“พุทรานมบ้านโพน” (Nom Ban Phon Jujube หรือ Put-sa Nom Ban Phon) หมายถึง พุทราที่มีทรงผลกลมหรือกลมรี ผิวเปลือกมีสีเขียวหรือเขียวอ่อน เปลือกบาง ก้านขั้วผลเป็นร่องลึกเนื้อละเอียด สีขาว ฉ่ำน้ำ กรอบ รสชาติหวาน ซึ่งเกิดจากการบำรุงด้วยปุ๋ยน้ำนมและกางมุ้งตาข่าย ปลูกและผลิตในอำเภอคำม่วงและอำเภอสามชัยของจังหวัดกาฬสินธุ์ กรมทรัพย์สินทางปัญญาประกาศให้ขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI ) “พุทรานมบ้านโพน” เมื่อ 29 ก.ย. 2563 โดยผู้ยื่นขอจดทะเบียนคือจังหวัดกาฬสินธุ์
ประวัติความเป็นมา
“บ้านโพน” เป็นชุมชนของคนกลุ่มชาติพันธ์ผู้ไทซึ่งบรรพชนได้อพยพมาตั้งหลักแหล่งเมื่อราว พ.ศ. 2400ทั้งในพื้นที่อำเภอคำม่วง จังหวัดกาฬสินธุ์ ชุมชมชนชาวผู้ไทบ้านโพน นอกจากจะเป็นชุมชนที่เป็นต้นกำเนิดของผ้าไหมแพรวากาฬสินธุ์อันได้ชื่อว่าเป็นหัตกรรมที่มีความสวยงามวิจิตรบรรจง จนได้ชื่อว่าเป็น “ราชินีแห่งไหม”
ชาวบ้านโพนเริ่มปลูกพุทราราวปี พ.ศ. 2526 โดยนายบุตร ภูจันหา ได้นำพุทราประเกทรสหวานสายพันธุ์บอมเบย์เข้ามาปลูก ด้วยสภาพดินที่มีลักษณะเป็นที่ราบริมห้วยเชิงเทือกเขาภูพาน และภูมิอากาศที่เหมาะสมจึงทำให้พุทราที่ปลูกในพื้นที่มีคุณภาพดี รสหวานกรอบ เป็นที่ต้องการของผู้บริโภค จึงมีชาวบ้านขยายพื้นที่การปลูกเพิ่มมากขึ้นทุกปีทั้งในอำเภอบ้านม่วงและอำเภอสามชัย ของจังหวัดกาฬสินธุ์ ในการนี้เทศบาลตำบลโพน จึงกำหนดจัดงานเพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์ผลผลิตพุทราตั้งแต่ปี พ.ศ. 2547 เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน ทำให้พุทราจากแหล่งผลิตของบ้านโพนมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักมากขึ้นอย่างแพร่หลาย
ต่อมารอบปีการผลิต 2550/2551 ได้มีการส่งเสริมเกษตรปลูกสายพันธ์พุทราอื่นเพิ่มเติม คือ พันธุ์นมสดแทนพันธุ์ที่ปลูกอยู่เดิม โดยมีข้อตกลงว่าจะรับซื้อผลผลิตคืนทั้งหมดในราคาที่ดีกว่าพันธุ์เดิม แต่ต้องซื้อพันธุ์พุทราและปุ๋ยบำรุงจากผู้มาส่งเสริม แต่ในภายหลังไม่สามารถซื้อพุทราตามจำนวนและราคาที่ตกลงได้โดยให้เหตุผลว่าผลผลิตไม่เป็นไปตามมาตรฐานที่ต้องการทั้งสองฝ่ายจึงได้มีการยกเลิกข้อตกลงในรอบปีการผลิตต่อมา ซึ่งชาวบ้านหลายคนเหลือกิ่งพันธุ์ไว้เนื่องจากเห็นว่าให้ผลดกกว่าพันธุ์เดิม
และปีต่อ ๆ มาก็สังเกตเห็นว่าพุทราที่เกิดจากตาพุทราพันธุ์นมสดทาบกับต้นตอพุทราพันธุ์จัมโบ้ นอกจากจะมีลักษณะเด่นคือให้ผลผลิตที่ดกกว่าพันธุ์เดิมแล้ว ยังให้ผลผลิตเป็นสองลักษณะ คือ แบบลูกโบ้และแบบลูกแก้ว และด้วยภูมิปัญญาของเกษตรกร เมื่อบำรุงด้วยปุ๋ยน้ำนม ทำให้ผลผลิตพุทราสายพันธุ์นี้มีความหวาน กรอบเพิ่มมากขึ้นในรอบปีการผลิต 2555/56 นายบุตร ภูจันหา ได้นำวิธีการกางมุ้งมาปรับใช้ในการดูแลต้นพุทราเพื่อป้องกันการทำลายผลผลิตจากแมลงวันทอง ทำให้ได้ผลดีต่อผู้บริโภค คือ ลดการใช้สารเคมีในการป้องกันและกำจัดศัตรูพืช และไม่กระทบกับคุณภาพผลผลิต อีกทั้งทำให้พุทรามีผิวสวยเป็นที่ต้องการของตลาด จึงมีการขยายพื้นที่พุทรากางมุ้งเพิ่มมากขึ้นทุกปีในปัจจุบัน พ.ศ. 2563 มีการปลูกพุทราแบบกางมุ้งทั้งหมด โดยมีเกษตรกรจำนวน 403 ราย พื้นที่ปลูกกว่า 1,832 ไร่ ปริมาณผลผลิตเฉลี่ย 4.5 ตันต่อไร่ สามารถสร้างรายได้ให้กับชุมชนไม่น้อยกว่าปีละ 100 ล้านบาท