” ปลากระพงสามน้ำทะเลสาบสงขลา ” GI สุดยอดปลาแห่งทะเลสาบสงขลา

117

ปลากะพงสามน้ำทะเลสาบสงขลา(Songkhla Lake Seabass หรือ Pla Ka Phong Sam Num Tha Le Sab Songkhla) หมายถึง ปลากะพงสด ปลากะพงสดแช่แข็ง ปลากะพงเค็ม และหนังปลากะพงทอดกรอบ จากปลากะพงขาวที่มีขนาดใหญ่ น้ำหนักไม่น้อยกว่า 2 กิโลกรัม รสชาติดี เนื้อขาว นุ่ม ไม่มีกลิ่นโคลนและกลิ่นสาบ เลี้ยงในกระชังในทะเลสาบสงขลา ตั้งแต่ปากทะเลสาบสงขลาที่ติดกับทะเลอ่าวไทยเข้ามาด้านในครอบคลุมทะเลสาบสงขลาทั้งหมด ได้แก่ อำเภอเมืองสงขลา อำเภอสิงหนคร อำเภอหาดใหญ่ อำเภอบางกล่ำ และอำเภอควนเนียง โดยมีพื้นที่การแปรรูปครอบคลุมทุกอำเภอในจังหวัดสงขลา กรมทรัพย์สินทางปัญญา ประกาศให้ขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ ( GI ) ” ปลากระพงสามน้ำทะเลสาบสงขลา” เมื่อ 28 กันยายน พ.ศ. 2565

131949

กระบวนการผลิต

การเลี้ยงปลากะพงขาว

(1) ใช้ลูกพันธุ์ปลากะพงขาว ขนาดไม่น้อยกว่า 5 นิ้ว ที่ได้จากการเพาะพันธุ์และอนุบาลในพื้นที่จังหวัดสงขลาและจังหวัดใกล้เคียง ได้แก่ จังหวัดสตูล จังหวัดตรัง และจังหวัดปัตตานี ทั้งภาคเอกชนและหน่วยงานของกรมประมง ความหนาแน่นอยู่ระหว่าง 16 – 24 ตัวต่อตารางเมตร

11717

(2) เริ่มปล่อยปลาลงเลี้ยงในกระชังช่วงเดือนมีนาคมถึงเดือนกันยายน อาหารที่ใช้เลี้ยงในระยะเริ่มต้นใช้อาหารเม็ดสำเร็จรูปชนิดลอยน้ำสำหรับปลาทะเล จนปลามีขนาดไม่น้อยกว่า 500 กรัม หลังจากนั้นจะเลี้ยงด้วยปลาเหยื่อ หรือเศษเหลือปลาทะเล

(3) สามารถจับเพื่อจำหน่ายได้ เมื่อปลาอายุประมาณ 1 – 2 ปี น้ำหนักไม่น้อยกว่า 2 กิโลกรัมต่อตัว

ลักษณะภูมิประเทศ

พื้นที่ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาอยู่ทางด้านตะวันออกของคาบสมุทรมลายู ทะเลสาบสงขลา เป็นแนวสันทรายยาวเริ่มตั้งแต่อำเภอสิงหนคร อำเภอสทิงพระ อำเภอระโนด จังหวัดสงขลา ไปจนถึงอำเภอปากพนัง และอำเภอเชียรใหญ่ จังหวัดนครศรีธรรมราช แนวสันทรายนี้ ปิดกั้นทะเลสาบสงขลาจากอ่าวไทยทั้งหมด น้ำที่ขังอยู่ในบริเวณนี้อาจเป็นน้ำจืด น้ำกร่อย หรือน้ำเค็ม ขึ้นอยู่กับการเปลี่ยนแปลงบริเวณนั้นและระยะห่างจากช่องเปิดออกทะเลอ่าวไทย ปัจจุบันมีทางน้ำออกทะเลอ่าวไทยเพียงบริเวณเดียวคือที่ตั้งของเมืองสงขลา ทะเลสาบสงขลาจะเป็นน้ำจืดในฤดูมรสุมและเป็นน้ำกร่อยและน้ำเค็มในช่วงฤดูแล้ง จากการที่ระบบลากูนของทะเลสาบมีความลึกไม่มากนัก จึงมีพืชน้ำเจริญเติบโตเป็นจำนวนมาก ประกอบกับมีการบุกรุกทำลายพื้นที่ป่าในพื้นที่ต้นน้ำของลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา จึงมีการชะล้างสารอาหารและตะกอนจากพื้นที่ต้นน้ำของลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาและสารอาหารที่เกิดจากการย่อยสลายพืชน้ำไหลลงมาสะสมในระบบลากูนของทะเลสาบสงขลา และชะล้างออกสู่อ่าวไทยทำให้ทะเลสาบสงขลาอุดมไปด้วยสารอาหารที่เหมาะกับการเจริญของแพลงตอนและสัตว์พื้นท้องทะเลที่เป็นอาหารของสัตว์น้ำที่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจที่อาศัยดำรงชีวิตอยู่ในทะเลสาบสงขลา

ลักษณะภูมิอากาศ

ทะเลสาบสงขลาเป็นแบบบมรสุมเขตร้อน มีอากาศร้อน อุณหภูมิสูงตลอดปี มีลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือพร้อมหย่อมความกดอากาศสูงซึ่งเป็นอากาศแห้งจากไซบีเรียและประเทศจีน พัดสอบลงมาผ่านทะเลจีนใต้และอ่าวไทยพร้อมทั้งนำเอาไอน้ำและความชื้นจากทะเลเข้ามาด้วย ทำให้มีฝนตกชุกบริเวณภาคใต้ฝั่งตะวันออกตอนล่าง โดยเฉพาะในลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลามีปริมาณน้ำฝนค่อนข้างสูงช่วงระหว่างเดือนตุลาคมถึงเดือนธันวาคมถือเป็นฤดูฝนตกชุกแล้วจะค่อยลดลง ในช่วงระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนเมษายน อากาศร้อนอ้าว จะมีลมตะวันออกเฉียงใต้เรียกว่าลมตะเภาหรือลมว่าวพัดขนานกับชายฝั่งทำให้ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลามีอากาศร้อนในเดือนพฤษภาคมเป็นช่วงตั้งต้นของฤดูมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้พร้อมร่องความกดอากาศต่ำซึ่งมีทิศทางตั้งต้นจากทะเลอันดามัน ทำให้มีฝนตกชุกในบริเวณภาคใต้ฝั่งตะวันตกด้วย

ลักษณะภูมิประเทศและภูมิอากาศที่มีการเปลี่ยนแปลงและการหมุนเวียนของน้ำเค็ม น้ำกร่อยและน้ำจืด อยู่ตลอดทั้งปีของทะเลสาบสงขลาจึงเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้ปลากะพงที่เลี้ยงในกระชังในทะเลสาบสงชลา มีเนื้อแน่น นุ่มละมุนลิ้น รสชาติที่ดีไม่มีกลิ่นโคลนและกลิ่นสาบ แตกต่างจากปลากะพงขาวในแหล่งอื่น ๆ

ประวัติความเป็นมา

ปลากะพงขาวเป็นปลาที่เพาะขยายพันธุ์ได้สำเร็จเป็นครั้งแรกของโลกในประเทศไทยที่จังหวัดสงขลาโดยคุณสวัสดิ์ วงศ์สมนึก และคณสุจินต์ มณีวงศ์ นักวิชาการประมงจากกรมประมง เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2515 ณ สถานีประมงทะเลสงขลาในสมัยนั้น การทดลองเพาะพันธุ์ปลากะพงขาวในช่วงแรกใช้วิธีการรวบรวมพันธุ์ปลาแล้วใช้ฮอร์โมนฉีดกระตุ้น เพื่อเร่งการวางไข่ของปลา หลังจากนั้นการเพาะพันธุ์ก็พัฒนามาเรื่อย ๆ ควบคู่ไปกับการพัฒนาเทคนิคการอนุบาลเพื่อให้ลูกปลามีอัตรารอดที่ดี จนกระทั่งได้นำลูกปลาไปให้ชาวบ้านทดลองเลี้ยงประมาณ พ.ศ. 2518 -2519 โดยปลากะพงขาวรุ่นแรกที่เพาะพันธุ์ได้เอาไปให้เกษตรกรที่ตำบลหัวเขา อำเภอสิงหนคร และตำบลเกาะยอ อำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา การเลี้ยงปลากะพงของเกษตรกรโดยทั่วไปจะเลี้ยงบริเวณชายฝั่งทะเลหน้าบ้านของตัวเอง โดยทำขนำเล็ก ๆบริเวณกระชังเลี้ยงปลา ระยะหลังมีการส่งเสริมให้ใช้อาหารเม็ดหรืออาหารสำเร็จรูปมาเลี้ยงปลากะพงขาว แต่ผู้เลี้ยงปลาโดยส่วนใหญ่ที่ใช้อาหารเม็ดยังใช้ร่วมกับอาหารสด เนื่องจากมีความคิดว่าทำให้ปลาโตเร็วและรสชาติดีกว่าการให้อาหารเม็ดเพียงอย่างเดียว การเลี้ยงปลากะพงขาวในกระชังในทะเลสาบสงขลาจึงเป็นวิถีที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่เป็นยากกว่าการเลี้ยงปลาเพื่อขาย พื้นที่หรือฟาร์มปลากะพงเป็นทั้งเหล่งสร้างรายได้แหล่งอาหาร สถานที่พักผ่อนหย่อนใจสอดคล้องกลมกลืนไปกับวิถีชีวิตของชาวบ้านชายฝั่งทะเลสาบสงขลามากว่า 40 ปี


ขอบเขตพื้นที่การเลี้ยงปลากะพงสามน้ำทะเลสาบสงขลา ครอบคลุมพื้นที่ 5 อำเภอของจังหวัดสงขลา ได้แก่ อำเภอเมืองสงขลา อำเภอสิ่งหนคร อำเภอบางกล้า อำเภอควนเนียง และอำเภอหาดใหญ่ และขอบเขตพื้นที่การแปรรูปปลากะพงสามน้ำทะเลสาบสงขลา ครอบคลุมพื้นที่ทั้งหมดของจังหวัดสงขลา

GI65100184 page 0007cdy