“กระท้อนตะลุง”(Kra Thon Ta-Lung)หมายถึง กระท้อนผลกลมค่อนข้างแป้น ผิวนอกเรียบละเอียดและอ่อนนุ่ม มีขนนิ่มขนาดเล็ก เมื่อสัมผัสคล้ายกำมะหยี่ เนื้อและปุยเมล็ดค่อนข้างแห้งและนุ่ม รสชาติหวานไม่ฝาด นิยมปลูกในเขตพื้นที่ตำบลตะลุง ตำบลงิ้วราย และตำบลโพธิ์เก้าต้น ของจังหวัดลพบุรี กรมทรัพย์สินทางปัญญาประกาศให้ขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) ” กระท้อนตะลุง “ เมื่อ 27 กันยายน 2559 โดยผู้ขอยื่นจดทะเบียน ได้แก่ จังหวัดลพบุรี
การปลูก
(1) ปลูกได้ทั้งที่ลุ่มและที่เนิน ต้นพันธุ์ต้องมีการปลูกอยู่ในวัสดุอื่นอย่างน้อย 2 – 3 เดือน ก่อนนำลงหลุมปลูก ระยะการปลูกควรมีระยะห่างระหว่างต้นและระยะห่างระหว่างแถว อยู่ในช่วง 8 – 12 เมตร หรือตามความเหมาะสมของแต่ละพื้นที่
(2) ขุดหลุมขนาด 50 x 50 x 50 เซนติเมตร และก่อนทำการปลูกให้ใส่ปุ๋ยคอกรองไว้ที่ก้นหลุมด้วยนำต้นพันธุ์วางลงในหลุมปลูกกลบดินระดับโคนต้นเสมอกับดินที่ปากหลุม รดน้ำทันทีเพื่อให้ดินกระชับรากอาจหาหญ้าแห้งหรือฟางข้าวมาคลุมโคนต้นเพื่อป้องกันหน้าดินถูกทำลายและช่วยรักษาความชื้น แล้วปักหลักยึดติดกับต้นกระท้อนปลูกใหม่ เพื่อป้องกันต้นล้มจากแรงลมหรือสัตว์ต่างๆ
(3) การดูแลต้นกระท้อนที่ปลูกใหม่ ควรมีการพรางแสงแดด เพราะแดดจัดจะเป็นอันอันตรายกับกระท้อนที่ปลูกใหม่ โดยอาจใช้ทางมะพร้าวคลุมด้านบนใบและยอดไว้ในแนวตะวันออก-ตก พรางจนกว่ากระท้อนจะแตกใบอ่อนใหม่อีก 1 ชุด และเปลี่ยนเป็นใบแก่ จึงนำทางมะพร้าวออก
(4) การให้น้ำ แบ่งออกเป็น 2 ช่วง ได้แก่
-ช่วงที่กระท้อนยังไม่ให้ผล นับตั้งแต่ปลูกจนถึง 6 เดือน ต้องรดน้ำทุกวันให้ดินชุ่มอยู่เสมอแต่อย่าให้แฉะ อายุตั้งแต่ 6 เดือนให้รดน้ำวันเว้นวัน และอายุ 1 ปีขึ้นไป รดน้ำ 2 – 3 ครั้งต่อวัน จนกระท้อนตั้งตัวได้ จึงทิ้งช่วงให้น้ำ 5 – 6 วันต่อครั้ง ห้ามปล่อยให้ดินแห้ง เพราะอาจทำให้กระท้อนตายได้
-ช่วงที่กระท้อนให้ผลแล้ว หรือเป็นช่วงการเจริญเดิบโตทางกิ่งใบ เริ่มตั้งแต่หลังเก็บเกี่ยว ควรให้น้ำสม่ำเสมอ เพราะกระท้อนต้องการน้ำมาก
(5) การตัดแต่งกิ่งกระท้อนจะทำเมื่อเก็บเกี่ยวผลกระท้อนแล้ว ให้ตัดแต่งกิ่งที่ถูกโรคหรือแมลงเข้าทำลาย กิ่งแห้งตาย กิ่งที่แน่นทึบอยู่ในพุ่ม และกิ่งที่จะทำให้พุ่มสูงขึ้น ควรทำการตัดเพื่อควบคุมให้ทรงพุ่มมีการเจริญออกทางด้านกว้างมากกว่าเพื่อสะดวกในการดูแลรักษาตลอดจนการห่อและเก็บเกี่ยวผลผลิต
(6) การใส่ปุ๋ยและการปรับปรุงดิน ควรมีการใส่ปุ๋ยและปรับปรุงดินด้วยปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักอย่างสม่ำเสมอ และอาจมีการใส่ปุ๋ยเคมีตามความเหมาะสม
ลักษณะภูมิประเทศ ดำบลตะลุง ตำบลงิ้วราย และตำบลโพธิ์เก้าต้น ของอำเภอเมืองลพบุรี มีลักษณะภูมิประเทศเป็นที่ราบลุ่มมีแม่น้ำลพบุรีไหลผ่าน ลักษณะของดินในจังหวัดลพบุรีมีด้วยกัน 2 ชนิด คือ ดินเหนียวลึกที่เกิดจากตะกอนลำน้ำที่มีอายุน้อย ค่า pH ในดินมีความเป็นกลางถึงเป็นด่าง การระบายน้ำค่อนข้างแย่ ความอุดมสมบูรณ์ปานกลาง และดินร่วนหยาบลึกมากที่เกิดจากตะกอนลำน้ำในบริเวณที่ต่ำของพื้นที่ริมแม่น้ำ มีน้ำ มีค่า pH เป็นกรดเล็กน้อยถึงปานกลาง ระบายน้ำได้ค่อนข้างแย่ถึงดีปานกลาง ความอุดมสมบูรณ์ปานกลาง หน้าดินมีความอุดมสมบูรณ์สูง เรียกว่า ดินน้ำไหลทรายมูล เนื่องจากเป็นแหล่งซับน้ำที่ไหลหลากของแม่น้ำลพบุรีจากด้านทิศเหนือ ตั้งแต่อำเภอบ้านหมี่ อำเภอบ้านหนองม่วง จังหวัดลพบุรี น้ำที่ไหลหลากมาได้พัดพาตะกอนดินจนสภาพหน้าดินเป็นดินร่วนปนทรายซึ่งเหมาะสมแก่การปลูกกระท้อนมาก
ลักษณะภูมิอากาศ
สภาพโดยทั่วไปมีภูมิอากาศแบบร้อนชื้น อยู่ภายใต้อิทธิพลของลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ และยังได้รับอิทธิพลจากพายุดีเปรสชั่นและพายุได้ฝุ่นอีกด้วย โดยเฉพาะในช่วงเดือนสิงหาคมถึงเดือนกันยายน มีอุณหภูมิเฉลี่ย 28.3 องศาเซลเซียส มีปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยปีละ 1,147.6 มิลลิเมตร
ประวัติความเป็นมา
กระท้อนถูกนำเข้ามาปลูกในตำบลตะลุง โดยปู่พร้อม ยอดฉุน เป็นผู้นำพันธุ์กระท้อนมาจากนนทบุรี เมื่อประมาณ 70 ปีก่อน (ปี พ.ศ.2489) ได้แก่ พันธุ์ทับทิม (ต้นเดิมยังอยู่) พันธุ์อีล่า พันธุ์นิ่มนวล แล้วขยายพันธุ์จนเต็มสวน ริมแม่น้ำลพบุรีซึ่งเป็นดินน้ำไหลทรายมูล ดินทรายหวาน ทำให้ได้ผลผลิตดี เมื่อก่อนไม่มีการตัดแต่งทำให้ลำต้นใหญ่ขนาด 2 – 4 คนโอบ สูงต้องต่อบันได ส่วนสายพันธุ์อื่นๆนำมาปลูกตามมาภายหลัง และกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรในพื้นที่ได้เพิ่มมูลค่าทางการตลาดโดยการนำไปแปรรูป อาทิ กระท้อนลอยแก้ว กระท้อนแช่อิ่ม กระท้อนหยีจังหวัดลพบุรี มีการจัดงานวันกระท้อนตะลุงครั้งแรกที่ วัดยาง ณ รังสี วันที่ 28 พฤษภาคม 2535 มีการแข่งขันประกวดกระท้อน ประกวดการแปรรูป เพื่อให้คนรู้จักกระท้อนตะลุง จนเป็นงานประเพณีสืบสานมาจนถึงปัจจุบัน และได้มีการกำหนดจัดงานประจำปี “เทศกาลกระท้อนหวานและของดีเมืองลพบุรี”
โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการเผยแพร่ผลผลิตกระท้อนของจังหวัดลพบุรีให้อยู่ในความนิยมของตลาด อีกทั้งยังส่งเสริมให้เกษตรกรเห็นถึงความสำคัญของการปลูกกระท้อนและร่วมกันอนุรักษ์ ฟื้นฟูทรัพยากรการท่องเที่ยวเชิงเกษตรไว้อย่างยั่งยืน นอกจากจะสามารถสร้างโอกาสที่ดีให้แก่เกษตรกรผู้ปลูกกระท้อนที่จะได้นำเสนอคุณภาพของผลผลิตอีกด้วย
ขอบเขตพื้นที่การปลูกกระท้อนตะลุง ครอบคลุมพื้นที่ตำบลตะลุง ตำบลงิ้วราย ตำบลโพธิ์เก้าต้น ของอำเภอเมืองลพบุรี จังหวัดลพบุรี