“จำปาดะสตูล” GI ผลไม้ประจำถิ่นใต้

“จำปาดะสตูล” (SATUN CHAMPEDAK) หมายถึง จำปาดะที่มีผลรูปทรงกระบอก เปลือกบาง เนื้อมีสีเหลืองอมส้ม (สีจำปา) สีเหลืองทอง หรือสีเหลืองนวล เนื้อหนา รสชาติหวานหอม และมีกลิ่นหอม ซึ่งปลูกในพื้นที่อำเภอเมือง อำเภอควนโดน อำเภอควนกาหลง อำเภอท่าแพ อำเภอละงู อำเภอทุ่งหว้าและอำเภอมะนัง ของจังหวัดสตูล กรมทรัพย์สินทางปัญญาประกาศให้ขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ ( GI )” จำปาดะสตูล” เมื่อปี 2562

450367451 87119

การปลูก

(1) การปลูกจำปาดะสตูล สามารถปลูกได้ตลอดทั้งปี แต่นิยมปลูกในช่วงต้นฤดูฝน เนื่องจากสภาพภูมิอากาศเหมาะสมกับการเจริญเติบโต

(2) ระยะปลูกอยู่ในช่วง 8 – 10 เมตร หลุมปลูกลึก 50 – 100 เซนติเมตร หรือตามความเหมาะสมของแต่ละพื้นที่

450644686 872469661574923 6052543507152485160 n

(3) รองก้นหลุมด้วยปุ๋ยที่ผสมกับดินปลูก แล้วใส่ดินที่คลุกเคล้าปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักด้านบนหรือตามความเหมาะสมของแต่ละพื้นที่

(4) ทิ้งไว้ 3 – 4 สัปดาห์ จึงจะนำต้นพันธุ์ที่แข็งแรงสมบูรณ์จากการเสียบยอด การทาบกิ่ง และการติดตา มาปลูกได้

(5) การใส่ปุ๋ยเพื่อบำรุงหน้าดิน ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของแต่ละพื้นที่ปลูก ความสมบูรณ์ของดิน หรือความสมบูรณ์ของต้นจำปาดะ

(6) การให้น้ำ แตกต่างกันไปตามช่วงอายุของต้นหรือขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของแต่ละพื้นที่

(7) การตัดแต่งและควบคุมทรงพุ่ม ทำการตัดแต่งกิ่งเล็ก หรือกิ่งแห้งตาย และกิ่งเป็นโรคออก หรือตามความเหมาะสมของแต่ละต้น

(8) การป้องกัน หรือกำจัดวัชพืช และศัตรูพืช ใช้วิธีการห่อผลด้วยโคร๊ะ หรือถุงพลาสติก ตามความเหมาะสมของแต่ละพื้นที่ และไม่ควรใช้สารเคมี หรือพ่นสารเคมีแก่ต้นจำปาดะ

การเก็บเกี่ยว

(1) ตั้งแต่ช่วงเดือนกรกฎาคม – กันยายนของทุกปี
(2) นับอายุวันเก็บเกี่ยว ประมาณ 110 – 120 วัน หลังดอกบาน หรือตามความเหมาะสมของแต่ละพื้นที่
(3) เก็บเกี่ยว ใช้มีดตัดที่ขั้วผล หรือใช้มือปลิดผล

ลักษณะภูมิประเทศ

จังหวัดสตูล ตั้งอยู่ทางตอนใต้สุดด้านตะวันตกของประเทศไทย ทางฝั่งทะเลอันดามัน ระหว่างละติจูดที่ 6 องศา 37 ลิปดา 15 ฟิลิปดา และลองจิจุดที่ 100 องศา 4 ลิปดา 10 ฟิลิปดา ตะวันออก

สภาพภูมิประเทศโดยทั่วไปมีภูเขาน้อยใหญ่ในตอนล่างและชายฝั่งตะวันตก ทำให้พื้นที่ของจังหวัดค่อยๆ ลาดเอียงลงสู่ทะเลด้านตะวันตกและทิศใต้ มีที่ราบแคบๆ ขนานไปกับชายฝั่งทะเล ถัดจากที่ราบลงไปเป็นบำชายเลนน้ำเต็ม มีบำแสมหรือป้าโกงกางอยู่เป็นจำนวนมาก ด้วยสภาพภูมิประเทศที่มีลักษณะเป็นภูเขา ส่งผลให้จังหวัดสตูลมีลำน้ำลายสั้นๆ ไหลผ่าน ที่มีต้นน้ำมาจากภูเขาทางทิศเหนือและทิศตะวันออกของจังหวัด

ลักษณะภูมิอากาศ

ร้อนชื้น ฝนตกชุก โดยได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ซึ่งพัดจากมหาสมุทรอินเดียเข้าสู่พื้นแผ่นดินใหญ่ หอบไอน้ำเข้ามาปะทะกับทิวเขานครศรีธรรมราช ซึ่งเป็นทิวเขาที่กั้นทิศทางลมลักษณะแนวเหนือใต้ ทำให้ฝนตกบริเวณพื้นที่ตามแนวภูเขา ช่วงที่มีฝนตกหนักมากที่สุด คือ ระหว่างเดือนสิงหาคม – เดือนดุลาคม มีความชื้นสัมพัทธ์อยู่ในเกณฑ์สูง เนื่องจากได้รับอิทธิพลจากมรสุมทั้ง 2 ฤดูและลักษณะภูมิประเทศอยู่ใกล้ทะเล มีกระแสลมพัดผ่านตลอดเวลา ความชื้นสัมพันธ์เฉลี่ยตลอดทั้งปี ประมาณร้อยละ 79

จากลักษณะสภาพภูมิประเทศและภูมิอากาศดังกล่าว ส่งผลทำให้สภาพพื้นที่ของจังหวัดสตูลมีดินที่อุดมสมบูรณ์เต็มไปด้วยแร่ธาตุ ซึ่งเกิดจากการสลายตัวผุพังของหินชนิดต่างๆ หรือจากวัตถุต้นกำเนิดพวกตะกอนลำน้ำ เนื้อดินบนเป็นดินร่วน มีน้ำใต้ดิน จึงทำให้พื้นที่จังหวัดสตูลเหมาะแก่การปลูกจำปาดะ ส่งผลให้จำปาดะสตูล มีรสชาติหวาน กลิ่นหอม เนื้อหนา เมล็ดเล็ก และมีสีสวย

ประวัติความเป็นมา

การปลูกจำปาดะในจังหวัดสตูล สันนิษฐานว่าปลูกกันมานาน ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 (พ.ศ.2483 – 2489) ซึ่งพบหลักฐานในพื้นที่อำเภอควนโดนมีต้นจำปาดะที่มีอายุมากกว่า 80 ปี การปลูกจำปาดะ ในช่วงแรกๆ นิยมปลูกในบริเวณบ้านเป็นลักษณะสวนผสมผสาน เพื่อไว้บริโภคในครัวเรือน มีการปลูกจำปาดะเชิงพาณิชย์ครั้งแรกที่สวนบริเวณศาลากลาง และพันธุ์จำปาดะที่นำไปขยายพันธุ์ต่อในหลายพื้นที่ก็นำมาจากต้นพันธุ์ที่สวนนี้

ในอดีตจังหวัดสตูลมีคำขวัญประจำจังหวัดว่า “ตะรุเตา ไก่ดำ จำปาดะ คนใจพระงามเลิศเชิดสตูล”ซึ่งเป็นสำนวนที่ชนะเลิศการประกวด โดยสมัยนั้นมีการรณรงค์ส่งเสริมการเลี้ยงไก่ดำ ส่งเสริมการปลูกจำปาดะ และจัดให้มีกิจกรรมประกวดจำปาดะ ต่อมา ปี พ.พ.ศ. 2534 ได้มีการเปลี่ยนคำขวัญไหม่ คือ “สตูลสงบ สะอาด ธรรมชาติบริสุทธิ์” และในปีนั้น จังหวัดสตูลได้มีการจัดงาน “วันจำปาดะและของดีเมืองสตูล”ขึ้นเป็นครั้งแรกที่อำเภอเมืองสตูล และในปี พ.ศ. 2537 ได้เปลี่ยนสถานที่จัดงานเป็นอำเภอควนโดน และจัดเป็นงานประจำจังหวัดมาจนถึงปัจจุบัน ทำให้ได้มีการพัฒนาและส่งเสริมให้ปลูกเชิงพาณิชย์มากขึ้น การปลูกจำปาดะจึงเพิ่มมากขึ้น ผู้คนรู้จักและนิยมบริโภคอย่างแพร่หลายทั้งในจังหวัดสตูลและจังหวัดใกล้เคียง ปัจจุบันจำปาดะจัดเป็นไม้ผลที่เป็นอัตลักษณ์ประจำถิ่นของจังหวัดสตูล สร้างชื่อเสียงและสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรชาวสตูลเป็นอย่างมาก

Sorchor62100123 page 0006