“มังคุดเขาคีรีวง” ราชินีผลไม้แดนใต้ สินค้าGI ขึ้นชื่อของจังหวัดนครศรีธรรมราช

“มังคุดเขาคีรีวง”(Khao Khiriwong Mangosteen หรือ Mangkud Khao Khiriwong) หมายถึง มังคุดพันธุ์พื้นเมือง ลักษณะผลกลมใหญ่ ก้นรี เปลือกหนา ผิวมันวาวสีชมพูถึงสีแดง หรือสีม่วงอมชมพู มีนวลแป้งเคลือบผิว ขั้วและกลีบขั้วสีเขียวสด เนื้อสีขาว หนานุ่ม ฉ่ำน้ำ มีรสชาติเปรี้ยวอมหวาน ปลูกในเขตเทือกเขาหลวงที่ระดับความสูงจากระดับน้ำทะเล 100 – 900 เมตร ในเขตพื้นที่ที่กำหนดของตำบลกำโลน ตำบลท่าดี และตำบลเขาแก้ว อำเภอลานสกา จังหวัดนครศรีธรรมราช ทั้งนี้กรมทรัพย์สินทางปัญญาประกาศให้ขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ ( GI) “มังคุดเขาคีรีวง” เมื่อปี 2564

351520267 2442162902626095 1457972747748531448 n

การปลูก

(1) ใช้พันธุ์มังคุดพื้นเมือง โดยคัดเลือกเมล็ดพันธุ์จากในพื้นที่อำเภอลานสกาหรือจากแหล่งที่เชื่อถือถือได้มาเพาะชำอย่างน้อย 2 ปี ให้ต้นกล้ามีความสูงประมาณ 1 เมตร ก่อนนำไปปลูกในแปลงที่ได้เตรียมไว้

(2) ถางหญ้าเพื่อกำจัดวัชพืชในบริเวณที่ปลูก โดยควรปลูกร่วมกับพืชเกษตรชนิดอื่น

(3) การเตรียมหลุมปลูก ขุดหลุมลึก 30 – 40 เชนติเมตร กว้าง 40 เชนติเมตร ระยะห่างระหว่างต้น 8 – 10 เมตร หรือตามความเหมาะสมของพื้นที่

ชุมชนคีรีวง มังคุดเขาคีรีวง ๒๐๐๒๒๓ 0022 1024x768 1

(4) ควรให้น้ำช่วงฤดูแล้ง ในช่วงเดือนมีนาคม – เมษายน

(5) กำจัดวัชพืชอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง และใส่ปุ๋ยบำรุงต้น ปีละ 1 2 ครั้ง

(6) ช่วงออกดอก ควรเว้นช่วงการให้น้ำ 20 – 30 วัน เพื่อกระตุ้นการออกดอกติดผล หลังจากนั้นต้องมีการดูแลให้น้ำ ใส่ปุ๋ยอย่างต่อเนื่อง กรณีแล้งมากจะให้ยากำจัดเพลี้ยเพื่อป้องกันศัตรูพืช

(7) ช่วงติดผล ต้องมีการดูแลให้น้ำและใส่ปุ๋ยอย่างต่อเนื่อง หรือตามความเหมาะสมของพื้นที่

(8) หลังเก็บเกี่ยว ควรใส่ปุย ดูแลต้น และตัดแต่งกิ่งตามความเหมาะสม

การเก็บเกี่ยว

(1) เมื่อมังคุดมีอายุ 8 – 10 ปี จะให้ผลผลิต ขึ้นอยู่กับความสมบูรณ์ของต้น

(2) ระยะเก็บเกี่ยวผลผลิตที่เหมาะสม คือ เดือนกรกฎาคม – เดือนธันวาคม ขึ้นอยู่กับระดับความสูงของพื้นที่ ซึ่งควรรอให้ผลผลิตแก่จัด โดยสังเกตจากเปลือกผลมังคุด จะมีลักษณะจุดสีแดงๆ ที่เปลือก หรือผลมีสีชมพู สีแดง สีม่วงอมชมพู ทั้งผล

(3) อุปกรณ์การเก็บเกี่ยว ใช้ไม้ไผ่ผ่าเป็นง่าม เพื่อใช้สอยลูกมังคุด หรือใช้มือเด็ดลูกมังคด หลังจากนั้นนำลูกมังคุดใส่ตะกร้าหรือภาชนะที่ได้เตรียมไว้ เพื่อรอจำหน่าย

ลักษณะภูมิประเทศ

พื้นที่ปลูก “มังคุดเขาคีรีวง” ครอบคลุมพื้นที่ตำบลกำโลน หมู่ที่ 3, 4, 5, 7, 8, 9, 10 และ 12 ตำบลท่าดี หมู่ที่ 3, 6 และ 7 และตำบลเขาแก้ว หมู่ที่ 2 และ 5 ในเขตอำเภอลานสกา จังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งอยู่ในภาคใต้ตอนกลาง บริเวณเทือกเขานครศรีธรรมราช ตั้งอยู่ที่ละติจุด 8 องศา 22 ลิปดา 15 ฟิลิปดา เหนือ และลองจิจูด 99 องศา 48 ลิปดา 20 ฟิลิปดา ตะวันออก สภาพภูมิประเทศเป็นพื้นที่ภูเขาสูงจากระดับน้ำทะเล 100 – 900 เมตร มีความลาดชัน ส่งผลให้ดินมีความอุดมสมบูรณ์ ระบายน้ำดี น้ำไหลผ่านไม่อุ้มน้ำมากเกินไป และลักษณะภูมิอากาศ เฉลี่ยรายปี พ.ศ. 2558 – 2562 มีอุณหภูมิเฉลี่ยทั้งปีอยู่ที่ 26.7 องศาเซลเชียส อุณหภูมิสูงสุดเฉลี่ย 34.2 องศาเซลเซียส และอุณหภูมิต่ำสุดเฉลี่ย 19.2 องศาเซลเซียส ปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยทั้งปีอยู่ที่ 3,052.5 มิลลิเมตรต่อปี ความชื้นสัมพัทธ์เฉลี่ยร้อยละ 95.1 และจำนวนวันที่ฝนตกทั้งปีเฉลี่ย 202 วัน ซึ่งระดับพื้นที่ในแต่ละระดับทำให้มีความชื้นที่แตกต่างกันส่งผลให้มังคุดสุกในระยะเวลาที่แตกต่างกัน

ด้วยสภาพภูมิประเทศและภูมิอากาศดังกล่าว ส่งผลให้ดินมีความอุดมสมบูรณ์ พื้นที่ลาดเอียงทำให้ระบายน้ำดี น้ำไหลผ่านไม่อุ้มน้ำมากเกินไป รวมทั้งภูมิอากากาศที่มีความชื้นค่อนข้างสูง การได้รับแสงแดดอย่างเพียงพอ มีปริมาณน้ำฝนเหมาะสมไม่มากจนเกินไป ส่งผลให้ มังคุดเขาคีรีวง มีผลใหญ่ เปลือกหนาและมันวาว รสชาติเปรี้ยวอมหวาน ซึ่งมีเอกลักษณ์แตกต่างจากพื้นที่อื่น

ประวัติความเป็นมา

ชุมชนคีรีวงได้ตั้งถิ่นฐานมากว่า 200 ปี ในอดีตชุมชมนี้เรียกว่า “บ้านขุนน้ำ” เพราะตั้งบ้านเรือนอยู่บริเวณต้นน้ำยอดเขาหลวงของเทือกเขานครศรีธรรมราช ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อหมู่บ้านเป็น “บ้านคีรีวง” ซึ่งมี”บ้านที่มีภูเขาล้อมรอบ” จากการสันนิษฐานของชาวบ้าน การปลูกมังคุดเริ่มจากนำมาปลูกภายใน “วัดวังไทร” ตำบลกำโลน อำเภอลานสกา จังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งได้รับสายพันธุ์มาจากหมู่เกาะชุนดาและโมลุกกะ ประเทศอินโดนีเซีย ก่อนจะกระจายปลูกในพื้นที่อำเภอลานสกา แล้วจึงนำมาปลูกในพื้นที่สวนของหมู่บ้านคีรีวง และเริ่มขยายพื้นที่ปลูกขึ้นไปปลูกบนพื้นที่สูงชั้นของเทือกเขาหลวง ลักษณะสวนของชาวคีรีวงจะเป็น “สวนสมรม” คือสวนที่ปลูกผลไม้และผักหลายๆชนิดในพื้นที่เดียวกัน เมื่อมีผลผลิต เช่น มังคุด ทุเรียน เงาะ สะตอ และหมาก เป็นต้น ก็จะนำไปแลกเปลี่ยนกับข้าวสาร เกลือ กะปิ และอาหารทะเลอื่นๆ กับชาวอำเภอหัวไทรและอำเภอ
ปากพนัง ด้วยสภาพภูมิประเทศและภูมิอากาศของพื้นที่ประกอบกับดินมีความอุดมสมบูรณ์ ปริมาณน้ำฝนเหมาะสมไม่มากจนเกินไป ส่งผลให้ “มังคุดเขาคีรีวง” มีผลใหญ่ เปลือกหนาและมันวาว รสชาติเปรี้ยวอมหวานซึ่งเป็นเอกลักษณ์แตกต่างจากพื้นที่อื่นทำให้ “มังคุดเขาคีรีวง” เป็นที่รู้จักทั่วไป และด้วยสภาพพื้นที่ที่เป็นภูเขาสูงทำให้การขนส่งมังคุดมีความยากลำบาก จึงได้เริ่มมีการนำรถมอเตอร์ไซค์วิบากมาใช้ขนส่งมังคุดจนใช้กันแพร่หลายมาจนถึงปัจจุบัน และกลายเป็นเอกลักษณ์ของพื้นที่เช่นกัน

“มังคุดเขาคีรีวง” เริ่มเป็นที่รู้จักของผู้บริโภคอย่างกว้างขึ้นในปี พ.ศ. 2556 เมื่อสำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดนครศรีธรรมราช ได้นำผลมังคุดไปแสดงในงาน Horti Asia 2013 ที่ศูนย์ประชุมไบเทคบางนา และปีถัดมาสำนักงานพาณิชย์จังหวัดนครศรีธรรรมราช ก็ได้นำ” มังคุดเขาคีรีวง”ไปแสดงสินค้าในงานดังกล่าวอีก นอกจากนี้เกษตรกรได้นำ มังคุดเขาคีรีวง ไปจำหน่ายที่ห้างสรรพสินค้าสยามพารากอน กรุงเทพมหานคร ในราคากิโลกรัมละ 499 บาท จนถึงราคากิโลกรัมละ 1,200 บาท ซึ่งได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี

ขอบเขตพื้นที่การปลูกและผลิต มังคุดเขาคีรีวง ครอบคลุมพื้นที่ตำบลกำโลน หมู่ที่ 3, 4, 5, 7, 8, 8, 9, 10และ 12 ตำบลท่าดี หมู่ที่ 3, 6 และ 7 และตำบลเขาแก้ว หมู่ที่ 2 และ 5 ในเขตอำเภอลานสกา จังหวัดนครศรีธรรมราช

GI64100164 page 0006 1สสสส