“เกลือสมุทรแม่กลอง” สินค้า GI จังหวัดสมุทรสงคราม

“เกลือสมุทรแม่กลอง” หรือ Mae Klong Sea Salt หรือ Kluea Samut Mae Klong หมายถึง เกลือเม็ดและดอกเกลือ ซึ่งเป็นผลึกเกลือมีสีขาวตามธรรมชาติ รสชาติเค็มกลมกล่อม ละลายน้ำได้เร็ว เกิดจากการนำน้ำทะเลมาตากในแปลงนาให้ระเหยจนตกผลึก เป็นภูมิปัญญาการทำนาเกลือของคนในพื้นที่ที่สืบต่อกันมาโดยมีขอบเขตพื้นที่การผลิตครอบคลุมอำเภอเมืองสมุทรสงคราม จังหวัดสมุทรสงคราม

670500000004

กระบวนการผลิต

วัตถุดิบ

“เกลือสมุทรแม่กลอง” ผลิตจากน้ำทะเลบริเวณอ่าวแม่กลองที่ไหลผ่านป่าชายเลนมาตามแพรก คู คลอง ที่ปกคลุมไปด้วยป่าแสม ป่าโกงกาง โดยไม่ผ่านโรงงานหรือแหล่งชุมชน ส่งผลให้น้ำทะเลสะอาด และมีคุณภาพดี โดยทั่วไปนิยมนำน้ำทะเลเข้ามาพักในวังขังน้ำ ซึ่งการนำน้ำเข้ามาพักนั้นต้องเลือกน้ำทะเลคุณภาพดี และไม่มีสารปนเปื้อนทั้งนี้ให้เว้นช่วงฤดูน้ำหลาก หรือช่วงที่มีภาวะน้ำท่วมจากตอนบนของประเทศเพราะเป็นน้ำที่ไม่ได้คุณภาพซึ่งคุณภาพของน้ำทะเลจะส่งผลโดยตรงต่อคุณภาพของ”เกลือสมุทรแม่กลอง”

ปัจจัยที่เหมาะสมต่อการผลิต

(1) พื้นดินนาเกลือ พื้นดินที่เหมาะสมในการทำนาเกลือ ต้องเป็นดินเหนียว สามารถอุ้มน้ำได้ดี พื้นดินที่เคยทำนาเกลือมาแล้วจะมีการปรับสภาพโดยธธรรมชาติสามารถให้ผลผลิตที่มีคุณภาพดีกว่าพื้นที่นาใหม่เนื่องจากจะได้แร่ธาตุสะสมอยู่ในดิน และดินจะเก็บสะสมความร้อนทำให้เกลือตกผลึกเร็ว

(2) น้ำทะเล น้ำทะเลที่ดีจะต้องไม่มีสารปนเปื้อน หรือเศษผงตะกอนอยู่ในน้ำ ต้องหมั่นรักษาสภาพคลองน้ำเค็มที่อยู่ใกล้พื้นที่ให้สะอาด เพราะจะส่งผลให้ผลึกเกลือมีคุณภาพดี ทั้งรสชาติและแร่ธาตุทางอาหาร

1694142961 038657 tnamcot.jpeg

(3) แรงลม ความแรงของลมทะเลที่พัดเข้าฝั่งตลอดฤดูการทำนาเกลือ จะช่วยให้ผิวน้ำในนาเป็นระลอกคลื่น การเคลื่อนที่ของน้ำช่วยเร่งความเข้มข้นให้เกิดการตกผลึกได้เร็วขึ้นและสม่ำเสมอ

4) แสงแดด ความเข้มของแสงแดดที่จัดสม่ำเสมอทั่วแปลงนา ช่วยให้เกิดการระเหยของน้ำและมีความร้อนในระดับที่พอเหมาะ ทำให้เกิดการตกผลึกเกลือได้บริมาณมาก

ฤดูกาลผลิต

การทำนาเกลือใน 1 รอบปี จะใช้ระยะเวลาประมาณ 7 – 8 เดือน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสภาพภูมิอากาศ โดยฤดูกาลทำนาเกลือจะอยู่ในประมาณช่วงต้นเดือนตุลาคม – กลางเดือนมิถุนายนของปีถัดไป และจะเริ่มเก็บผลผลิตเกลือได้ประมาณปลายเดือนธันวาคมเป็นต้นไป

ลักษณะภูมิประเทศ

แหล่งผลิต “เกลือสมุทรแม่กลอง” อยู่ในพื้นที่อำเภอเมืองสมุทรสงคราม มีพื้นที่ทำนาเกลือประมาณ 7,817 ไร่ ซึ่งตั้งอยู่ระหว่างละติจุดที่ 13 องศา 24 ลิปดา 48 ฟิลิปดาองศาเหนือ และลองจิจูดที่ 100 องศา 0 ลิปดา 12 ฟิลิปดาตะวันออก ซึ่งเป็นพื้นที่ติดชายฝั่งทะเล ลักษณะของดินเป็นดินเหนียวและดินเค็ม พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นดินชุดสมุทรสงคราม เป็นดินลึก เป็นดินเหนียวตลอดหน้าตัด ปฏิกิริยาของดินเป็นกรดปานกลางถึงด่างปานกลาง (pH 6.0 – 8.0) มีความสามารถในการอุ้มน้ำสูง และทำให้น้ำซึมผ่านได้ช้า

ลักษณะภูมิอากาศ

จังหวัดสมุทรสงครามอยู่ภายใต้อิทธิพลของลมมรสุมซึ่งพัดประจำเป็นฤดูกาล 2 แบบบ ได้แก่ ลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ โดยพัดจากทิศตะวันออกเฉียงเหนือในฤดูหนาว อิทธิพลของลมนี้ทำให้บริเวณจังหวัดสมุทรสงครามมีอากาศหนาวเย็นและแห้งแล้ง และลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ซึ่งพัดจากทิศศตะวันตกเฉียงใต้เป็นส่วนใหญ่ในฤดูฝน ทำให้อากาศชุ่มชื้นและมีฝนตกทั่วไป ฤดูกาลของจังหวัดสมุทรสงคราม แบ่งออกเป็น 3 ฤดู คือ ฤดูหนาว เริ่มตั้งแต่กลางเดือนตุลาคมถึงกลางเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งเป็นฤดูมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ จะมีลมเย็นและแห้งจากทิศตะวันออกเฉียงเหนือพัดผ่าน ทำให้มีอากาศเย็นทั่วไป โดยมีอากาศหนาวในระหว่างเดือนธันวาคมและเดือนมกราคม ฤดูร้อน เริ่มตั้งแต่กลางเดือนกุมภาพันธ์ถึงกลางเดือนพฤษภาคม ในช่วงนี้จะเป็นช่วงว่างของฤดูมรสุมจะมีลมจากทิศใต้และตะวันออกเฉียงใต้พัดปกคลุม ทำให้มีอากาศร้อนอบอ้าวทั่วไป โดยมีอากาศร้อนที่สุดในเดือนเมษายน ฤดูฝน เริ่มตั้งแต่กลางเดือนพฤษภาคมถึงกลางเดือนตลาคม ซึ่งเป็นฤดูมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ จะมีลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ซึ่งเป็นลมที่พัดจากมหาสมุทรอินเดียนำฝนและความชุ่มขึ้นเข้ามายังประเทศไทย จึงทำให้มีฝนชุกทั่วไปมีอุณหภูมิเฉลี่ยตลอดปี 28 – 30 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุดเฉลี่ย 32 – 34 องศาเซลเซียส และอุณหภูมิต่ำสุดเฉลี่ย 24 – 26 องศาเซลเซียส

ด้วยลักษณะพื้นที่และแหล่งภูมิศาสตร์ดังกล่าว ทำให้พื้นที่นาเกลือได้รับแสงแดดจัดค่อนข้างยาวนานส่งผลให้พื้นดินไม่นิ่มจนเกินไปความเข้มของแสงแดดที่จัดสม่ำเสมอ ช่วยให้การระเหยของผิวน้ำในนาเกิดการตกผลึกเกลือได้ปริมาณมากประกอบกับอิทธิพลจากลมมรสุมส่งผลต่อทิศทางลม ทำให้ผิวน้ำที่แช่ขังในนาเป็นระลอกคลื่นเหมือนการกวนน้ำให้มีความเข้มข้น ซึ่งเป็นการช่วยเร่งให้เกิดการตกผลึกได้เร็วขึ้นและสม่ำเสมอจากปัจจัยทั้ง 4 ด้าน คือ ดิน น้ำ ลม แดด เหล่านี้ทำให้ เกลือสมุทรแม่กลอง มีความขาว สะอาด มีรสชาติเค็มกลมกล่อมตามธรรมชาติ ไม่เค็มจัดเกินไป และเป็นเกลือสมุทรคุณภาพดีที่มีชื่อเสียง เป็นที่ยอมรับจากคนทั่วไป

ประวัติความเป็นมา

หลักฐานทางโบราณคดีหลายชิ้นระบุว่า มนุษย์รู้จักทำเกลือทะเล หรือเกลือสมุทร มาตั้งแต่ 10,000 ปีก่อนคริสต์ศักราช ในอดีตเกลือถูกยกชั้นให้เป็นตัวแทนความมั่งคั่ง เพราะเป็นส่วนประกอบสำคัญในการถนอมและปรุงอาหารของทุกชนชาติ ทั้งยังใช้เป็นยารักษาโรคได้อีกด้วย สำหรับประเทศไทยมีการทำนาเกลือกันมาตั้งแต่อดีตโดยทำกันตลอดแนวที่ราบชายฝั่งทะเล แต่ไม่มีหลักฐานปรากฎแน่ชัดว่าเริ่มต้นทำกันมาตั้งแต่ยุคใค

จากข้อมูลประวัติการจัดเก็บภาษีของกรมสรรพากร มีหลักฐานว่าการจัดเก็บภาษีอากรในสมัยกรุงธนบุรี (พ.ศ.2311 – พ.ศ. 2324) และสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น (ตั้งแต่รัชกาลที่ 1 – รัชกาลที่ 3 ระหว่าง พ.ศ. 2325 -พ.ศ. 2394) มีการจัดเก็บส่วยสาอากรทั้ง 4 ประเภท ในสมัยกรุงศรีอยุธยา ได้ถูกกำหนดเป็นรูปแบบการจัดเก็บต่อเนื่องมาจนถึงสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี และตอนต้นรัชกาลที่ 1 – รัชกาลที่ 2 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ จนถึงในสมัยรัชกาลที่ 3 พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เกิดกบฏเจ้าอนุวงศ์เวียงจันทร์ รัฐบาลมีความจำเป็นที่ต้องการใช้เงินในราชการมากกว่าแต่ก่อน พระองค์จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีการปรับปรุงการจัดเก็บภาษีเป็นผลให้เกิดการจัดเก็บภาษีขึ้นใหม่ 38 ประเภทซึ่งมีภาษีเกลือรวมอยู่ด้วย จึงสะท้อนให้เห็นว่าเกลือมีความสำคัญต่อคนในชาติมาตั้งแต่โบราณ

ในอดีตพื้นที่ส่วนใหญ่ของจังหวัดสมุทรสงครามเป็นป่าชายเลน ชาวบ้านถือครองกรรมสิทธิ์ในที่ดินโดยการหักล้างถางป่า ป่าโกงกาง ป่าแสมก็หายไป ทำให้มีพื้นที่สำหรับต้นชะคราม ผักเบี้ยเจริญเติบโตขึ้นอย่างอุดมสมบูรณ์ พอถึงฤดูแล้งต้นไม้ก็จะเหี่ยวแห้งตายไปเหลือแต่ซากและเป็นฝุ่น ทำให้บริเวณนั้นนั้นเต็มไปด้วยฝุ่นและเค็มจัด เมื่อถูกน้ำท่วมในบริเวณนี้ซึ่งเป็นหลุมเป็นบ่อ และถูกแสงแดด จนบริเวณนี้แห้งลง เกิดก้อนตะกอนสีขาว มีรสเค็มจัด ซึ่งก็คือผลึกเกลือนั้นเอง จากจุดนี้นับเป็นจุดเริ่มต้นในการทำนาเกลือของชาวแม่กลอง แม้ต่อมาจะมีการปรับวิธีการ กระบวนการ หรือเครื่องมือต่างๆ ไปบ้าง แต่การทำนาเกลือสมุทรแม่กลองก็ยังคงเป็นวิถีชีวิตที่สืบต่อมานับร้อยปีแสดงถึงภูมิปัญญาความรู้ถ่ายทอดจากประสบการณ์ การสังเกต การพึ่งพาอาศัยธรรมชาติ การเรียนรู้ถึงลักษณะของพื้นที่นาต้องเป็นที่ราบดินเหนียวอุ้มน้ำได้ดี พื้นที่มีความลาดชัน รวมถึงกระแสลมและแสงแดด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของกรรมวิธีการผลิต เทคนิคและเครื่องมือต่างๆ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ชาวนาเกลือ
แม่กลองล้วนได้รับการถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่น นับเป็นภูมิปัญญาที่ทรงคุณค่าทำให้ลูกหลานมีอาชีพสืบต่อมาด้วยปัจจัยตามที่กล่าวมาทำให้ “เกลือสมุทรแม่กลอง” มีความขาว สะอาด มีรสชาติเค็มกลมกล่อมตามธรรมชาติ ไม่เค็มจัดเกินไป และเป็นเกลือสมุทรคุณภาพดีที่มีชื่อเสียง เป็นที่ยอมรับจากคนทั่วไป เป็นสินสินค้าที่มีชื่อเสียง อีกประเภทของจังหวัดสมุทรสงคราม

ขอบเขตพื้นที่การผลิต เกลือสมุทรแม่กลอง ครอบคลุมพื้นที่อำเภอเมืองสมุทรสงคราม จังหวัดสมุทรสงคราม

GIregistration210 page 0008แก