน้ำเป็นกระแสน้ำอ่อนๆ ไม่รุนแรง กระแสน้ำขึ้น – ลง วันละ 2 ครั้ง ทำให้ได้รับอิทธิพลของน้ำขึ้นน้ำลงช่วยในการหมุนเวียนเปลี่ยนถ่ายน้ำ และทำให้มีปริมาณตะกอนเข้ามาสะสมจำนวนมากทั้งตะกอนดินและตะกอนทะเล ซึ่งตะกอนทะเลที่พบเป็นพวกตะกอนหยาบและเป็นทรายละเอียดปานกลาง ซึ่งเป็นขนาดอาหารที่เหมาะสมของปลิงทะเล พื้นที่บ่อเลี้ยงบริเวณเกาะยาวจึงเป็นแหล่งอาศัยที่เหมาะสมและเป็นแหล่งอาหารคุณภาพดี มีแพลงก์ตอนและสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กที่มาตามกระแสน้ำ อีกทั้งอยู่ใกล้แหล่งหญ้าทะเล ทำให้ได้สารอาหารจากการเน่าเปื่อยของหญ้าทะเลและซากสัตว์ที่เข้ามาอาศัยอยู่ในแหล่งหญ้าทะเลในรูปอินทรียสารด้วย ประกอบกับการเลี้ยงปลิงทะเลรวมกับสัตว์น้ำเศรษฐกิจอื่นๆ ทำให้ปลิงทะเลดูดกินอาหารจากหน้าดินในบ่อ รวมถึงอาหารและของเสียจากการเลี้ยงสัตว์น้ำด้วย
นอกจากนี้ปลิงทะเลจะอาศัยอยู่บริเวณก้นบ่อไม่เคลื่อนไหวร่างกายมากเท่ากับปลิงที่อยู่ในทะเล จึงไม่เกิดภาวะความเครียดที่ส่งผลต่อการเจริญเติบโตของร่างกาย
จากลักษณะดังกล่าว ทั้งลักษณะดินที่เป็นดินเลนปนทราย ตำแหน่งที่ตั้งสามารถหมุนเวียนน้ำทะเลจากอ่าวพังงาได้ตามกระแสน้ำขึ้นลง การอยู่ใกล้กับแหล่งหญ้าทะเล และลักษณะของกระแสน้ำที่น้ำที่ส่งผลให้มีตะกอนเข้ามาสะสมทั้งจากแผ่นดินและจากทะเล ทำให้มีปริมาณอาหารเพียงพอ รวมถึงขนาดของตะกอนที่มีความเหมาะสมประกอบกับวิธีการเพาะเลี้ยงที่เป็นภูมิปัญญาตั้งเดิมในการเลี้ยงปลิงทะเลรวมกับสัตว์น้ำอื่น ปัจจัยเหล่านี้ล้วนส่งผลให้เกิดความแตกต่างในเรื่องคุณภาพ และคุณลักษณะของปลิงทะเล ทำให้ปลิงทะเลเกาะยาวมีขนาดตัวใหญ่ เนื้อแน่น และตัวหนากว่าปลิงทะเลที่เลี้ยงด้วยวิธีอื่นๆ หรือจากแหล่งผลิตอื่น
ประวัติความเป็นมา
ในอดีตปลิงทะเลเป็นสัตว์น้ำที่มีอยู่จำนวนมากในอ่าวพังงา ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีความหลากหลายทางชีวภาพอันเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยที่สำคัญของปลิงทะเล ชาวประมงนิยมจับมาเพื่อใช้ปรุงอาหารรับประทานภายในครัวเรือน
ในปี พ.ศ. 2526 เป็นจุดเริ่มต้นในการเลี้ยงปลิงทะเลรวมกับปลาทะเลในบ่อดิน เนื่องจากชาวประมงจับปลิงได้ในปริมาณมากจึงเลือกนำปลิงทะเลตัวใหญ่ไปปรุงอาหาร และนำตัวเล็กไปโยนในบ่อเลี้ยงปลาเพื่อหวังให้เป็นอาหารปลา กลับพบว่าปลาไม่กินปลิงทะเล และทำให้ระบบนิเวศในบ่อเลี้ยงดีขึ้นด้วย ปลิงทะเลที่โยนทิ้งไว้เจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว มีขนาดลำตัวใหญ่ เนื้อแน่น และตัวหนา สร้างรายได้ให้กับชาวประมงเพิ่มขึ้นทำให้ชาวเกาะยาวเริ่มหันมาเพาะเลี้ยงปลิงทะเลในแบบของสัตว์น้ำเศรษฐกิจ ปลิงทะเลได้รับความนิยมในการนำมาใช้ประโยชน์มากขึ้น ทั้งเพื่อการบริโภคและใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตยา และอาหารเสริม เนื่องจากมีโปรตีนสูง มีกรดมิวโคโพลีแชคคาไรด์ ไกลโคลไซด์ ไตรเทอพีน โฮโลโทนิน มีสรรพคุณช่วยบำรุงร่างกาย รักษาอาการเจ็บป่วยภายใน เสริมสร้างภูมิคุ้มกัน จึงเป็นที่ต้องการอย่างมากของหลายประเทศ ทั้งแบบสดและแบบแห้ง
ต่อมาเมื่อวันที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2565 ผู้เพาะเลี้ยงและแปรรูปปลิงทะเลเกาะยาว ได้รวมตัวกันก่อตั้ง กลุ่มวิสาหกิจชุมชนปลิงทะเลมีดีที่เกาะยาว โดยได้รับการส่งเสริมและสนับสนุนจากหลายภาคส่วนทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และสถาบันการศึกษาในด้านการขยายพันธุ์ การเพิ่มศักยภาพการเพาะเลี้ยง ยกระดับการแปรรูปด้วยนวัตกรรม การขยายช่องทางการตลาด รวมถึงเชื่อมโยงเครือข่าย เพื่อขับเคลื่อนปลิงทะเลในมิติต่างๆ ส่งผลให้ ปลิงทะเลเกาะยาว มีชื่อเสียง เป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้น จึงนับได้ว่า “ปลิงทะเลเกาะยาว” เป็นสัตว์น้ำเศรษฐกิจที่มีศักยภาพ โดดเด่นสร้างรายได้ให้ชุมชน และสร้างชื่อเสียงให้กับจังหวัดพังา
ทั้งนี้ขอบเขตพื้นที่การเพาะเลี้ยงปลิงทะเลเกาะยาว ครอบคลุมพื้นที่อำเภอเกาะยาว จังหวัดพังงา และขอบเขตพื้นที่การแปรรูปปลิงทะเลเกาะยาวครอบคลุมพื้นที่จังหวัดพังงา