“ปลาช่อนแม่ลา” (Pla Chon Mae La) หมายถึง ปลาช่อนที่ได้จากลำน้ำแม่ลาและบริเวณที่กำหนดซึ่งมีลักษณะหัวหลิมหรือหัวเล็กกว่าลำตัว ลำตัวอ้วนกลม เกล็ดนิ่ม มีสีขาวปนเทา ไม่มีลายพาดเฉียง ท้องป่อง มีสีขาวมันวาว ครีบมีสีส้ม ชมพู หรือแดง หางมนคล้ายรูปใบโพธิ์หรือตาลปัตร เนื้อมีไขมันแทรกมากกว่าปลาช่อนทั่วไป และมีการนำมาผ่านกระบวนการแปรรูปเป็นปลาช่อนสด ปลาช่อนตัดแต่ง และปลาช่อนแดดเดียว ที่ผลิตในพื้นที่จังหวัดสิงห์บุรี กรมทรัพย์สินทางปัญญา ประกาศให้ขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ ( GI ) “ปลาช่อนแม่ลา” เมื่อ 16 กันยายน 2562
ลักษณะภูมิประเทศ
ลำน้ำแม่ลา มี 2 ตอนเชื่อมต่อกันกับลำการ้อง เรียกรวมกันว่า ลำน้ำแม่ลาการ้อง อยู่ในพื้นที่จังหวัดสิงห์บุรี มีความยาวประมาณ 18 กิโลเมตร โดยเริ่มตั้งแต่ตำบลห้วยชัน อำเภออินทร์บุรี (ลองจิจุดที่14.999155 ละติจูดที่ 100.2966734) ไปสิ้นสุดที่ตำบลบางกระบือ อำเภอเมืองสิงห์บุรี (ลองจิจูดที่14.880078 ละติจุดที่ 100.364374) ลำน้ำแม่ลาอยู่ห่างจากแม่น้ำเจ้าพระยาประมาณ 2 กิโลเมตร บริเวณโดยรอบเป็นที่ราบน้ำท่วมถึง บริเวณนี้เป็นที่ทับถมของตะกอนน้ำพาที่เกิดจากการพัดพามาสะสมทั้งสองฝั่งของลำน้ำในช่วงน้ำหลาก ลักษณะของตะกอนเป็นทราย ทรายแป้ง และดินเหนียว เกิดจากการเปลี่ยนเส้นทางของแม่น้ำเจ้าพระยา เมื่อถึงฤดูฝนเกิดน้ำหลากทำให้น้ำแร่ธาตุในดินถูกชะล้างล้างลงในลำน้ำแม่ลาไปมีส่วนช่วยเร่งให้เกิดสารอาหารตามธรรมชาติไปบำรุงพืชน้ำในลำน้ำแม่ลา อันเป็นอาหาหารของสัตว์น้ำ และจำพวกปลาที่กินพืชน้ำเป็นอาหาร เพราะความอุดมสมบูรณ์ของสภาพแวดล้อมในลำน้ำแม่ลา จึงเกิดการถ่ายทอดของพลังงานในรูปของอาหารเป็นลำดับขั้นหรือที่เรียกว่าห่วงโซ่อาหาร ภูมิอากาศโดยทั่วไปแบ่งออกเป็น ฤดูร้อน อุณหภูมิเฉลี่ย 36.30 องศาเซลเซียส ฤดูฝน ปริมาณน้ำฝนเฉลี่ย 1,047.27 มิลลิเมตรต่อปีและฤดูหนาว อุณหภูมิเฉลี่ย 27 องศาเซลเซียส
ประวัติความเป็นมา
ในอดีตที่มาของชื่อลำน้ำแม่ลา มีสองเรื่องเล่า เรื่องแรกคือ เกิดขึ้นสมัยกรุงศรีอยุธยาราวปี พ.ศ. 2310 พม่าได้ยกทัพมาที่บ้านวิเศษชัยชาญไม่ห่างจากบ้านบางระจัน เวลานั้นลำน้ำแม่ลาถูกใช้เป็นเส้นทางคมนาคมของชาวบ้าน การรวบรวมกำลังไพร่พลไปสู้กับกองทัพพม่าครั้งนั้นเองได้มีการอำลากันที่ทำ ลำน้ำแห่งนี้เพื่อไปรบ ลูกลาพ่อ ลูกลาแม่ พ่อลาแม่ แม่ลาลูก บริเวณลำน้ำนี้จึงถูกเรียกว่า “แม่ลา”
ส่วนตำนานอีกเรื่องเริ่มในครั้งพม่ายกทัพมารบอยุธยา และการรบในสมัยก่อนนั้นกินเวลานานเป็นปี พม่าพักทัพที่ริมลำน้ำแม่ลา ครั้นเมื่อต้องยกทัพกลับ บริเวณนั้นจึงถูกเรียกว่าแม่ทัพลา คือแม่ทัพของพม่าได้ลาทัพกลับ นานวันเข้าคำว่าแม่ทัพกร่อนไป จึงเหลือแต่คำว่า “แม่ลา”
ปลาช่อน เป็นปลาพื้นถิ่นที่อาศัยในลำน้ำแม่ลาตามธรรมชาติ ต่อมาได้มีการศึกษาการเพาะเลี้ยงปลาช่อนทำให้สามารถนำปลาช่อนมาเพาะเลี้ยงในบ่อดินโดยอาศัยน้ำและพื้นที่โดยรอบลำน้ำแม่ลา ปลาแม่ลามีประวัติศาสตร์ร่วมกันมาอย่างยาวนาน แม้กระทั่งคำขวัญจังหวัดสิงห์บุรีก็มีความเชื่อมโยงกับลำน้ำแม่ลา คำขวัญว่า “ถิ่นวีรชนคนกล้า คู่ล้าพระนอน นามกระฉ่อนซ่อนแม่ลา เทศกาลกินปลาประจำปี”
ตำนานความอร่อยปลาช่อนแม่ลาเริ่มขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 ในคราวเสด็จประพาสต้น และประทับแรมที่เมืองอินทร์ ตามบันทึกการเสด็จฯพระองค์ทรงประทับแรมที่วัดประศุก ปลาช่อนแม่ลาก็เป็นพระกระยาหาร เมื่อพระองค์เสวยแล้วได้ตรัสว่า “ปลาของลำแม่ลามีรสชาติ ดีกว่าที่อื่น”
จังหวัดสิงห์บุรี มีการจัดงานเทศกาลกินปลาและของดีเมืองสิงห์บุรี ณ บริเวณศูนย์ราชการจังหวัด สิงห์บุรี กิจกรรมภายในงานประกอบด้วย ขบวนแห่ศิลปวัฒนธรรมประเพณีพื้นบ้าน ขบวนแห่หุ่นปลา การประกวดหุ่นปลาสวยงาม การจัดนิทรรศการปลาน้ำจืด การจำหน่ายสินค้าประเภทปลาบนถนนสายปลายปลาและกิจกรรมอื่นๆ อีกมากมาย การจัดงานมีการจัดครั้งแรกเมื่อ พ.ศ.2539 จนถึงปัจจุบัน ดังคำขวัญของจังหวัดสิงห์บุรีว่า ถิ่นวีรชนคนกล้า คู่หล้าพระนอน นามกระฉ่อนซ่อนแม่ลา เทศกาลกินปลาประจำปี