“กาแฟระนอง” “หรือ Ranong Coffee หรือ Ka Fae Ranong หมายถึง กาแฟพันธุ์โรบัสตา ที่ผ่านการผลิตและแปรรูปด้วยกรรมวิธีที่มีมาตรฐานเป็นกาแฟสาร กาแฟคั่ว กาแฟคั่วบด และกาแฟสำเร็จรูป รสชาติเข้มข้น กลมกล่อม มีความหอมของกลิ่นกาแฟเป็นเอกลักษณ์ ซึ่งปลูกและแปรรูปในเขตพื้นที่จังหวัดระนอง กรมทรัพย์สินทางปัญญาประกาศให้ขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) ” กาแฟระนอง ” เมื่อ 26 กันยายน 2567
วัตถุดิบ
(1) การเตรียมต้นพันธุ์ ต้องเป็นต้นพันธุ์กาแฟโรบัสต้าที่ขยายพันธุ์ด้วยวิธีเพาะเมล็ด เพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ เสียบยอด ติดตา หรือตอนกิ่ง จากในพื้นที่จังหวัดระนอง หรือแหล่งที่เชื่อถือได้ เช่น หน่วยงานภายใต้สังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นต้น
(2) ต้นพันธุ์ควรมีอายุ 6 – 14 เดือน มีความแข็งแรงสมบูรณ์ ปราศจากการทำลายของโรคและแมลง
การปลูก
(1) เตรียมพื้นที่ กำจัดตอพืช ไถพรวนกลบวัชพืช และปรับพื้นที่ หากเป็นพื้นที่มีชั้นดินดาน ควรไถทำลายชั้นดินดานให้หมด เพื่อให้ดินระบายน้ำดีขึ้น สำหรับพื้นที่ลาดเอียงให้ทำแนวขั้นบันได ควรวางแนวปลูกขวางความลาดชันของพื้นที่ เพื่อชะลอการพังทลายของหน้าดิน หรือตามความเหมาะสมของพื้นที่
(2) ระยะการปลูกกาแฟที่เหมาะสม คือ 2.5 x 2.5 ถึง 3.5 x 3.5 เมตร หรือตามความเหมาะสมของพื้นที่
(3) ขุดหลุมปลูกและทำการรองก้นหลุมด้วยปุ๋ย เช่น ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก อินทรียวัตถุต่างๆ เป็นต้น หรือพิจารณาตามความเหมาะสมของสภาพดิน
(4) กรีดถุงต้นกล้าออก บีบดินให้แตก หย่อนต้นกล้าลงในหลุมปลูกให้ส่วนโคนอยู่ในระดับเดียวกับผิวดินของหลุม แล้วกลบดินรอบโคนต้น ปักไม้หลักชิดกับลำต้นแล้วผูกยึดไว้กันลมโยก คลุมรอบโคนต้นต้นกล้าด้วยเศษหญ้าแห้ง หรือวัสดุอื่นๆ ห่างจากรอบโคนพอประมาณ กรณีที่ปลูกกาแฟกลางแจ้งให้ทำการพรางแสงต้นกาแฟที่ปลูกใหม่ หรือปลูกต้นไม้ให้ร่มเงา
การดูแลรักษา
(1) การให้น้ำ ควรดูแลให้ดินมีความชื้นสม่ำเสมอ โดยเฉพาะช่วงปลูกใหม่ ควรรดน้ำอย่างสม่ำเสมอเพื่อไม่ให้ต้นกาแฟขาดน้ำ
(2) การตัดแต่งกิ่ง ควรทำการตัดแต่งกิ่งกาแฟอย่างสม่ำเสมอทุกปี
(3) การใส่ปุ๋ย ควรใส่ปุ๋ยตามอายุของต้นกาแฟแต่ละช่วง โดยก่อนใส่ปุ๋ย ให้ทำการกำจัดวัชพืชรอบโคนต้นก่อนแล้วโรยปุ๋ยเป็นลักษณะวงกลมรอบทรงพุ่ม อาจใส่ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมัก เพื่อปรับสภาพดินควบคู่กันไป ทั้งนี้ชนิดและปริมาณให้พิจารณาตามความเหมาะสมต่อความต้องการของต้นกาแฟในแต่ละช่วง
การเก็บเกี่ยว
(1) ระยะเวลาที่เหมาะสมในการเก็บเกี่ยว คือ ช่วงเดือนพฤศจิกายน – เดือนกุมภาพันธ์
(2) การเก็บเกี่ยวต้องเก็บเมื่อผลแก่จัดหรือสุกเต็มที่ โดยสังเกตได้จากผลกาแฟที่เปลี่ยนเป็นสีแดงเข้มหรือสีส้ม
(3) วิธีการเก็บเกี่ยว ใช้มือเลือกเก็บผลแก่จัดหรือสุกเต็มที่ ควรเก็บใส่ภาชนะ เช่น ถุงตาข่ายไนล่อนหรือกระสอบป่านที่สะอาด เป็นต้น
(4) นำผลกาแฟสดที่เก็บเกี่ยวได้ เทลงในภาชนะที่บรรจุนำสะอาด ล้างให้สะอาด คัดแยกเมล็ดที่ลอยน้ำ เมล็ดที่ยังไม่สุกเต็มที่ และเมล็ดที่มีร่องรอยการทำลายของแมลงศัตรูพืช รวมถึงเศษใบไม้ และสิ่งแปลกปลอมออก
(5) ทำการนำผลกาแฟที่คัดแล้วเข้าสู่กระบวนการแปรรูปทันที หรือภายในระยะเวลาไม่เกิน 24 ชั่วโมง หลังจากเก็บเกี่ยวผลกาแฟสด โดยไม่ควรมัดปากถุงหรือกระสอบจนแน่น เพื่อไม่ให้เกิดการหมักก่อนเข้าสู่กระบวนการต่อไป
ลักษณะภูมิประเทศ
จังหวัดระนองเป็นจังหวัดภาคใต้ตอนบน มีพื้นที่ประมาณ 2,077,875 ไร่ เป็นพื้นที่ราบร้อยละ 14และภูเขาร้อยละ 86 มีเกาะในทะเลอันดามัน มีลักษณะรูปร่างเรียวยาว จากทิศเหนือสุดจรดใต้สุดยาว 169 กิโลเมตร มีลักษณะภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นภูเขาสลับซับซ้อน มีป่าปกคลุมทางทิศตะวันออกของจังหวัด พื้นที่ลาดเอียงสู่ทะเลอันดามันทางทิศตะวันตก และมีแม่น้ำกระบุรีกั้นพรมแดนไทยกับสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา กลุ่มชุดดินที่เพาะปลูกกาแฟส่วนใหญ่เป็นกลุ่มชุดดินที่ 26, 32, 34 และ 45 ซึ่งเกิดจากตะกอนลำน้ำหรือวัตถุต้นกำเนิดดินเนื้อละเอียดที่มาจากหินต้นกำเนิดชนิดต่างๆ ทั้งหินอัคนี หินตะกอน หรือหินแปร ผุพังสลายตัวและมาทับถมกัน พบบริเวณพื้นที่ดอน มีลักษณะเป็นลูกคลื่นจนถึงพื้นที่เนินเขา เนื้อดินเป็นดินเหนียว ดินร่วนหรือดินร่วนปนทราย สีดินเป็นสีน้ำตาล สีเหลือง หรือสีแดง ซึ่งเป็นดินที่มีความอุดมสมบูรณ์ ระบายน้ำได้ดี โดยชุดดินที่พบมาก ได้แก่ ชุดดินกระบี่ ชุดดินพังงา ชุดดินรือเสาะ ชุดดินคลองซาก โดยเป็นดินที่เหมาะสมต่อการชอนไชของรากในการดูดน้ำและธาตุอาหาร รวมถึงมีช่องว่างที่เกิดจากก้อนกรวดในดิน ทำให้มีพื้นที่สะสมออกชิเจนบริเวณราก ประกอบกับดินชุดต่างๆ มีอินทรียวัตถุทั้งดินชั้นบนและดินชั้นล่าง จึงเหมาะสมต่อการปลูกต้นกาแฟซึ่งเป็นพืชที่มีลักษณะระบบรากตื้นจึงได้รับธาตุอาหารหลักจากดินได้อย่างเต็มที่
ลักษณะภูมิอากาศ
จังหวัดระนองตั้งอยู่ในเขตที่ได้รับอิทธิพลจากมรสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดปกคลุมประเทศไทยระหว่างกลางเดือนพฤษภาคมถึงเดือนตุลาคม มรสุมจะนำมวลอากาศชื้น จากมหาสมุทรอินเดียมาสู่ประเทศไทย ทำให้มีเมฆมากและฝนตกทั่วไป โดยเฉพาะบริเวณชายฝั่งทะเลจังหวัดระนอง ซึ่งเป็นจุดรับฝนแรกของปี และได้รับอิทธิพลจากมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือพัดมาจากฝั่งอ่าวไทยระหวางเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนมกราคม ทำให้เกิดฝนตก 7 – 8 เดือนต่อปี มีฝนหลงฤดูในช่วงกลางฤดูร้อน อุณหภูมิมีความแตกต่างกันไม่มากนักระหว่างเดือนที่มีอุณหภูมิสูงที่สุดกับเดือนที่มีอุณหภูมิต่ำที่สุด มีอุณหภูมิเฉลี่ย 26 – 28 องศาเซลเซียส ปริมาณน้ำฝนเฉลี่ย 4,000 มิลลิเมตรต่อปี ซึ่งอิทธิพลของมรสุมทั้งสองฤดู ทำให้บริเวณจังหวัดระนองมีปริมาณน้ำฝนมาก มีความชุ่มชื้น และความขึ้นสัมพัทธ์สูงเป็นเวลานาน
จากสภาพภูมิศาสตร์และภูมิอากาศดังกล่าวจึงมีความเหมาะสมกับการปลูกกาแฟ คือ ลักษณะของดินเป็นเนื้อดินเหนียวที่มีวัตถุต้นกำเนิดดินมาจากหินชนิดต่างๆ ทั้งหินอัคนี หินตะกอน หรือหินแปร สีดินเป็นสีน้ำตาล สีเหลือง หรือสีแดงและเป็นกลุ่มดินเหนียว ดินร่วน หรือดินร่วนปนทราย ซึ่งเป็นดินที่มีความอุดมสมบูรณ์ ระบายน้ำได้ดี จึงทำให้ต้นกาแฟซึ่งเป็นพืชที่มีระบบรากตื้นได้รับธาตุอาหารจากดินได้อย่างเต็มที่ และทำให้เจริญเติบโตได้ดี ประกอบกับสภาพภูมิอากาศที่ได้รับลมมรสุมทั้งทิศตะวันตกและทิศตะวันออก ทำให้บริเวณจังหวัดระนองมีปริมาณน้ำฝนมาก มีความชุ่มชื้นส่งผลให้ต้นกาแฟออกดอกได้ดี ทำให้เป็นพื้นนที่ที่สามารถปลูกกาแฟได้คุณภาพดี และส่งผลให้มีรสชาติเข้มข้น กลมกล่อม มีความหอมของกลิ่นกาแฟเป็นเอกลักษณ์ของกาแฟระนอง
ประวัติความเป็นมา
จังหวัดระนองเป็นจังหวัดต้นๆ ของประเทศไทยที่มีการปลูกกาแฟ และมีต้นกาแฟอายุกว่า 100 ปี โดยนายเหล็ง แซ่ชั่น ช่างฝีมือก่อสร้าง ได้เดินทางข้ามมาจากเมืองปีนัง เพื่อมาช่วยก่อสร้างสถานที่สำคัญ เช่น ศาลากลางจังหวัดระนองหลังเก่า และตึกชิโนโปรตุกีส เป็นต้น เมื่อครั้งที่เดินทางมาได้นำต้นโกปี๊จากเมืองปีนังมาปลูกและนำผลมาแปรรูปคั่วขายให้ชาวระนอง คนระนองจึงได้ดื่มโกปี๊มาแต่ดั้งเดิม และมีการทำกาแฟสารแบบเปียกมาเป็นร้อยปี และเริ่มปลูกมากขึ้นเมื่อราวปี 2527 โดยชาวนครศรีธรรมราชและสุราษฎร์ธานีบางส่วนได้โยกย้ายถิ่นฐานมาหาที่ดินใหม่เพื่อทำการปลูกกาแฟ เพราะเชื่อว่าจะให้ผลผลิตดีในดินที่ไม่เคยเพาะปลูกอะไรมาก่อนจึงมาตั้งรกรากในบริเวณอำเภอกระบุรี เริ่มถางป่าเพื่อปลูกกาแฟและข้าวไว้สำหรับบริโภค โดยนำต้นกาแฟมาจากอำเภอสิชล จังหวัดนครศรีธรรมราช และอำเภอพนม จังหวัดสุราษฎร์ธานี เริ่มปลูกในพื้นที่ราว 100 ไร่ จนในปี 2532เกิดมหาวาตภัยพายุเกย์ ชาวบ้านบางส่วนย้ายกลับภูมิลำเนาและได้ทิ้งไร่กาแฟไว้ จึงได้มีการบูรณะต้นกาแฟ ปลูกกาแฟ คือ อำเภอกระบุรี และอำเภอละอุ่น จากนั้นในปี 2545 เริ่มมีเกษตรกรจากถิ่นอื่นทั้งจากภาคใต้และภาคตะวันออกเฉียงเหนือได้ย้ายเข้ามาปลูกกาแฟจนมีพื้นที่การผลิตขยายเพิ่มมากขึ้น ปัจจุบันกาแฟระนองจึงนับเป็นพืชเศรษฐกิจของจังหวัดระนอง
นอกจากนี้ จังหวัดระนองยังเป็นแหล่งผลิตกาแฟพันธุ์โรบัสต้า แหล่งใหญ่เป็นอันดับที่ 1 ของกลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝังอันดามัน และเป็นอันดับ 2 ของประเทศ
ทั้งนี้ขอบเขตพื้นที่การปลูกและแปรรูปกาแฟระนอง ครอบคลุมพื้นที่จังหวัดระนอง