“กล้วยเล็บมือนางชุมพร” (Chumphon Ladyfinger Banana) หมายถึง กล้วยเล็บมือนางและเล็บมือนางอบแห้ง ที่มีลักษณะผลเล็ก ปลายผลเรียว เรียงติดกันคล้ายนิ้วมือ ผลและเนื้อเปลือกบาง เนื้อนุ่มรสหวาน มีกลิ่นหอม ส่วนกล้วยเล็บมือนางอบแห้ง เนื้อกล้วยมีสีน้ำตาล นุ่มเหนียวและไม่แห้งจนเกินไป รสชาติหวาน ซึ่งปลูกและผลิตในพื้นที่จังหวัดชุมพร กรมทรัพย์สินทางปัญญาประกาศให้ขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) ” กล้วยเล็บมือนางชุมพร” เมื่อปี 2558
ลักษณะภูมิประเทศ
จังหวัดชุมพรมีลักษณะพื้นที่ เป็นที่ราบตอนกลาง ที่ราบชายฝั่งทะเล พื้นที่ทางทิศตะวันตกเป็นที่สูงของเทือกเขาตะนาวศรี มีแม่น้ำสำคัญหลายสาย ได้แก่ แม่น้ำท่าตะเภา แม่น้ำสวี แม่น้ำหลังสวน สภาพดินเป็นดินร่วนปนดินเหนียว มีค่าความเป็นกรดเป็นด่างอยู่ในช่วง 5.0 – 6.5 มีความอุดมสมบูรณ์ มีอินทรีย์วัตถุที่เป็นธาตุอาหารที่สำคัญและจำเป็นต่อกล้วยเล็บมือนางชุมพร เช่น โพแทสเซียม และฟอสฟอรัส
ลักษณะภูมิอากาศ
จังหวัดชุมพรมีฤดูร้อน เริ่มตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ – กลางเดือนพฤษภาคมและฤดูฝน เริ่มตั้งแต่กลางเดือนพฤษภาคม – เดือนมกราคม อุณหภูมิเฉลี่ย 27.3 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุดดลอตปี 34.8 องศาเซลเซียส และอุณหภูมิต่ำสุดตลออดปี 21.6 องศาเซลเชียส ความชื้นสัมพัทธ์เฉลี่ยในอากาศทั้งปีร้อยละ 81 และมีปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยทั้งปีอยู่ในช่วง 1,500 – 2,300 มิลลิเมตรต่อปี
ด้วยลักษณะภูมิศาสตร์ดังกล่าว ที่มีความเหมาะสมในการปลูกกล้วยเล็บมือนางชุมพร ทำให้ชุมพรมีพื้นที่ปลูกกล้วยมากเป็นอันดับหนึ่งของประเทศ จำนวนมากกว่า 7,000 ไร่ และกล้วยเล็บมือนางชุมพร มีคุณลักษณะเฉพาะ มีรสชาติและกลิ่นที่เป็นเอกลักษณ์
ประวัติความเป็นมา
ประวัติและที่มาของ กล้วยเล็บมือนาง คาดว่าเป็นกล้วยป่า ที่ชาวบ้านในเขตอำเภอพะโต๊ะ เรียกว่า กล้วยนิ้วมือนาง ต่อมาเป็นคำว่า “กล้วยเล็บมือนาง” นอกจากนี้ ตามคำบอกเล่าของชาวบ้านอำเภอทุ่งตะโก มีการกล่าวถึงกล้วยชนิดหนึ่งที่ไม่มีเมล็ด ซึ่งนิยมนำมาปลูกที่บ้านทุ่งวังช้าง บ้านหาดยาย บ้านทุ่งตะโกและบ้านหลังสวน
นอกจากนี้ยังมีปรากฏคำว่า กล้วยเล็บมือนาง บันทึกในบทกลอนของสุนทรภู่ ซึ่งเขียนขึ้นในปี พ.ศ. 2427 ตอนหนึ่งว่า “กล้วยสี สะโต โวหาร เรียกแต่โบราณ อีกกล้วยประจำพาน หนึ่งเล็บมือนางนามกร” ทำให้ทราบได้ว่า กล้วยเล็บมือนางได้เป็นที่รู้จักตั้งแต่ในสมัยรัชกาลที่ 2 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
จังหวัดชุมพรเป็นจังหวัดที่มีชื่อเสียงในเรื่องผลไม้มาตั้งแต่สมัยที่เรียกกันว่า เมืองหลังสวน ซึ่งในสมัยนั้นการทำมาค้าขายและไปมาหาสู่กันระหว่างมณฑล (จังหวัด) ต่างๆ จะนิยมใช้ช้างเป็นพาหนะ หรือเรียกว่าการค้าขายกับหลังช้าง โดยใช้ระยะเวลาในการเดินทางหลายวัน การซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้าล่าช้า และทำให้ผลไม้ เช่น กล้วยเล็บมือนางเกิดการสุกงอมเกินกว่าจะนำมารับประทานได้ ดังนั้น ผู้ค้าขายกับชาวเมืองหลังสวนจึงนำผลผลิตที่มีอยู่มาแลกกับหน่อ หรือต้นของผลไม้ชนิดด่างๆ เพื่อนำไปปลูกเอง โดยเฉพาะต้นกล้วยเล็บมือนางที่เป็นผลไม้ที่ได้รับความนิยม ทำให้กล้วยเล็บมือนางเป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายในหลายพื้นที่โดยเฉพาะอย่างยิ่งในจังหวัดชุมพรและใกล้เคียง
ต่อมาในสมัย รศ.108 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 ได้เสด็จประพาสต้นที่เมืองหลังสวน และในการเสด็จครั้งนั้นราษฎรได้มีการทูลเกล้าฯ ถวายสิ่งของและผลไม้หลายชนิดของจังหวัดชุมพร รวมไปถึงกล้วยเล็บมือนาง จึงทำให้กลัวยเล็บมือนางเริ่มเป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายมากยิ่งขึ้นดั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
จากประวัติต้นกำเนิดของกล้วยเล็บมือนางที่มีการกล่าวถึงในพื้นที่จังหวัดชุมพร จึงทำให้กล้วยเล็บมือนาง เป็นผลไม้ที่มีชื่อเสียงประจำจังหวัด และเป็นสัญลักษณ์อย่างหนึ่งของจังหวัด จนได้มีการนำมาเป็นส่วนหนึ่งของคำขวัญประจำจังหวัดชุมพร ว่า “ชุมพรประตูสู่ภาคใต้ ไหว้เสด็จในกรม ชมไร่กาแฟ แลหาดทรายรี ดีกล้วยเล็บมือ ขึ้นชื่อรังนก”