“ขนมหม้อแกงเมืองเพชร” หมายถึง ขนมหม้อแกงที่ผลิตขึ้นในพื้นที่จังหวัดเพชรบุรี ด้วยกรรมวิธีพิเศษตามภูมิปัญญาของคนเมืองเพชรบุรี โดยใช้น้ำตาลโตนดเมืองเพชรเป็นส่วนผสมสำคัญที่ทำให้ขนมหม้อแกงเมืองเพชรมีรสชาติหวานกลมกล่อม ซึ่งเป็นเอกลักษณ์เฉพาะ ทั้งนี้กรมทรัพย์สินทางปัญญาประกาศให้ขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ ( GI) “ขนมหม้อแกงเมืองเพชร” เมื่อ 9 เมษายน พ.ศ. 2566
ลักษณะภูมิประเทศ
จังหวัดเพชรบุรีตั้งอยู่ในเขตที่ราบลุ่มแม่น้ำ บริเวณตอนกลางของจังหวัด เป็นพื้นที่อุดมสมบูรณ์ที่สุด เนื่องจากมีแม่น้ำเพชรบุรีซึ่งเป็นแม่น้ำสายสำคัญไหลผ่าน นอกจากนี้ยังมีเขื่อนแก่งกระจานและเขื่อนเพชรบุรีซึ่งเป็นแหล่งน้ำระบบชลประทาน ทำให้บริเวณนี้เป็นเขตเกษตรกรรมที่สำคัญของจังหวัด อาทิ พื้นที่ของอำเภอเมืองเพชรบุรี ท่ายาง ชะอำ บ้านลาด บ้านแหลม และเขาย้อย มีดินที่มีลักษณะเป็นดินเหนียวปนทราย เหมาะแก่การปลูกต้นตาลโฉนด จังหวัดเพชรบุรี มีอากาศอบอุ่นตลอดปี ไม่ร้อนหรือหนาวจัด เนื่องจากสภาพภูมิประเทศเป็นภูเขาสูงทางด้านตะวันตก และเป็นชายฝั่งทะเล ด้านตะวันออก มีอุณหภูมิเฉลี่ยทั้งปีล่าสุด 24 องศาเซลเซียส สูงสุด 32 องศาเซลเซียส โดยประมาณ
ประวัติความเป็นมา
ตั้งแต่สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช คุณท้าวทองกีบม้า ซึ่งเป็นผู้มีชื่อเสียงในการทำอาหารคาวหวานได้อย่างยอดเยี่ยม ได้ริเริ่มทำขนมหวาน คือ ขนมทองหยิบ ขนมทองหยอด ขนมฝอยทอง ขนมท้องม้วน ขนมสัมปันนี และขนมหม้อแกง ซึ่งนำไข่มาเป็นส่วนประกอบหลัก และสอนให้ชาวสยามทำอาหารต่างๆ จนเป็นความรู้ติดตัว ด้วยมีรสชาติของไข่และน้ำตาล เป็นส่วนประกอบทำให้ขนมต่างๆ โดยเฉพาะขนมหม้อแกง ที่ได้รับความนิยมชมชอบจากเจ้านายชั้นสูงในรั้วในวัง และได้รับการขนานนามว่า “ขนมกุมภมาศ” ที่เรียกชื่อตามภาชนะที่ใส่ขนม “กุมภ” แปลว่า หม้อ “มาศ” แปลว่า ทอง “กุมภมาศ” จึงแปลว่า หม้อทอง ขนมหม้อทองสมัยนั้น เป็นขนมที่ทำขึ้นในวังสำหรับเจ้าแผ่นดินหรือพระสงฆ์ เมื่อลูกมือใน คุณท้าวทองกีบม้าแต่งงาน ก็นำความรู้ที่ได้รับไปทำและเผยแพร่ต่อไปอีก ทำให้ตำรับการทำขนมคาวหวานสูงในพระราชวังได้ถูกเผยแพร่ออกไปสู่ประชาชนและสืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน
ต่อมาเมื่อปี พ.ศ.2529 จังหวัดเพชรบุรีมีการบูรณะพระนครคีรีให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยว ชาวบ้านในละแวกนั้นได้ทำขนมหม้อแกงออกจำหน่าย โดยใช้น้ำตาลโตนดเมืองเพชรที่มีอยู่มากเป็นส่วนผสมหลัก และจากกลิ่นหอม รสชาติหวานกลมกล่อม ทำให้ขนมหม้อแกงเป็นขนมที่ขึ้นชื่อของจังหวัดเพซรบุรี และรู้จักกันแพร่หลายมาตราบทุกวันนี้ จนคนทั่วไปเรียกขนมหม้อแกงที่มาจากจังหวัดเพชรบุรีว่า ” ขนมหม้อแกงเมืองเพชร”
พื้นที่การผลิตขนมหม้อแกงเมืองเพชร ครอบคลุมพื้นที่ของจังหวัดเพชรบุรี ในเขตพื้นที่ 8 อำเภอ ได้แก่อำเภอเมือง อำเภอบ้านลาด อำเภอท่ายาง อำเภอหนองหญ้าป้อง อำเภอบ้านแหลม อำเภอแก่งกระจาน อำเภอชะอำและอำเภอเขาย้อย