“ส้มโอขาวแตงกวาชัยนาท”( Chainat khaolangkwa pomelo )หมายถึง ส้มโอพันธุ์ขาวแตงกวา มาจากต้นพันธุ์ที่มีคุณภาพ ซึ่งปลูกในจังหวัดชัยนาท กรมทรัพย์สินทางปัญญา ประกาศให้ขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ ( GI ) “ส้มโอขาวแตงกวาชัยนาท” เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2548 โดยผู้ขอยื่นจดทะเบียน คือ ประธานชมรมไม้ผลจังหวัดชัยนาท
ลักษณะภูมิประเทศ
โดยทั่วไปเป็นที่ราบลุ่ม มีแม่น้ำสำคัญไหลผ่าน คือ แม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำน้อย และแม่น้ำท่าจีน บริเวณอำเภอเมือง อำเภอมโนรมย์ และอำเภอสรรคบุรี มีสภาพเป็นพื้นที่ราบลุ่มทั้งหมด ส่วนอำเภอวัดสิงห์ อำเภอหันคา กิ่งอำเภอหนองมะโมง และกิ่งอำเภอเนินขาม มีสภาพเป็นที่ราบลุ่มที่ดอน ลักษณะเป็นลูกคลื่นลาดสลับเป็นบางแห่ง ดินมีค่าความเป็นกรดเป็นต่าง 5.5-7.5
นอกจากนี้ในจังหวัดชัยนาทได้มีพื้นที่ที่มีต้นกำเนิดดินพวกตะกอนลำน้ำชาวบ้านเรียกว่า “ที่มีน้ำไหลทรายมูล ” ซึ่งพบบนสันดินริมลำน้ำเก่าและเนินตะกอนรูปพัด มีพื้นที่ราบเรียบถึงลูกลอนลาด โดยพบมากบริเวณริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ไม่เป็นดินเหนียวหรือดินทรายเกินไป ความอุดมสมบูรณ์ปานกลางถึงค่อนข้างสูง เป็นเขตที่มีแหล่งน้ำเพียงพอ ซึ่งเป็นสภาพที่เหมาะกับการปลูกส้มโอขาวแตงกวา
ประวัติความเป็นมา จังหวัดชัยนาทมีการปลูกส้มโอตั้งแต่ปีพ.ศ. 2350 โดยนายทอง(ไม่ทราบนามสกุล )ได้นำส้มโอมาปลูกที่บ้านแหลมงิ้ว หมู่ที่ 4 ตำบลคุ้งสำเภา อำเภอมโนรมย์ จังหวัดชัยนาท แต่ไม่ทราบเป็นพันธุ์อะไร นำมาจากที่ใด
สำหรับส้มโอพันธุ์ขาวแตงกวา มีประวัติว่านางผึ้งได้นำส้มโอจากแหล่งพันธุ์ใดไม่ปรากฎ มาปลูกบริเวณริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาในเขตตำบลคุ้งสำเภา อำเภอมโนรมย์ และตั้งชื่อว่า ” ขาวแตงกวา ” ซึ่งได้รับการรับรองพันธุ์จากกรมส่งเสริมการเกษตร ให้เป็นพันธุ์ส้มโอประจำท้องถิ่น นับเป็นผลไม้ที่เป็นทรัพยากรธรรมชาติ เป็นสมบัติคู่เมืองชัยนาท โดยสร้างชื่อเสียงและรายได้ให้แก่เกษตรกรจังหวัดชัยนาท เนื่องจากรสชาติอร่อย หวานอมเปรี้ยว ลูกโต เนื้อแห้ง เปลือกหนาเหมาะแก่การขนส่งทางไกล โดยจังหวัดชัยนาทได้จัดงาน “วันส้มโอขาวแตงกวาชัยนาท ” เพื่อเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ส้มโอขาวแตงกวาชัยนาท
ช่วงปลายเดือนสิงหาคม – ต้นเดือนกันยายน เป็นประจำทุกปี โดยจัดครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.2527 ที่อำเภอมโนรมย์ ซึ่งเป็นถิ่นถิ่นกำเนิดของส้มโอพันธุ์นี้ สำหรับขอบเขตการปลูกส้มโอขาวแตงกวาชัยนาท ตั้งอยู่ในพื้นที่ราบลุ่มภาคกลาง ครอบคลุมพื้นที่ของจังหวัดชัยนาท