“ทุเรียนบางนรา” หรือ Durian Bang Nara หรือ Bang Nara Durian หมายถึง ทุเรียนพันธุ์หมอนทอง ก้านยาว ชะนี และมูซังคิง ที่มีลักษณะเนื้อค่อนข้างละเอียด เนื้อมีสีเหลืองหรือสีเหลืองเข้ม รสชาติหวานมัน มีกลิ่นเฉพาะตัวตามสายพันธุ์ ปลูกในแถบพื้นที่ลุ่มน้ำสายบุรี และบริเวณเทือกเขาสันกาลาคีรี ครอบคลุมพื้นที่ 9 อำเภอของจังหวัดนราธิวาส ได้แก่ อำเภอสุคิริน อำเภอจะแนะ อำเภอศรีสาคร อำเภอรือเสาะ อำเภอระแงะ อำเภอแว้ง อำเภอสูไหงปาดี อำเภอเจาะไอร้อง และอำเภอบาเจาะ กรมทรัพย์สินทางปัญญา ประกาศให้ขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ ( GI) ” ทุเรียนบางนรา ” เมื่อวันที่ 26 กันยายน 2567 โดยผู้ยื่นขอจดทะเบียน ได้แก่ จังหวัดนราธิวาส
ลักษณะภูมิประเทศ
จังหวัดนราธิวาส เป็นจังหวัดชายแดนติดกับประเทศมาเลเชีย ตั้งอยู่บนฝั่งทะเลด้านตะวันออกของประเทศไทย ระหว่างละติจูดที่ 5 องศา 45 ลิปดาเหนือ ถึงลองจิจูดที่ 6 องศา 37 ลิปดาเหนือ เนื้อที่ประมาณ2 ใน 3 ของพื้นที่เป็นป่าและภูเขาหนาแน่น ทิศตะวันตกเฉียงใต้จรดเทือกเขาสันกาลาคีรี ซึ่งเป็นแนวกั้นพรมแดนไทย – มาเลเซีย ลักษณะของพื้นที่มีความลาดเอียงจากทิศตะวันตกไปตะวันออก พื้นที่ราบส่วนใหญ่อยู่บริเวณติดกับอ่าวไทยเป็นที่ราบลุ่มบริเวณแม่น้ำ 4 สายคือ แม่น้ำสายบุรี แม่น้ำบางนรา แม่น้ำตากใบ และแม่น้ำโก-ลก ธรณีวิทยาของจังหวัดนราธิวาส ประกอบด้วยหินตะกอนและหินแปร ในพื้นที่ทั้ง 9 อำเภอของจังหวัดนราธิวาส ได้แก่ อำเภอสุคิริน อำเภอจะแนะ อำเภอศรีสาคร อำเภอรือเสาะ อำเภอระแงะ อำเภอแว้ง อำเภอสุไหงปาดี อำเภอเจาะไอร้อง และอำเภอบาเจาะ พบว่าทรัพยากรดินมีลักษณะสภาพพื้นที่ค่อนข้าง
ราบเรียบจนถึงเป็นลูกคลื่นลอนลาดเป็นส่วนใหญ่ มีความลาดชันตั้งแต่ร้อยละ 0 – 35 หรือมากกว่าร้อยละ 35 ลักษณะโครงสร้างดินส่วนใหญ่มีการระบายน้ำได้ดี
ลักษณะภูมิอากาศ
จังหวัดนราธิวาส มีสภาพอากาศเป็นแบบมรสุมเขตร้อน มีเพียง 2 ฤดูกาล คือ ฤดูร้อนอยู่ระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ – เมษายน โดยได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งเป็นลมที่พัดมาจากทะเลจีนใต้ทำให้อากาศโดยทั่วไปร้อนชื้น และฤดูฝน แบ่งเป็น 2 ช่วง ได้แก่ ช่วงที่รับอิทธิพลจากลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ซึ่งนำเอาความชื้นจากทะเลอันดามันและมหาสมุทรอินเดียเข้ามา ส่งผลให้ฝนตกชุกในเดือนพฤษภาคม – ตุลาคม อีกช่วงหนึ่ง คือ ช่วงที่ได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งพัดพาเอาความชื้น จากอ่าวไทยเข้ามาทำให้ฝนตกซุกในเดือนพฤศจิกายน – มกราคม
จากสภาพภูมิประเทศและภูมิอากาศของจังหวัดนราธิวาส ที่ได้รับอิทธิพลจากเทือกเขาสันกาลาคีรีโดยมีแม่น้ำสายบุรีเป็นแหล่งนำพาความอุดมสมบูรณ์ ส่งผลต่อคุณภาพของทุเรียนที่ปลูกในแถบพื้นพื้นที่ลุ่มน้ำสายบุรีของจังหวัดนราธิวาส ทำให้มีคุณภาพโดดเด่น โดยเฉพาะในรสชาติหวานมันกลมกล่อม เนื้อแห้งละเอียด เส้นใยน้อย คุณภาพดี จนเป็นเอกลักษณ์และเป็นที่นิยมในชื่อว่า “ทุเรียนบางนรา”
ประวัติความเป็นมา
จังหวัดนราธิวาส ชื่อในอดีตคือ “บ้านบางนรา” หรือ “บ้านมะนาลอ” เป็นชุมชนชาวประมงตั้งอยู่ปากแม่น้ำบางนราติดชายทะเลอ่าวไทย ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช (รัชกาลที่ 1) บ้านบางนรา ถูกจัดอยู่ในเขตการปกครองของเมืองสายบุรี ต่อมาเมืองปัตตานีถูกยกฐานะเป็นมฑล บ้านบางนรา จึงโอนไปขึ้นกับเมืองระแงะ แห่งมณฑลปัตตานี ต่อมาบ้านบางนรา มีความเป็นอยู่หนาแน่นและเจริญเป็นชุมชนใหญ่กว่าตัวเมืองระแงะ จึงมีการย้ายศาลาว่าการเมืองมาตั้งพร้อมยกฐานะขึ้นเป็น “เมืองบางนรา”
ต่อมาพ.ศ. 2458 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกฎเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนชื่อ เมืองบางนราเป็น “เมืองนราธิวาส” ซึ่ง “นราธิวาส” มีความหมายว่า ที่อยู่ยิ่งใหญ่ของประชาชมด้วยความอุดมสมบูรณ์ของลุ่มน้ำสายบุรี ได้หล่อเลี้ยงผู้คนชาวนราธิวาสตลอดสายน้ำได้ใช้อุปโภคบริโภค ทำการเกษตรกรรม อุตสาหกรรมและทำประมง ซึ่งแม่น้ำสายบุรีมีต้นกำเนิดจากสายน้ำเล็กๆบนเทือกเขาสันกาลาคีรี ในอดีตมีการทำเหมืองแร่ทองคำเพราะมีการสำรวจพบแร่ทองคำมากติดอันอันดับ 1 ใน 9 ของแหล่งแร่ทองคำที่พบในประเทศไทย จนได้ชื่อว่าเป็นแม่น้ำสายทองคำ และด้วยระบบนิเวศที่หลากหลายและมีน้ำตลอดปี ประกอบกับสภาพความอดมสมบูรณ์ของเทือกเขาสันกาลาคีรี ทั้งป่า แหล่งน้ำ แหล่งแร่ผสมกับความเชื่อว่าแม่น้ำสายบุรีเป็นสายน้ำจากสายแร่ทองคำ ส่งผลให้สภาพดินและสภาพพื้นที่ในเขตลุ่มน้ำสายบุรี มีความเหมาะสมต่อการเพาะปลูกไม้ผลต่างๆ เช่น ทุเรียน ลองกอง มังคุด เป็นต้น เห็นได้จากผลไม้ที่มีชื่อเสียงของจังหวัดนราธิวาส ได้แก่ ลองกองตันหยงมัส
นอกจากนี้ ทุเรียนที่ปลูกบริเวณนี้ก็ได้ชื่อว่าเป็นทุเรียนคุณภาพดี เนื่องด้วยวิถีของเกษตรกรที่ปลูกไม้ผลแบบผสมผสานและพัฒนาสู่การปลูกทุเรียนเป็นพืชหลัก จากความมุ่งมั่นตั้งใจของผู้ปลูกทำให้ต้นทุเรียนได้รับการบำรุงรักษาอย่างดี ประกอบกับความได้เปรียบทางภูมิศาสตร์ คือ ดินดี น้ำดี อากาศดี ตั้งแต่ภูเขาจนถึงที่ราบลุ่มแม่น้ำสายบุรี อีกทั้งมีป่าฮาลาบาลาที่มีความอุดมสมบูรณ์ ซึ่งได้รับการขนานนามว่าเป็น “อเมซอนแห่งเอเชีย” โอบล้อมพื้นที่ ทำให้ “ทุเรียนบางนรา” มีคุณภาพดี เนื้อ
ละเอียดและค่อนข้างแห้ง เคี้ยวละมุนลิ้น รสชาติหวานมันกลมกล่อมเป็นเอกลักษณ์ มีการนำผลผลิตทุเรียนไปจำหน่ายในงานต่างๆ ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด จนมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันแพร่หลายทั่วไป ซึ่งผู้บริโภคติดใจในรสชาติ ทำให้มีความต้องการอย่างต่อเนื่องทุกปี