“กาแฟดอยมูเซอตาก” GI กาแฟที่เต็มไปด้วยเรื่องราวของชาวดอยมูเซอ

292275889 555890779657218 2489886709915046691 n

“กาแฟดอยมูเซอตาก” หรือ Doi Muser Tak Coffee nso Kafae Doi Muser Tak หมายถึง กาแฟอาราบิกาและกาแฟโรบัสตา เป็นกาแฟที่มีกลิ่นหอมโทนผลไม้และเมล็ดถั่ว มีความเข้มข้นของรสสัมผัสแบบเบาบางและมีรสชาติกลมกล่อมเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว ผ่านกระบวนการปลูกและผลิตที่เป็นมาตรฐาน มีคุณภาพ ปลูกที่ดอยมูเซอในพื้นที่สูงจากระดับน้ำทะเลตั้งแต่ 800 เมตรขึ้นไป ของตำบลแม่ท้อ อำเภอเมืองตาก และตำบลด่านแม่ละเมา อำเภอแม่สอด และแปรรูปในพื้นที่ 2 อำเภอ ได้แก่ อำเภอแม่สอด และอำเภอเมืองตาก ของจังหวัดตาก ทั้งนี้กรมทรัพย์สินทางปัญญา ประกาศให้ขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ ( GI ) “กาแฟดอยมูเซอตาก” เมื่อ 26กันยายน 2567

otop img 41614155983

การปลูก

(1) ต้นพันธุ์กาแฟอาราบิกา เป็นต้นพันธุ์ที่มีลักษณะแข็งแรงสมบูรณ์ ไม่มีโรคและแมลงรบกวน มาจากแหล่งที่เชื่อถือได้ โดยได้รับต้นกล้าจากศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรตาก เช่น พันธุ์เชียงใหม่ 80 พันธุ์ H420/9 เป็นต้น หรือผู้ผลิต ผู้ประกอบการค้าในพื้นที่จัดหาต้นกล้ามา เช่น พันธุ์เกอิชา และพันธุ์จาวา เป็นต้น

(2) ต้นพันธุ์กาแฟโรบัสตา เป็นพันธุ์ดั้งเดิมหรือพันธุ์พื้นเมือง ต้นพันธุ์ที่มีลักษณะแข็งแรงสมบูรณ์ ไม่มีโรคและแมลงรบกวน ได้รับต้นกล้าจากศูนย์พัฒนาราษฎรพื้นที่สูงดอยมูเซอ หรือได้รับมาจากผู้ผลิต ผู้ประกอบการค้าที่มีความน่าเชื่อถือจัดหามาให้

(3) การเพาะต้นกล้า ให้คัดเลือกเมล็ดพันธุ์ที่สมบูรณ์ นำไปเพาะในแปลงหรืออุปกรณ์เพาะชำ เมื่อต้นกล้าอยู่ในระยะปีกผีเสื้อ (ใบเลี้ยง 1 คู่) หรือสูง 6- 7 เซนติเมตร ให้ย้ายต้นกล้าลงถุงเพาะชำแล้วนำไปอนุบาลในโรงเพาะชำ

product cover 1614155983

(4) เมื่อต้นกล้ามีอายุ 8 – 12 เดือน หรือมีใบจริง 4 – 6 คู่ มีสภาพแข็งแรงสมบูรณ์ ไม่มีโรคและแมลงรบกวน ให้นำไปปลูกในพื้นที่ระดับความสูง 800 เมตรจากระดับน้ำทะเลขึ้นไป และควรปลูกภายใต้ต้นไม้ใหญ่เพื่อเป็นร่มเงาธรรมชาติ

(5) ระยะการปลูก พันธุ์อาราบิกา มีระยะห่าง 2 x2 เมตร ส่วนพันธุ์โรบัสตา มีระยะห่าง 3×3 เมตร หรือตามความเหมาะสมของพื้นที่ ควรปลูกในช่วงต้นฤดูฝน เดือนพฤษภาคม – กรกฎาคม

การดูแลรักษา

(1) กำจัดวัชพืชอย่างสม่ำเสมอ ใส่ปุยบำรุงใบ บำรุงผล และบำรุงดิน ในช่วงให้ผลและหลังเก็บเกี่ยวผลผลิต สำรวจและหมั่นป้องกันกำจัดโรคและแมลงศัตรูพืช

(2) ควรตัดแต่งกิ่งอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง หลังจากการเก็บเกี่ยว เช่น กิ่งแห้ง กิ่งที่ได้รับความเสียหายกิ่งที่เป็นโรค หรือกิ่งที่มีแมลง เป็นต้น

การเก็บเกี่ยว

(1) เก็บเกี่ยวในช่วงเดือนพฤศจิกายน – กุมภาพันธ์ของทุกปี โดยสามารถเก็บผลกาแฟสดได้เมื่อต้นกาแฟมีอายุตั้งแต่ 3 ปีขึ้นไป

(2) เก็บผลกาแฟสดด้วยมือทีละผล โดยเก็บเฉพาะผลที่สุก คือ ผลมีสีแดงทั่วทั้งผล นำมาลอยน้ำ เพื่อคัดแยกผลกาแฟ โดยจะเลือกเฉพาะผลที่สมบูรณ์ ซึ่งจะจมน้ำ

ลักษณะภูมิประเทศ

ดอยมูเซอ บริเวณตำบลแม่ท้อ อำเภอเมืองตาก และตำบลด่านแม่ละเมา อำเภอแม่สอด จังหวัดตากเป็นพื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์ในด้านทรัพยากรป่าไม้ และเป็นแหล่งต้นน้ำสำคัญแห่งหนึ่งของประเทศ มีสภาพพื้นที่สูงกว่าระดับน้ำทะเล 800 เมตรขึ้นไป สภาพภูมิประเทศเป็นภูเขาสูงสลับกับหุบเขาในเขตเทือกเขาถนนธงชัย สภาพดินชั้นบนมีความร่วนและมีอินทรียวัตถุในดินค่อนข้างสูง ระบายน้ำได้ดี และมีแหล่งน้ำธรรมชาติ คือ น้ำในลำห้วยและอ่างเก็บน้ำภายในศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรตาก เป็นที่กักเก็บน้ำฝน มีอุณหภูมิโดยเฉลี่ยตลออดปี 18.1 องศาเซลเซียส มีปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยตลอดปี 1,501 มิลลิเมตร โดยสภาพภูมิประเทศและภูมิอากาศ ทำให้ผลกาแฟดอยมูเซอตาก สุกช้า เมล็ดกาแฟสะสมสารอาหารไว้ได้มาก

ประวัติความเป็นมา

ในอดีต ดอยมูเซอ บริเวณตำบลแม่ท้อ อำเภอเมืองตาก และตำบลด่านแม่ละเมา อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก เป็นพื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์ในด้านทรัพยากรป่าไม้และเป็นแหล่งต้นน้ำสำคัญแห่งหนึ่งของประเทศ ต่อมามีชาวไทยภูเขาเผ่าต่าง ๆ อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานในพื้นที่ดอยมูเซอเกิดเป็นชุมชนที่อาศัยโดยรอบจำนวนมาก ชาวบ้านส่วนใหญ่ประกอบอาชีพการเกษตรเชิงเดี่ยวโดยเฉพาะฝิ่น ซึ่งถือเป็นพืชที่ทำลายทั้งความมั่นคงทางสังคมและสิ่งแวดล้อม จากการขยายพื้นที่ปลูกฝิ่น ส่งผลให้สภาพป่าไม้ถูกทำลายกลายเป็นภูเขาหัวโล้น ชาวบ้านติดยาเสพติดเป็นจำนวนมาก

จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2494 ได้มีการจัดตั้งกรมกสิกรรม (กรมวิชาการเกษตรในปัจจุบัน)มีพันธกิจหลักด้านการวิจัยกาแฟ โดยนายสมบูรณ์ ณ ถลาง อดีตผู้อำนวยการกองการยาง กรมกสิกรรม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้นำเมล็ดกาแฟอาราบิกา จำนวน 4 สายพันธุ์ ได้แก่ ทิปิก้า (Typica) เบอร์บอน(Bourbon) คาทูร่า(Caturra) และมุนดู – นูวู (Mundo Novo) จากประเทศบราชิลมายังประเทศไทย และในปีพ.ศ. 2502 ได้ทดลองปลูกไว้ที่สถานีทดลองพืชสวนมูเซอ จังหวัดตาก หรือศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรตาก(ดอยมูเซอ)

ปัจจุบันกาแฟอาราบิกาที่ปลูกในพื้นที่ดอยมูเซอ บริเวณ ต.แม่ท้อ อ,เมืองตากและตำบลด่านแม่แม่ละเมา อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก เริ่มต้นพัฒนาและมีการส่งเสริมอย่างจริงจังตั้งแต่ช่วงปี พ.ศ. 2517 ครั้งที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดดุลเดชมหาราช บรมนาถบพิตร (ครั้นทรงพระนามในขณะนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช) และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีและสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ทรงเยี่ยมราษฎรที่หมู่บ้านมูเซอส้มป่อย ตำบลด้านแม่ละเมา อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ซึ่งเป็นหมู่บ้านที่มีพื้นที่ติดต่อกับสถานีทดลองพืชสวนดอยมูเซอ และทรงมีพระราชกระแสรับสั่งกับหัวหน้าสถานีทดลองพืชสวนดอยมูเซอ เรื่องการปลูกกาแฟของชาวไทยภูเขาว่า

“บริเวณนี้น่าจะปลูกได้เหมาะสมดี ขอให้ช่วยกันแนะนำชาวเขาให้มีการปลูกกาแฟที่ถูกต้องและมีการจัดการที่ดีเพราะรู้สึกว่าชาวเขาที่จะปลูกอยู่ไม่เป็นระเบียบ และพันธุ์กาแฟที่จะส่งเสริมให้ชาวเขาปลูกควรเป็นพันธุ์กาแฟที่แตกต่างจากภาคใต้” พร้อมทั้งพระราชทานแนวพระราชดำริให้กรมวิชาการเกษตรร่วมกับโครงการหลวงนำกาแฟอาราบิกาจากประเทศโปรตุเกส อินเดีย และประเทศอื่น ๆ เข้าศึกษาวิจัยพัฒนาสายพันธุ์และส่งเสริมให้เกษตรกรในพื้นที่ดอยมูเซอปลูกกาแฟอาราบิกา ต่อมา นายอินสน คล่องการงาน หัวหน้าสถานีทดลองพืชสวนดอยมูเซอในขณะนั้นได้สนองพระราชดำริส่งเสริมเกษตรกรในพื้นที่ดออยมูเซอ จังหวัดตาก ปลูกกาแฟอาราบิกา และได้อบรมถ่ายทอดองค์ความรู้เทคโนโลยีของกรมวิชาการเกษตรให้กับกลุ่มเกษตรกรในพื้นที่จังหวัดตาก ในเรื่องกระบวนการผลิตและการแปรรูปผลิตภัณฑ์ ตลอดจนการเก็บรักษาเมล็ดกาแฟ การคัดเกรดเมล็ดกาแฟ การคั่วกาแฟ และการตรวจสอบคุณภาพกาแฟ ส่งผลให้เกษตรกรชาวดอยมูเซอ จังหวัดตาก ปลูกกาแฟได้ผลผลิตที่ดี ประกอบกับสภาพพื้นที่ที่อุดมสมบูรณ์และเอื้ออำนวยต่อการเพาะปลูก ทำให้ได้กาแฟที่มีคุณภาพดี

ส่วนกาแฟโรบัสตา ในช่วงปี พ.ศ. 2505 ศูนย์พัฒนาสงเคราะห์ชาวเขาจังหวัดตาก ได้ส่งเสริมการปลูกกาแฟโรบัสตาหรือกาแฟใบใหญ่ เพื่อทดแทนการปลูกฝิ่นของชาวไทยภูเขาในเขตพื้นที่หมู่บ้านอุมยอม ตำบลแม่ท้อ อำเภอเมืองตาก จังหวัดตาก และประมาณช่วงปี พ.ศ. 2515 ได้ขยายพื้นที่ปลูกไปยังหมู่บ้านห้วยปลาหลด ตำบลด่านแม่ละเมา อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก โดยมีการจำหน่ายผลกาแฟตากแห้งให้แก่พ่อค้าอำเภอลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์ที่เดินทางมารับซื้อในพื้นที่ดอยมูเซอ ซึ่งในช่วงปี พ.ศ. 2519 – 2530 ผลผลิตกาแฟโรบัสตาในพื้นที่ดอยมูเซอ จังหวัดตาก จำหน่ายได้ปริมาณมากกว่า 100 ตันต่อปี โดยชาวบ้านมีการส่งจำหน่ายให้ผู้แปรรูปอำเภอลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์ อำเภอเด่นชัย จังหวัดแพร่ และภายในจังหวัดตาก และพัฒนาเพิ่มการปลูก ผลิต แปรรูป และจำหน่ายกาแฟดอยมูเซอตาก เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน

ปัจจุบัน เกษตรกรกาแฟดอยมูเซอตากมีการสร้างแบรนด์สินค้า สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลผลิตกาแฟ ตั้งแต่ส่วนของผลกาแฟสด กาแฟกะลา กาแฟสาร จนถึงกาแฟคั่ว จนได้รับรางวัลคุณภาพจากหน่วยงานต่าง ๆ เช่นอาหารและยา (อย.) มาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน (มผช.) หรือการเป็นสินค้าหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ระดับ 5 ดาว เป็นต้น พร้อมทั้งได้รับการสนับสนุนจากจังหวัดตากและหน่วยงานภาครัฐในพื้นที่ ในการขยายโอกาสและส่งเสริมช่องทางการจำหน่ายให้กับเกษตรกร เช่น งาน Tak Exotic Coffee Championship Thalland “มหัศจรรย์กาแฟดี จังหวัดตาก” ณ จังหวัดตาก ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2565 เป็นต้นมา รวมถึงเป็นตัวแทนสินค้าของประเทศไทยในการนำไปเข้าร่วมจัดแสดงสินค้า ณ ต่างประเทศ เป็นต้น

ด้วยสภาพภูมิศาสตร์ของพื้นที่เพาะปลูกบนดอยมูเซอ บริเวณตำบลแม่ท้อ อำเภอเมืองตาก และตำบลด่านแม่ละเมา อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ที่มีความสมบูรณ์ทางระบบนิเวศ มีอินทรีย์วัตถุในดินค่อนข้างสูงประกอบกับเกษตรกรดอยมูเซอ จังหวัดตาก มีวิธีการปลูกและดูแลรักษาตามหลักวิชาการการเกษตรและการส่งเสริมของหน่วยงานภาครัฐในพื้นที่ ดังกล่าวข้างต้น ส่งผลให้กาแฟดอยมูเซอตากที่ปลูกในแหล่งปลูกนี้ มีรสชาติกาแฟที่มีกลิ่นหอมโทนผลไม้ (Fruity) และเมล็ดถั่ว (Nutty) และมีรสชาติกลมกล่อมเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวแตกต่างกว่าพื้นที่อื่น ซึ่งเป็นที่นิยมในหมู่ผู้ที่ชื่นชอบกาแฟ และได้รับการยอมรับจากผู้บริโภคทั้งภายในและนอกพื้นที่


ขอบเขตพื้นที่การปลูก กาแฟดอยมูเซอตาก ครอบคลุมพื้นที่ดอยมูเซอที่ความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลางตั้งแต่ 800 เมตรขึ้นไป ในเขตพื้นที่ตำบลแม่ท้อของอ๋าเภอเมืองตาก และตำบลด่านแม่ละเมา ของอำเภอแม่สอดและแปรรูปในเขตพื้นที่ 2 อำเภอ ของจังหวัดตาก ได้แก่ อำเภอเมืองตากและอำเภอแม่สอด

GIregistration234 page 0008 9yf