“ลิ้นจี่บางขุนเทียน” (Bang Khun Thien Lychee) หมายถึง ลิ้นจี่พันธุ์กะโหลกใบยาว พันธุ์กะโหลกใบอ้อ และพันธุ์พื้นเมือง ซึ่งมีลักษณะผลขนาดกลางรูปคล้ายหัวใจ บ่าไม่สูง หนามแหลมสั้น เปลือกสีแดงถึงแดงคล้ำ รสชาติหวาน หอม เนื้อไม่แฉะ ไม่มีรสฝาดเจือ ปลูกในพื้นที่เขตจอมทอง และเขตราษฎร์บูรณะ กรุงเทพมหานคร กรมทรัพย์สินทางปัญญา ประกาศขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) “ลิ้นจี่บางขุนเทียน” เมื่อวันที่ 1 มิ.ย. 2560 ผู้ขอยื่นจดทะเบียน ได้แก่ วิสาหกิจชุมชนจอมทองพัฒนา
ลักษณะภูมิประเทศ ย่านบางขุนเทียนในอดีตครอบคลุมพื้นที่เขตจอมทองและเขตราษฎร์บูรณะ กรุงเทพมหานคร ดินเป็นชุดดินธนบุรี เป็นดินตะกอนปากแม่น้ำ ที่มีโปรแตสเซียม และฟอสฟอรัสสูง มีระดับน้ำใต้ดินตื้น ในช่วงฤดูฝนจะมีน้ำจืดจากทางเหนือผ่าน และในช่วงฤดูแล้งจะมีน้ำเค็มไหลย้อนขึ้นตามคลองสายต่างๆ ทำให้ดินมีลักษณะที่เรียกกันว่า “ลักจืด ลักเค็ม” มีอุณหภูมิตอนกลางวันและตอนกลางคืนไม่ต่างกันมากนัก ส่งผลให้ “ลิ้นจี่บางขุนเทียน” มีรสชาติเป็นเอกลักษณ์โดดเด่นเฉพาะตัว
ประวัติความเป็นมา
ในสมัยรัชกาลที่ 2 และรัชกาลที่ 3 มีการติดต่อค้าขายระหว่างประเทศสยามกับประเทศจีน มีการแต่งสำเภาไปค้าขายกับประเทศจีนอย่างต่อเนื่อง จึงเชื่อกันว่าลิ้นจี่น่าจะถูกนำเข้ามาปลูกในสยามในยุคนี้ โดยพื้นที่แรกที่มีการปลูกลิ้นจี่คือย่านวัดจันทร์ บางโคล่ บางคอแหลม ทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา เนื่องจากเป็นท่าเทียบเรือสำเภาที่มาจากประเทศจีน ซึ่งในปัจจุบันไม่เหลือสวนลิ้นจี่ให้เห็นแล้ว อีกพื้นที่หนึ่งคือทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา เข้ามาตามคลอง ดาวคะนอง คลองบางขุนเทียน และคลองบางประทุน ซึ่งคือบริเวณพื้นที่เขตจอมทองในปัจจุบันและเหลือพื้นที่ปลูกลิ้นจี่ไม่มากแล้ว พบหนาแน่นบริเวณคุ้งสามง่าม ซึ่งเป็นรอยต่อระหว่างคลองดาวคะนองเชื่อมกับคลองบางขุนเทียนและคลองลัดเช็ดหน้า และมีแนวโน้มลดลงเรื่อยๆ เนื่องจากความต้องการที่อยู่อาศัยของชุมชนเมืองขยายตัวมากขึ้น ที่ดินมีราคาสูงขึ้น
แต่ด้วยโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช อันเนื่องมาจากพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี สนองพระราชดำริโดย สำนักงานเขตจอมทองกรุงเทพมหานคร จึงยังมี “ลิ้นจี่บางขุนเทียน”อยู่ในปัจจุบันและมีการจัดงานเทศกาลลิ้นจี่ของดีเขตจอมทองขึ้นในบริเวณตลาดน้ำวัดไทรโดยชาวสวนลิ้นจี๋ในจอมทองก็ได้นำผลลิ้นจี่รสชาติดีจากสวนของตนเองมาจำหน่ายตลอดช่วงการจัดงาน ซึ่งหากใครที่ได้ลิ้มลองรสชาติของลิ้นจี่บางขุนเทียนแล้วจะบอกว่าอร่อยมากกว่าลิ้นจี่ที่ปลูกในถิ่นไหนๆ ของเมืองไทย แม้ราคาขายในบางปีอาจจะแพงถึง 120 บาท ต่อกิโลกรัมก็ตาม