“ส้มโอปราจีน” GI รสชาติเป็นเอกลักษณ์ตามสายพันธุ์

310782707 186224663941971 8076575229196468386 n

“ส้มโอปราจีน” (Prachin Pomelo หรือ Som-o Prachin) หมายถึง ส้มโอพันธุ์ทองดี พันธุ์ขาวน้ำผึ้ง พันธุ์ขาวใหญ่ พันธุ์ขาวแตงกวา รสชาติหวาน ไม่ขม ไม่ซ่าลิ้น เปลือกบางเนื้อเยอะกุ้งแน่น เมื่อครบกำหนดการเก็บเกี่ยว สามารถตัดลงจากต้นแล้วปอกเปลือกทานได้เลย ไม่ต้องรอลืมต้น ความหวานอยู่ในช่วง 9 – 15 องศาบริกช์ ปลูกและผลิตในเขตพื้นที่จังหวัดปราจีนบุรี กรมทรัพย์สินทางปัญญาประกาศขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (Gi) เมื่อ 4 กรกฎาคม 2565

ลักษณะภูมิประเทศ

จังหวัดปราจีนบุรี ตั้งอยู่ทางภาคตะวันออกของประเทศไทย ระหว่างละติจูดที่ 13 องศา 39 ลิปดา ถึงละติจุดที่ 14 องศา 27 ลิปดาเหนือ และลองจิจุดที่ 101 องศา 90 ลิปดา ถึงลองจิจุดที่ 102 องศา 07 ลิปดาตะวันออก จังหวัดปราจีนบุรีมีพื้นที่ทั้งหมด 2,976,476 ไร่ แยกเป็นพื้นที่ทำการเกษตร 1,124,836 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 37.79 ของพื้นที่ทั้งหมด สภาพพื้นที่โดยทั่วไปของจังหวัดปราจีนบุรี ทางด้านเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือเป็นภูเขาสูง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแนวเทือกเขาสันกำแพง ถัดลงมาเป็นที่ลาดเชิงเนิน ทางตอนกลาง ตะวันตก ตะวันออกเฉียงใต้และด้านใต้เป็นที่ราบลุ่ม พื้นที่เขาสูงเป็นแหล่งต้นน้ำของแม่น้ำหลายสาย เช่น แม่น้ำหนุมาน แม่น้ำปราจีนบุรี แม่น้ำพระปรง เป็นต้น จัดอยู่ในพื้นที่ลุ่มน้ำปราจีนบุรี จึงเหมาะ
แก่การเพาะปลูกผลไม้ต่างๆ โดยเฉพาะ “ส้มโอปราจีน” และเนื่องจากใต้พื้นดินมีเศษศิลาแลงที่สะสมมานปี มีแร่ธาตุที่เหมาะแก่การเจริญเติบโตของ “ส้มโอปราจีน”

179029984 106054544972926 6204675947331229972 n

สภาพภูมิอากาศ

จังหวัดปราจีนบุรี อยู่ภายใต้อิทธิพลของมรสุม 2 ชนิด คือ มรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งลมนี้เป็นลมที่พัดพาความหนาวเย็นจากประเทศจีนมาสู่ประเทศไทยในช่วงฤดูหนาว อิทธิพลของลมนี้จะทำให้จังหวัดปราจีนบุรีประสบกับสภาวะอากาศหนาวเย็นและแห้งแล้ง ตั้งแต่ประมาณกลางเดือนตุลาคมถึงกลางเดือนกุมภาพันธ์กับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ซึ่งพัดปกคลุมในช่วงฤดูฝนประมาณกลางเดือนพฤษภาคมถึงกลางเดือนตุลาคม ซึ่งทำให้มีฝนและอากาศชุ่มชื้น เนื่องจากปราจีนบุรีเป็นจังหวัดหนึ่งในภาคตะวันออกที่อยู่ลึกเข้าไปในแผ่นดิน จึงมีอากาศร้อนมากกว่าจังหวัดที่อยู่ตามชายฝั่ง และในฤดูหนาวก็มีอากาศหนาวกว่า โดยมีอุณหภูมิเฉลี่ยตลอดทั้งปี 28.3 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุดเฉลี่ย 33.9 องศาเซลเซียส สำหรับอุณหภูมิต่ำสุดเฉลี่ยคือ 23.8 องศาเซลเซียส ปริมาณฝนรวมตลอดปีอยู่ในช่วง1,600 – 1,900 มิลลิเมตร และส่วนมากเกษตรกรจะใช้น้ำใต้ดิน ที่มีบ่อน้ำตื้นพักไว้ และมีตาน้ำไหลซึมตลอดเวลา จึงทำให้ไม่มีผลกระทบการเพาะปลูกส้มโอปราจีน ทำให้ส้มโอปราจีนมีรสชาติที่เป็นเอกลักษณ์ตามสายพันธุ์

ประวัติความเป็นมา

จังหวัดปราจีนบุรีเป็นหนึ่งในแหล่งเพาะปลูกส้มโอที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งของไทย ดังคำขวัญของจังหวัดที่ว่า “ศรีมหาโพธิ์คู่บ้าน ไผ่ตงหวานคู่เมือง ผลไม้ลือเลื่อง เขตเมืองทวารวดี” ซึ่งคำกล่าวนี้บ่งบอกว่าจังหวัดปราจีนบุรีเคยเป็นดินแดนที่มีความเจริญรุ่งเรืองมาตั้งแต่สมัยทวารวดี ปรากฏหลักฐานเป็นชากเมืองที่เรียกว่า “เมืองศรีมโหสถ” ที่ตำบลโคกปีบ อ้าเภอศรีมโหสถ และทางทิศตตะวันออกของเมืองศรีมโหสถที่บริเวณบ้านโคกขวาง อำเภอศรีมหาโพธิ ยังมีชุมชนโบราณที่มีอายุร่วมสมัยเดียวกัน มีซากเมืองโบราณสถาน โบราณวัตถุต่างๆ เช่น พระพุทธรูปเครื่องสำริด เครื่องมือเครื่องใช้ และเศษศิลาแลงกระจัดกระจายอยู่ทั่วไป

ด้วยสภาพพื้นที่จังหวัดปราจีนบุรีซึ่งประกอบไปด้วยที่ราบสูงและป่าทึบสลับขับซ้อน จึงเป็นแหล่งกำเนิดต้นน้ำหลายสาย เช่น แม่น้ำบางปะกง แม่น้ำปราจีน แควน้ำพระปรง ประกอบกับใต้พื้นดินส่วนมากมีศิลาแลงสมัยทวาราวดี จึงเป็นแหล่งที่มีแร่ธาตุจำเป็นต่อพืช และอุดมสมบูรณ์เหมาะแก่การเพาะปลูก”ส้มโอปราจีน” ทำให้มีคุณลักษณะเด่นคือ เมื่อตัดลงจากต้นสามารถปอกเปลือกทานได้เลย ไม่ต้องรอลืมต้น รสชาติหวาน อร่อย ไม่ขม ไม่ซ่าลิ้น เป็นเอกลักษณ์ตามสายพันธุ์ และผลผลิตมีให้บริโภคได้เพียงปีละ 1 ครั้ง เท่านั้น

ชื่อเสียงของ “ส้มโอปราจีน” มีมานานกว่า 40 ปี โดยในงาน “วันเกษตรปราจีนบุรี” ที่มีการจัดขึ้นทุกปี ครั้งที่ 55 ในปี 2562 ก็มีการนำส้มโอปราจีนไปแสดงและจำหน่ายภายในงานดังกล่าว จึงทำให้เห็นว่า “ส้มโอปราจีน” เป็นที่รู้จักกว้างขวางมาเป็นเวลานาน ประกอบกับ “ส้มโอปราจีน” ผลผลิตส่วนใหญ่ ร้อยละ 90 จะส่งออกไปยังต่างประเทศ เช่น จีน ไต้หวัน เวียดนาม เป็นต้น ไม่เพียงพอต่อการขายในแต่ละปี

“ส้มโอปราจีน” เป็นที่นิยมทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศมีการจัดงานวันส้มโอหวานในอำเภอศรีมโหสถ ตั้งแต่ปีพ.ศ.2559 จนถึงปัจจุบัน และการจัดงานวันส้มโอหวานในอำเภอศรีมหาโพธิตั้งแต่ปี พ.ศ.2561 ถึงปัจจุบัน

ขอบเขตพื้นที่การปลูกและผลิต” ส้มโอปราจีน “ครอบคลุมพื้นที่ทั้งหมดของจังหวัดปราจีนบุรี

GI65100177 1 page 0006