“แห้วสุพรรณ” (Water Chestnuts Suphan /Haew Suphan) หมายถึง แห้วพันธุ์จีน ผลมีลักษณะกลมคล้ายหอมหัวใหญ่ มีรสชาติหวาน มัน เนื้อแน่นกรอบสีขาว ซึ่งผลิตในพื้นที่อำเภอเมือง และอำเภอศรีประจันต์ จังหวัดสุพรรณบุรี กรมทรัพย์สินทางปัญญา ประกาศให้ขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ ( GI ) ” แห้วสุพรรณ” เมื่อวันที่ 6 มกราคม 2559
การปลูก
“แห้ว” เป็นพืชที่ขึ้นในน้ำ ขึ้นได้ดีในแหล่งที่มีการให้น้ำได้ตลอดปี ชอบอากาศอบอุ่นเกือบตลอดปี ฤดูปลูกที่เหมาะสม คือ ช่วงเดือนมีนาคม – เมษายน เพื่อให้มีน้ำเพียงพอต่อการเพาะปลูก และย้ายลงปลูกในแปลงใหญ่ช่วงเดือน พฤษภาคม – กรกฎาคม ฤดูเดียวกับการทำนา
ลักษณะภูมิประเทศ
อำเภอเมือง และอำเภอศรีประจันต์ จ.สุพรรณบุรี สภาพพื้นที่ทั่วไปเป็นที่ราบลุ่ม เป็นชุดดินสระบุรีและชุดดินสระบุรีไฮเฟด เป็นกลุ่มดินที่มีเนื้อดินบนเป็นพวกดินเหนียว มีสีดำ หรือสีเทาเข้ม ดินล่างเป็นดินเหนียวหรือดินเหนียวปนทรายแป้ง สีน้ำตาลอ่อน หรือสีเทาปนสีเขียวมะกอก มีจุดประสีน้ำตาลปนเหลือง อาจพบปูน หรือเหล็ก และแมงกานีสสะสมในดินชั้นล่าง เกิดจากวัตถุต้นกำเนิดดินพวกตะกอนลำน้ำ เป็นดินลึกมาก ทำให้เก็บกักน้ำได้ดี ดินมีความอุดมสมบูรณ์ตามธรรมชาติปานกลาง ปฏิกิริยาดินเป็นกรดปานกลางถึงกลาง มีค่าความเป็นกรดด่างประมาณ 6.0 – 7.0 และมีปริมาณโพแทสเซียมสูง ซึ่งดินชุดนี้มีลักษณะพิเศษคือ จะมีลักษณะคล้ายชั้นดินดานลึกประมาณ 50 – 70 เซนติเมตร
จากปัจจัยทางธรรมชาติมีส่วนสำคัญในการปลูกแห้วสุพรรณเป็นอย่างมาก เนื่องจากเมื่อแห้วจีนลงหัว หัวของแห้วจีนจะไปกองหรือแผ่ขยายในบริเวณชั้นดินดาน ทำให้แห้วที่ปลูกในอำเภอเมืองสุพรรณบุรีและอำเภอศรีประจันต์เจริญเติบโตได้ดีมีขนาดใหญ่ เนื้อแน่น มีรสชาติและลักษณะที่แตกต่างไปจากแห้วที่ปลูกในชุดดินอื่นซึ่งมีชั้นดินตื้นเกินไปหัวและรากของแห้วจะเจริญเติบโตได้ไม่เต็มที่ และบางครั้งก็ไม่ยอมลงหัว หรือถ้าลงหัวก็จะได้ขนาดที่เล็กกว่า อีกทั้ง ยังทำให้สะดวกในการเก็บเกี่ยว แต่ถ้าเป็นดินชุดอื่น จะทำให้แห้วจีน จะลงหัวลึกลงไปมากกว่า ทำให้ยากล่อการเก็บเกี่ยวและบางครั้งก็ไม่ลงหัว สำหรับน้ำที่ใช้ในการเพาะปลูกเกษตรกรใช้น้ำจากแหล่งน้ำธรรมชาติคือน้ำฝนและน้ำจากแม่น้ำท่าจีนเป็นหลัก ซึ่งในพื้นที่ดังกล่าวมีระบบการชลประทานที่ดีทำให้เอื้ออำนวยต่อการปลูกแห้วได้เป็นอย่างมาก ส่วนสภาพอากาศในพื้นที่บริเวณที่ทำการเพาะปลูกแห้วเป็นพื้นที่มีอากาศดี เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่ทำการเกษตรเป็นหลัก ไม่มีโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ในพื้นที่
ประวัติความเป็นมา
ราวปี พ.ศ. 2493 มีชาวจีนได้นำแห้วจีนมาปลูกในเขตอำเภอสามชุก จังหวัดสุพรรณบุรี ปรากฏว่าปลูกได้ผลดีทำกำไรมากมายให้แก่ผู้ปลูก จึงมีการขยายพื้นที่ปลูกออกไปยังอำเภอเมือง และอำเภอศรีประจันต์ แห้วเป็นพืชเศรษฐกิจท้องถิ่นที่สำคัญของจังหวัดสุพรรณบุรี และเป็นพืชที่ปลูกได้ผลผลิตดีมีคุณภาพแหล่งใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ส่งขายไปยังตลาดในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด เช่น ตลาดไท ตลาดสุ่มเมือง ตลาดศรีเมือง จังหวัดราชบุรี ตลาดโคราช จึงทำให้เป็นที่รู้จักกันว่าแห้วที่ออกสู่ตลาดส่วนใหญ่คือแห้วที่มาจากจังหวัดสุพรรณบุรีเท่านั้น หรือเรียกชื่อสั้นๆจำได้ง่ายว่า”แห้วสุพรรณ” นั่นเอง
“แห้วสุพรรณ” จึงนับเป็นสินค้าที่สร้างชื่อเสียงให้กับจังหวัดสุพรรณบุรีเพราะสามารถปลูกได้ดีมีคุณภาพแห่งเดียวในประเทศไทย ด้วยรสชาติของแห้วที่มีความหวาน มัน กรอบ เป็นที่ยอมรับจากผู้บริโภค ถ้าหากได้มาท่องเที่ยวจังหวัดสุพรรณบุรีแล้ว ไม่ได้แวะซื้อแหัวกลับไปเป็นของฝากแสดงว่ามาไม่ถึงจังหวัดสุพรรณบุรี จนได้มีการนำมาเป็นส่วนหนึ่งของคำขวัญประจำอำเภอศรีประจันด์ ดังนี้ เสียง
เหน่อนำฟัง โด่งดังพระเครื่อง เมืองนักปราชญ์ ตลาดเก่าบ้านท่านเจ้าคุณ แหล่งบุญเจดีย์พระธาตุ พระพุทธบาทจำลอง ถิ่นร้องอีแซว แห้วจีนมันหวาน หมู่บ้านควายไทย สวนพืชไร้ดิน “คือถิ่นศรีประจันต์”