“กล้วยหินบันนังสตา” (GLUAY HIN BANNANG SATA) หมายถึง กล้วยหินพันธุ์พื้นเมืองของอำเภอบันนังสตาซึ่งปลูกในพื้นที่ 7 อำเภอของจังหวัดยะลา ได้แก่ อำเภอบันนังสตา อำเภอธารโต อำเภอกรงปีนัง อำเภอยะหา อำเภอเบตง อำเภอกาบัง และอำเภอเมือง เป็นกล้วยที่มีเนื้อแข็งและเมื่อสุกรสชาติจะออกเปรี้ยวเล็กน้อย กรมทรัพย์สินทางปัญญา ประกาศให้ขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ ( GI) ” กล้วยหินบันนังสตา ” เมื่อ 1 ส.ค. 2554
ลักษณะภูมิประเทศ
จังหวัดยะลาเป็นจังหวัดเดียวในภาคใต้ที่ไม่มีพื้นที่ติดทะเล ลักษณะภูมิประเทศส่วนใหญ่ เป็นภูเขาสูงสลับซับซ้อน มีลำธารสายเล็กๆ มากมายซึ่งไหลมารวมกันเป็นต้นน้ำของแม่น้ำปัตตานี พื้นที่เหมาะสมในการปลูกกล้วยหินบันนังสตา เพราะพื้นดินอุดมสมบูรณ์ มีความชื้นขึ้นทั้งในดินและในอากาศสูงตลอดทั้งปี สภาพอากาศแบบร้อนชื้น มี 2 ฤดู คือ ฤดูร้อน 4 เดือนและฤดูฝน 6 เดือน ฝนตกชุกมากที่สุดในเดือนตุลาคมถึงธันวาคม
ประวัติความเป็นมา
อำเภอบันนังสตาเดิมชื่อว่า อำเภอบาเจาะ ขึ้นกับเมืองรามัน ตั้งขึ้นราวปี พ ศ 2450 ต่อมาเมื่อได้ยกเลิกหัวเมืองจึงได้เปลี่ยนชื่อเป็นอำเภอบันนังสตา เป็นภาษามลายูพื้นเมืองแปลว่า นามะปราง พื้นที่ร้อยละ 90 เป็นภูเขาเหมาะแก่การเจริญเติบโตของกล้วยหิน ซึ่งเป็นพืชเก่าแก่ที่มีอยู่ในพื้นที่อำเภอบันนังสตามานานแล้ว โดยเฉพาะบริเวณ 2 ฝั่งแม่น้ำปัตตานีและลำธาร ลำห้วย ซึ่งเป็นเหมืองเก่าอยู่ในตำบลถ้ำทะลุ ตำบลบาเจาะ ตำบลบันนังสตาและตำบลตลิ่งชัน โดยผู้สูงอายุได้เล่าความเป็นมาของชื่อ กล้วยหิน ไว้ว่า “พบเห็นกล้วยชนิดนี้ขึ้นอุดมสมบูรณ์เจริญงอกงามดีในบริเวณเหมืองร้าง(เหมืองแร่ดีบุก) ซึ่งพื้นดินมีสภาพเป็นกรวดหินและดินลูกรัง จึงเรียกว่า “กล้วยหิน”
และอีกที่มาคือ “คนหาแร่พบกล้วยขึ้นปะปนกับกล้วยป่าเห็นนกกินได้จึงเก็บมากิน รสชาติออกเปรี้ยวๆจึงลองเอาไปต้มกิน ปรากฏว่าอร่อยกว่ากล้วยชนิดอื่น เนื้อจะออกแข็งๆ เลยเรียกว่า “กล้วยหิน” และกล้วยหินยังเป็นอาหารเช้าที่ชาวบ้านนิยมบริโภคกันมากในสมัยก่อน โดยจะนำกล้วยหินสุกมาต้มแล้วตำให้ละเอียดคลุกกับมะพร้าวอ่อนขูดผสมกับน้ำตาลทรายและเกลือเล็กน้อยปั้นเป็นก้อนรับประทานกับกาแฟ ซึ่งจะอิ่มไปจนถึงเที่ยงโดยไม่ต้องทานข้าว นอกจากนี้ชาวบ้านยังนำกล้วยหินที่สุกแล้วไปเป็นอาหารของ นกกรงหัวจุก เพราะอยู่ได้นานโดยไม่เสียหรือเละและยังเชื่อว่าจะทำให้เสียงร้องของนกกรงหัวจุกดียิ่งขึ้น ปัจจุบันความต้องการกล้วยหินบันนังสตามีมากขึ้นส่งผลให้มีการขยายพื้นที่ปลูกออกไปในหลายพื้นที่ของจังหวัดยะลา ดังคำขวัญของอำเภอบันนังสตาที่ว่า “ถิ่นนามะปราง บางลางอุทยาน อนุสรณ์สะพานโบราณ คู่บ้านกล้วยหิน”