“ปลานิลกระชังแม่น้ำโขงหนองคาย” หรือ Nongkhai Tilapia fish cage Mekong River หรือ Planile krachang Maenamkhong NongKhai หมายถึง ปลานิลสายพันธุ์จิตรลดา มีลักษณะส่วนหัวเล็ก ริมฝีปากบนและล่างเสมอกัน มีลายพาดตามขวาง เมื่อปรุงสุกเนื้อมีสีขาว แน่นเป็นลิ่มและนุ่ม เนื่องจากมีไขมันแทรก รสชาติหวานไม่มีกลิ่นโคลน จำหน่ายในรูปแบบปลานิลสดและปลานิลแดดเดียว โดยผลิตและแปรรูปตามภูมิปัญญาของชุมชน ครอบคลุมเขตพื้นที่ 6 อำเภอของจังหวัดหนองคายที่แม่น้ำโขงไหลผ่าน ได้แก่ อำเภอสังคม อำเภอศรีเชียงใหม่ อำเภอท่าบ่อ อำเภอเมืองหนองคาย อำเภอโพนพิสัย และอำเภอรัตนวาปี ทั้งนี้กรมทรัพย์สินทางปัญญาประกาศให้ขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ ( GI ) ” ปลานิลกระชังแม่น้ำโขงหนองคาย” เมื่อ 30 พ.ย. 2566
กระบวนการผลิต
วัตถุดิบ
พันธุ์ปลานิล ต้องเป็นสายพันธุ์จิตรลดา จากเขตพื้นที่ 6 อำเภอ ของจังหวัดหนองคาย ได้แก่ อำเภอสังคม อำเภอศรีเชียงไหม อำเภอพาบอ อำเภอเมืองหนองคาย อำเภอโพนพิสัย และอำเภอรัตนวาปี ที่มีการแปลงเพศด้วยฮอร์โมน 17alfa-methyl testosterone หรือวิธีการอื่นใดตามหลักวิชาการให้เป็นเพศผู้แล้ว หรือได้พันธุ์มาจากแหล่งเพาะพันธุ์ที่เชื่อถือได้ เช่น ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืดหนองคายหรือกรมประมง เป็นต้น แล้วนำมาเพาะเลี้ยงในกระชังในแม่น้ำโขงในเขตพื้นที่ 6 อำเภอข้างต้น ตามคู่มือปฏิบัติงานสำหรับผู้ใช้สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ ปลานิลกระชังแม่น้ำโขงหนองคาย
การเตรียมกระชัง และการเลี้ยงปลานิล
(1) กระชังปลานิล ส่วนใหญ่มีลักษณะเป็นรูปสีเหลี่ยมผืนผ้า โดยใช้วัสดุ เช่น เหล็ก สแตนเลส หรือไม้ เป็นต้น สร้างเป็นโครงกระชัง ขนาด 3 x 6 x 2 เมตร ควรมีทุ่นลอยให้เหมาะสมกับขนาดของกระชัง โดยกระชังต้องสูงกว่าพื้นท้องน้ำไม่น้อยกว่า 1 เมตร มีความลึกประมาณ 1.5 – 2 เมตร มีพื้นที่โผล่พ้นน้ำประมาณ 30 – 50 เซนติเมตร หรือตามความเหมาะสม ขนาดตาอวนที่ใช้ทำกระชังจะต้องเหมาะสมกับขนาดปลาที่เลี้ยงเพื่อป้องกันไม่ให้ปลาหนีลอดออกไปได้ และเพื่อป้องกันไม่ไห้ปลาขนาดเล็กจากภายนอกเข้ามารบกวนหรือแย่งอาหารปลาในกระชัง รวมถึงจะต้องให้กระแสน้ำไหลผ่านได้สะดวก และไม่ควรวางกระชังในบริเวณที่มีกระแสน้ำแรง
(2)นำลูกพันธุ์ปลานิลอายุ 1 – 1.5 เดือน หรือที่มีขนาดไม่น้อยกว่า 7 – 12 เซนติเมตร ที่สมบูรณ์แข็งแรง ปล่อยเลี้ยงในกระชังในอัตรา 2,000 – 2,700 ตัวต่อกระชัง หรือตามความเหมาะสมของกระชัง การปล่อยลูกปลาควรปล่อยในช่วงเช้าหรือช่วงเย็น เนื่องจากอุณหภูมิของน้ำและอากาศไม่สูงมาก
(3) การให้อาหารปลาจะให้ตามความเหมาะสมของแต่ละช่วงวัย
(3.1) การเลี้ยงปลาวัยอ่อน อายุ 1- 1.5 เดือน ควรใช้อาหารที่มีโปรตีนสูงและให้อาหารวันละ 3 ครั้ง
(3.2) การเลี้ยงปลาวัยรุ่น อายุ 1.5 เดือนขึ้นไป ควรให้อาหารเม็ดชนิดลอยน้ำที่มีคาร์โบไฮเดรตและมีโปรตีนวันละ 2 เวลา (เช้า เย็น)
(4) ระยะเวลาการเลี้ยงจะอยู่ในช่วง 4 – 5 เดือน โดยใน 1 ปี สามารถเลี้ยงปลาได้ 2 รอบการผลิตคือ ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ – เดือนกรกฎาคม และช่วงเดือนสิงหาคม – เดือนธันวาคม หรือตามความเหมาะสม ซึ่งปลาที่จับเพื่อจำหน่ายหรือแปรรูป ต้องเป็นปลาตัวเต็มวัย มีขนาดตัวไม่น้อยกว่า 1 กิโลกรัม
ลักษณะภูมิประเทศ
จังหวัดหนองคาย เป็นจังหวัดที่อยู่ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย ตั้งอยู่ระหว่างเส้นละติจูด 17 องศา 52 ลิปดา 48 ฟิลิปดาเหนือ และลองจิจูดที่ 102 องศา 44 ลิปดา 30 ฟิลิปดาตะวันออก ลักษณะพื้นที่ส่วนใหญ่ของจังหวัดหนองคายเป็นพื้นที่ค่อนข้างราบ ทอดยาวขนานไปตามลำน้ำโขง โดยมีแม่น้ำโขงเป็นเส้นกั้นเขตแดนระหว่างราชอาณาจักรไทยกับสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ซึ่งแม่น้ำโขงที่ไหลผ่านจังหวัดหนองคายมีความยาวทั้งสิ้น 210 กิโลเมตร มีคุ้งน้ำที่กว้าง พื้นท้องน้ำเป็นทราย มีโขดหิน การไหลของน้ำในแม่น้ำโขงในช่วงจังหวัดหนองคายเป็นการไหลแบบเอื่อยๆ ตลอดเวลา จึงเป็นการช่วยเพิ่มออกชิเจนในน้ำซึ่งเหมาะสมกับการเลี้ยงปลานิล ทำให้ปลานิลมีสุขภาพดี เพราะมีการว่ายน้ำตลอดเวลา ตลอดจนความอุดมสมบูรณ์ของแม่น้ำโขงที่มีแร่ธาตุในดินและเป็นน้ำที่มีความสะอาด ปลานิลที่เลี้ยงจึงไม่มีกลิ่นเหม็นคาวและไม่มีกลิ่นโคลน
ลักษณะภูมิอากาศ
ด้วยลักษณะภูมิประเทศของจังหวัดหนองคายมีลักษณะทอดยาวขนานไปตามลำน้ำโขง ทำให้ในช่วงฤดูร้อนอากาศไม่ร้อนอบอ้าวมากนัก ส่วนในช่วงฤดูหนาวจะมีอากาศค่อนข้างหนาวเย็น โดยในปีพ.ศ.2564 ที่ผ่านมาในเดือนเมษายน อุณหภูมิสูงสุด 34 องศาเซลเซียส และในเดือนธันวาคม อุณหภูมิต่ำสุด 17 องศาเซลเชียส และมีอุณหภูมิเฉลี่ยตลอดทั้งปี 26.67 องศาเซลเซียส ด้วยลักษณะพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ของจังหวัดหนองคาย ซึ่งเป็นจังหวัดที่มีแม่น้ำโขงไหลผ่านยาวทั้งสิ้น 210 กิโลเมตร และมีเอกลักษณ์เฉพาะ คือ มีคุ้งน้ำที่กว้าง พื้นท้องน้ำเป็นทราย มีโขดหินทำให้การไหลผ่านของน้ำในแม่น้ำโขงในช่วงจังหวัดหนองคายเป็นการไหลแบบเอื่อยๆ ตลอดเวลา จึงเป็นการช่วยเพิ่มออกซิเจนในน้ำซึ่งเหมาะสมกับการเลี้ยงปลานิล ทำให้ปลานิลมีสุขภาพดี เนื่องจากมีการว่ายน้ำตลอดเวลา ตลอดจนความอุดมสมบูรณ์ของแม่น้ำโขงซึ่งมีทั้งแร่ธาตุในดินและน้ำโขงเป็นน้ำที่มีความสะอาด ส่งผลให้ “ปลานิลกระชังแม่น้ำโขงหนองคาย” ที่เลี้ยงจึงไม่มีกลิ่นเหม็นคาวและไม่มีกลิ่นโคลน มีเนื้อแน่นเป็นลิ่ม นุ่มเนื่องจากมีไขมันแทรก เป็นที่นิยมของผู้บริโภค
ประวัติความเป็นมา
ปลาน้ำจืดเป็นอาหารโปรตีนที่สำคัญของประชาชนในจังหวัดหนองคาย ซึ่งมีพื้นที่ลุ่มน้ำ 8 ลุ่มน้ำจึงมีสภาพเหมาะสมต่อการทำการเกษตร โดยเฉพาะอาชีพด้านการประมง ซึ่งในอดีตประชาชนพึ่งพาอาหารประเภทปลาจากแหล่งน้ำธรรมชาติ แต่แหล่งน้ำธรรมชาติในจังหวัดหนองคายได้รับผลกระทบจากสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น การสร้างเขื่อนกั้นน้ำ การใช้สารเคมีในการเพาะปลูก เป็นต้น ส่งผลให้สัตว์น้ำในแหล่งน้ำธรรมชาติลดลง จึงต้องอาศัยการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำเชิงพาณิชย์ในรูปแบบต่างๆ ซึ่งเมื่อปี พ.ศ. 2540 สำนักงานประมงจังหวัดหนองคาย และศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืดหนองคาย ได้แนะนำให้นายกษิดิศ พ่อค้าไทย (เกษตรกรชาวไร่มะเขือเทศ อำเภอท่าบ่อ จังหวัดหนองคาย) เลี้ยงปลานิลกระชัง โดยได้ไปดูงานระบบการเลี้ยงปลาที่เขื่อนอุบลรัตน์ เห็นว่าการเลี้ยงปลานิลในกระชังเป็นทางเลือกที่ดี จึงตัดสินใจลงทุนเลี้ยงปลานิลในกระชังริมแม่น้ำโขง บริเวณพื้นที่หมู่ที่ 5 ตำบลท่าบ่อ อำเภอท่าบ่อ จังหวัดหนองคาย โดยสำนักงานประมงจังหวัดหนองคาย มหาวิทยาลัยขอนแก่น วิทยาเขตหนองคาย ส่วนราชการต่างๆ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ ได้ให้การส่งเสริมและพัฒนาเกษตรกรในการเลี้ยงปลานิลกระชังมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้มีเกษตรกรเลี้ยงปลานิลในกระชังมากขึ้นตลอดแนวริมฝั่งแม่น้ำโขง ส่งผลให้ผลผลิตปลานิลกระชังเพิ่มมากขึ้น ซึ่งจากข้อมูลในปี พ.ศ. 2563จังหวัดหนองคายมีผลผลิตปลานิลในกระชังรวมทั้งสิ้น 3,566 ตัน คิดเป็นมูลค่า 227,949,000 บาท และถือเป็นสินค้าด้านการเกษตรที่สร้างรายได้ให้กับจังหวัดหนองคายเป็นอันดับสองรองจากข้าว จากปริมาณผลผลผลิตและรายได้ย่อมแสดงให้เห็นว่า “ปลานิลกระชังแม่น้ำโขงหนองคาย” เป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลาย และเป็นที่นิยมของผู้บริโภคในจังหวัดหนองคาย รวมถึงจังหวัดใกล้เคียง
ขอบเขตพื้นที่การผลิตและแปรรูปปลานิลกระชังแม่น้ำโขงหนองคาย ครอบคลุมเขตพื้นที่ 6 อำเภอของจังหวัดหนองคายที่แม่น้ำโขงไหลผ่าน ได้แก่ อำเภอสังคม อำเภอศรีเชียงใหม่ อำเภอพาบ่อ อำเภอเมืองหนองคาย อำเภอโพนพิสัย และอำเภอรัตนวาปี