ข้าวไทยเป็นมากกว่าอาหารหลักของคนไทยแต่ยังเป็นรากฐานแห่งวัฒนธรรม และวิถีชีวิตที่สืบทอดกันมาหลายชั่วอายุคน ซึ่งพี่-น้องชาวนานับถือและปลูกข้าวด้วยความตั้งใจ ตั้งแต่การเพาะปลูก การดูแล ไปจนถึงการเก็บเกี่ยวในแต่ละฤดูกาล จะเห็นได้ว่า ข้าวเป็นอาหารแห่งชีวิตของทุกคนในยุคปัจจุบัน ความท้าทายทางการเกษตรสูงขึ้นไม่เพียงแต่ต้องปลูกข้าวให้พอเพียงแต่ต้องคำนึงถึงคุณภาพความยั่งยืน และการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม โดยข้าวไทยกำลังเปลี่ยนแปลง และพัฒนาอย่างไรในยุคสมัยใหม่ ซึ่งใช้ทั้งเทคโนโลยีและความรู้ทางวิทยาศาสตร์เข้ามาช่วยเสริมให้การผลิตข้าวมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
นายณัฏฐกิตติ์ ของทิพย์ อธิบดีกรมการข้าว เปิดเผยว่า ข้าวจัดว่าเป็นพืชอาหารหลัก และยังเป็นพืชที่มีความผูกพันธ์กับวิถีชีวิตของเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ประเทศไทยยังประสบปัญหาข้าวไม่เพียงพอกับการจำหน่ายและการส่งออก ทั้งนี้อาจเกิดจากปัจจัยหลายอย่าง เช่น ได้รับความเสียหายจากภัยธรรมชาติ การผลิตให้ได้คุณภาพตามที่ตลาดต้องการ เป็นต้น ดังนั้นการเพิ่มผลผลิตข้าวให้เพียงพอกับความต้องการของตลาด มีสิ่งที่เกี่ยวข้องอยู่หลายอย่างด้วยกัน เช่น การใช้พันธุ์ที่เหมาะสม การดูแลรักษาอย่างถูกต้อง และการใช้เมล็ดพันธุ์ที่ดี เป็นต้น การใช้เมล็ดพันธุ์ดีเป็นสิ่งหนึ่งที่ถือได้ว่าเป็นการเริ่มต้นที่เหมาะสมในการเพิ่มผลผลิตข้าวให้ได้ผลผลิตสูง และมีคุณภาพ แต่เมล็ดพันธุ์ข้าวที่ผลิตโดยหน่วยงานของราชการ มีไม่เพียงพอกับความต้องการของเกษตรกร จึงทำให้เกษตรกรหลายรายที่ต้องหันไปใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวที่ผลิตโดยเอกชน เพื่อนบ้าน ตลอดถึงใช้เมล็ดพันธุ์จากแปลงนาตนเองจากเหตุผลดังกล่าวข้างต้น ส่งผลให้การปลูกข้าวสำหรับเก็บไว้ทำพันธุ์จึงเป็นแนวทางที่จะช่วยให้เกษตรกรมีพันธุ์ข้าวที่ดีไว้ปลูกในฤดูต่อไป นอกจากนั้นแล้วพันธุ์ข้าวพื้นถิ่นหรือพันธุ์ข้าวเฉพาะถิ่น ยังเป็นพันธุ์ข้าวที่จำเป็นที่จะต้องปลูกและต้องผลิต ฉะนั้นการอนุรักษ์หรือการคงไว้ซึ่งพันธุ์ข้าวที่มีคุณภาพ จึงเป็นปัจจัยที่จะทำให้ข้าวไทยของเรามีการอนุรักษ์ไว้แล้วให้กับคนรุ่นหลังโดยเฉพาะลูกหลานชาวนา เมล็ดพันธุ์ข้าว จึงเป็นปัจจัยสำคัญที่เป็นตัวตั้งต้น ถ้าเริ่มตั้งต้นที่ดี ก็จะทำให้คุณภาพข้าวดีไปด้วย
นอกจากนี้ ข้าวไทยไม่ได้มีเพียงชนิดเดียว แต่เต็มไปด้วยความหลากหลายทางพันธุกรรมที่เกิดจากภูมิปัญญาของเกษตรกรในแต่ละภูมิภาคการพัฒนาพันธุ์ข้าวใหม่ๆ ไม่เพียงช่วยให้เข้ากับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลง แต่ยังสร้างผลผลิตที่มีคุณภาพดียิ่งขึ้น และลดการใช้ทรัพยากรที่ไม่จำเป็น และนี่เป็นตัวอย่างของความสำเร็จจากการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ร่วมกับภูมิปัญญาดั้งเดิมของชาวนา เพื่อเพิ่มผลผลิตและรักษาพันธุ์ข้าวไทยให้อยู่คู่กับแผ่นดินต่อไปอย่างยั่งยืน ทั้งนี้ในการพัฒนาข้าวไทยไม่ได้เป็นเพียงเรื่องของการเพิ่มผลผลิต แต่เป็นการสร้างความมั่นคงทางอาหารให้กับประเทศ และจะทำให้ชาวนามีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ส่วนเทคโนโลยีและนวัตกรรมได้เข้ามามีบทบาทสำคัญในกระบวนการผลิตข้าวตั้งแต่การเลือกพันธุ์ข้าวที่เหมาะสมไปจนถึงการจัดการน้ำและดินอย่างมีประสิทธิภาพ นาข้าวที่เราเห็นในวันนี้ไม่ใช่เพียงแค่ทุ่งนาธรรมดาแต่เป็นสัญลักษณ์ของอนาคตที่ยั่งยืน ข้าวไทยยังคงเป็นตัวแทนของความมั่นคงทางอาหารและวิถีชีวิตที่ผูกพันกับแผ่นดินอย่างลึกซึ้ง ข้าวไม่เพียงแต่เป็นอาหารแต่ยังเป็นสายใยที่เชื่อมโยงคนไทยกับแผ่นดินและวิถีชีวิตที่เราเคารพสืบต่อกันมา