“น้อยหน่าปากช่องเขาใหญ่” GI พืชเศรษฐกิจสำคัญ สร้างรายได้เกษตรกร

“น้อยหน่าปากช่องเขาใหญ่” (Pakchong Khaoyai Sugar Apple หรือ Noi-nha Pakchong Khaoyai) หมายถึง น้อยหน่าจำนวน 3 สายพันธุ์ ได้แก่ น้อยหน่าหนัง น้อยหน่าฝ้าย และน้อยหน่าลูกผสม ที่มีรสชาติหวานหรือหวานอมเปรี้ยวเล็กน้อย กลิ่นหอมละมุน เมล็ดเล็ก ปลูกและผลิตในพื้นที่อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา กรมทรัพย์สินทางปัญญาประกาศให้ขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) “น้อยหน่าปากช่องเขาใหญ่” เมื่อวันที่ 21 ส.ค. 2563 โดยผู้ขอยื่นจดทะเบียน ได้แก่ จังหวัดนครราชสีมา

117

ลักษณะภูมิประเทศ

อำเภอปากช่อง ตั้งอยู่ที่ละติจูด 14 องศา 42 ลิปดา 29 ฟิลิปดาองศาเหนือ ลองจิจูด 101 องศา 24 ลิปดา 58 ฟิลิปดาตะวันออก มีลักษณะภูมิประเทศเป็นแอ่งกระทะ มีเทือกเขาดงพญาเย็นและภูเขาน้อยใหญ่ล้อมรอบ มีความอุดมสมบูรณ์สูง จนได้รับการประกาศให้เป็นแหล่งมรดกโลกทางธรรมชาติจากองค์การยูเนสโก ลักษณะของดินเป็นชุดดินปากช่อง เกิดจากการผุพังสลายตัวของเศษหินเชิงเขาของหินดินดานที่แทรกกับหินปูนในสภาพภูมิประเทศแบบคาสต์ ดินบนเป็นดินเหนียวหรือดินเหนียวปนทรายสีน้ำตาลปนแดงเข้ม ดินล่างเป็นดินเหนียวสีน้ำตาลปนแดงเข้ม การระบายน้ำดี ทำให้ดินไม่แฉะหรือน้ำขัง แต่ยังคงดูดซับน้ำไว้ได้ได้ในปริมาณที่เป็นประโยชน์กับพืช ปฏิกิริยาดินเป็นกรดปานกลางถึงเป็นกลาง (pH 6.0 – 7.0) และมีธาตุเหล็กและแมงกานีสสะสมในดินล่างซึ่งธาตุเหล็กและแมงกานีสเป็นองค์ประกอบทำให้พื้นพื้นที่ของอำเภอปากช่องปลูกน้อยหน่าได้คุณภาพแตกต่างจากพื้นที่อื่น เนื่องจากธาตุเหล็กและแมงกานีสมีบทบาทสำคัญต่อกระบวนการที่เกี่ยวข้องกับระบบเอนไซม์ต่าง ๆ โดยช่วยในการสังเคราะห์แสงและสร้างคลอโรฟิลล์ ผลิตฮอร์โมนและสังเคราะห์คาร์โบไฮเดรต ทำให้กระบวนการในพืชน้อยหน่าสมดุลมากขึ้น ส่งผลต่อคุณภาพของต้น ผล รวมไปถึงรสชาติของน้อยหน่า นอกจากนี้ธาตุเหล็กและแมงกานีสยังส่งผลทำให้น้อยหน้าไม่อ่อนแอต่อโรค เช่น โรครากเน่า เป็นต้น และต้านการเหลืองป้องกันไม่ให้ใบร่วงก่อนเวลา ทำให้ต้นน้อยหน่าแข็งแรงขึ้นเพื่อพร้อมออกดอกและติดผล

ภูมิอากาศ

อำเภอปากช่องจัดอยู่ในพื้นที่ประเภททุ่งหญ้าเขตร้อน แบ่งเป็น 3 ฤดูกาล ดังนี้ ฤดูหนาวเริ่มกลางเดือนตุลาคมถึงกลางเดือนกุมภาพันธ์ มีอากาศหนาวเย็นและแห้ง ฤดูร้อน เริ่มกลางเดือนกุมภาพันธ์ถึงกลางเดือนพฤษภาคม มีอากาศร้อนอบอ้าว และฤดูฝน เริ่มกลางเดือนพฤษภาคมถึงกลางเดือนตุลาคม อากาศจะมีความชุ่มขึ้นมากและมีฝนตกชุกมาก

สภาพโดยทั่วไปในเวลากลางวันอากาศมีลมพัดโชยทำให้ไม่ร้อนจัด ในเวลากลางคืนอากาศเย็นและมีความชื้นสูง ด้วยลักษณะเฉพาะของลักษณะภูมิประเทศและภูมิอากาศของอำเภอปากช่องจึงทำให้น้อยหน่าปากช่องเขาใหญ่ มีรสชาติหวานหรือหวานอมเปรี้ยวเล็กน้อย ผลใหญ่ ไม่แตก และไม่อ่อนแอต่อโรค

ประวัติความเป็นมา

ในอดีตอำเภอปากช่องเป็นหมู่บ้านเล็ก ๆ ตั้งอยู่ในหุบเขาของเขาดงพญาไฟ มีเส้นทางคมนาคมเพียงการเดินและขี่ม้า จนเมื่อปี พ.ศ. 2434 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) โปรดเกล้าฯ ให้สร้าง ทางรถไฟจากกรุงสยาม ไปยังหัวเมืองโคราชซึ่งจำเป็นต้องระเบิดภูเขาเพื่อวางรางรถไฟ ยาวเป็นช่องทาง จึงเรียกว่า “บ้านปากช่อง” และได้รับการยกฐานะเรื่อยมาจนเป็นอำเภอปากช่องเมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ.2500

ประกอบกับด้วยสภาพพื้นที่ในแถบนี้เป็นผืนบำอุดมสมบูรณ์และกว้างใหญ่ ในห้วงปีดังกล่าวจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ นายกรัฐมนตรี จึงให้ตั้งวนอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่เป็นแหล่งท่องเที่ยว ต่อมาเมื่อ 18 กันยายน พ.ศ. 2505 ยกฐานะเป็น “อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่” และได้ขึ้นบัญชีเป็นมรดกโลกในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2543

น้อยหน่าเป็นไม้ผลประจำถิ่นในแถบทวีปอเมริกากลาง สันนิษฐานว่าน้อยหน่าเข้ามาเมืองไทยเป็นครั้งแรกช่วงสมัยกรุงศรีอยุธยา ราวปี พ.ศ. 2060 โดยชาวโปรตุเกสเป็นผู้นำพันธุ์เข้ามาปลูกครั้งแรกแถบอยุธยาและลพบุรี แต่บางกระแสเชื่อว่าชาวอังกฤษเป็นผู้นำน้อยหน่ามามาจากอินเดียเข้ามาปลูกในไทย ราวปี พ.ศ. 2155 ในพื้นที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี นครปฐม เรื่อยไปจนถึงอยุธยาและลพบุรี เนื่องจากจังหวัดลพบุรีเคยมีน้อยหน่าท้องถิ่นสายพันธุ์หนึ่ง เรียกว่า “น้อยหน่าพระที่นั่งเย็น” หรือ “น้อยหน่าพระนารายณ์” น้อยหน่าเหล่านี้คือน้อยหน่าพื้นเมืองหรือน้อยหน่าฝ้ายในปัจจุบัน

สำหรับน้อยหน่าหนังเข้าสู่ประเทศไทยใน พ.ศ. 2475 โดย ภคินีกาซาบีแห่งพระอารามแม่พระจังหวัดอุบลราชธานี ได้นำเมล็ดน้อยหน่ามาจากไซ่ง่อน ประเทศเวียดนาม มาปลูกและขยายพันธุ์ คือน้อยหน่าหนังเขียว เนื่องจากการปลูกมีการขยายพันธุ์โดยใช้การเพาะเมล็ด ในปี พ.ศ. 2504 พบว่าบางต้นมีผลและมีใบสีทองจึงเรียกว่า น้อยหน่าหนังสีทอง

น้อยหน่าปากช่องเขาใหญ่ เริ่มแรกมีการนำต้นพันธุ์น้อยหน่ามาจากจังหวัดจันทบุรีมาปลูกตั้งแต่เมื่อ70 – 80 ปีที่ผ่านมา โดยเกษตรกรชาวตำบลกลางดง อำเภอปากช่อง เป็นการปลูกทั่วไปในพื้นที่หัวไร่ปลายนาเพื่อรับประทาน ปรากฏว่ามีการเจริญเติบโตดี ผลผลิตมีรสชาติหอมหวาน จึงได้ขยายพื้นที่ปลูกมากขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้”น้อยหน่าปากช่องเขาใหญ่”มีชื่อเสียงขจรขจายไปทั่ว โดยการปลูกนั้นมีการขยายพันธุ์ด้วยการเพาะเมล็ด ทำให้เกิดการกลายพันธุ์จากลูกสีเขียวที่ปลูกเริ่มแรกกลายเป็นลูกสีเหลืองและสีม่วง ทำให้น้อยหน่ามีหลากหลายพันธุ์ ซึ่งมีลักษณะเนื้อเหนียวคือ น้อยหน่าหนัง และลักษณะเนื้อร่วนคือ น้อยหน่าฝ้าย

ต่อมาในปี พ.ศ. 2501 มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้ก่อตั้งสถานีวิจัยปากช่อง เพื่อเป็นแหล่งฝึกงานนิสิตเกษตรและทำการวิจัยไม้ผลเขตร้อนและไม้ผลกึ่งร้อน ภาควิชาพืชสวน สถานีวิจัยปากช่องจึงได้พัฒนาสายพันธุ์น้อยหน่าพันธุ์ผสมโดยได้ปรับปรุงพันธ์ให้ตรงตามความต้องการของตลาดและผู้บริโภค ได้แก่ พันธุ์เพชรปากช่อง ปากช่อง 46 และฝ้ายเขียวเกษตร 2 และได้ถ่ายทอดองค์ความรู้นี้แก่เกษตรกรชาวสวนกลางดง ปัจจุบันน้อยหน่าเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรอำเภอปากช่องเป็นลำดับต้น ๆ เนื่องจากลักษณะภูมิประเทศ ภูมิอากากาศ และดินที่เหมาะสมส่งผลให้ผลผลิตน้อยหน่าปากช่องเขาใหญ่ มีลักษณะ ผลใหญ่ รสชาติหวาน เมล็ดเล็ก เป็นที่นิยมและต้องการของผู้บริโภคทั้งในประเทศและต่างประเทศ

อำเภอปากช่อง เล็งเห็นความสำคัญของของ “น้อยหน่าปากช่องเขาใหญ่ “จึงได้จัดงาน “น้อยหน่าและของดีเมืองปากช่อง” เป็นประจำทุกปี ในช่วงปลายเดือนมิถุนายน -กรกฎาคม ตั้งแต่ปีพ.ศ. 2527 เป็นต้นมาเพื่อเป็นการส่งเสริมและประชาสัมพันธ์สินค้าเกษตรและของดีอำเภอปากช่องให้เป็นที่รู้จัก โดยในงานจะมีการประกวดผลไม้ขึ้นชื่อของอำเภอปากช่อง เช่นน้อยหน่าสายพันธุ์ต่าง ๆ ทุเรียนพันธุ์ต่าง ๆ การแสดงและจำหน่ายสินค้าของดีอำเภอปากช่อง เป็นต้น

GI65100187 page 0008