“สับปะรดบึงกาฬ” GI หวานกรอบ ไม่กัดลิ้น

“สับปะรดบึงกาฬ” (Bueng Kan Pineapple หรือ Sup Pa Rot Bueng Kan) หมายถึง สับปะรดพันธุ์ปัตตาเวีย ที่มีผลกลมมนขนาดใหญ่ ส่วนโคนผลและปลายผลมีความกว้างเสมอกัน ตาผลค่อนข้างตื้น เนื้อแน่นละเอียดสีเหลืองเข้มสม่ำเสมอตลอดผล มีกลิ่นหอมเฉพาะตัว รสชาติหวานอมเปรี้ยวเล็กน้อย ฉ่ำน้ำ ไม่กัดลิ้นปลูกและผลิตในพื้นที่จังหวัดบึงกาฬ และกรมทรัพย์สินทางปัญญา ได้ประกาศให้ขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ ( GI) “สับปะรดบึงกาฬ” เมื่อวันที่ 14 กย 2561

358470308 603790131859553 7324456232641714795 n

จังหวัดบึงกาฬ มีลักษณะภูมิอากาศอยู่ในจำพวกฝนแถบร้อนและแห้งแล้ง เนื่องจากมีภูมิประเทศติดกับแม่น้ำโขงซึ่งมีภูเขาใหญ่ 2 ฝั่งโขง และได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ จึงทำให้มีฝนตกตกชุกในช่วงเดือนมิถุนายน – เดือนกันยายน โดยมีปริมาณน้ำฝนมากที่สุด 2,408.08 มิลลิเมตรต่อปี และมีปริมาณน้ำฝนน้อยที่สุด 1,816.6 มิลลิเมตรต่อปี ฤดูหนาวในช่วงเดือนพฤศจิกายน – เดือนกุมภาพันธ์ จะมีอากาศหนาวเย็น เนื่องจากพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่สูง อุณหภูมิติต่ำสุด 10 องศาเซลเซียส ส่วนในฤดูร้อนอยู่ในช่วงเดือนมีนาคม – เดือนเมษายน อากาศจะร้อนจัด อุณหภูมิสูงสุดอยู่ที่ 35 องศาเซลเซียส ซึ่งมีความชื้นสัมพัทธ์เฉลี่ยต่ำสุดอยู่ที่ร้อยละ 55 และสูงสุดอยู่ที่ร้อยละ 90

201617445 129108295989998 776956996353302657 n

ด้วยสภาพภูมิศาสตร์ดังกล่าว แสดงให้เห็นว่าพื้นดินร่วนปนทรายตลอดชั้นดิน ซึ่งพื้นดินมีความอุดมสมบูรณ์ของดินตามธรรมชาติต่ำ เนื้อดินมีความพรุนค่อนข้างมาก ทำให้การระบายน้ำได้ดี ประกอบกับสภาพภูมิอากาศข้างต้น ทำให้เป็นพื้นที่ที่มีความเหมาะสมกับการปลูกสับปะรด ปัจจัยเหล่านี้ส่งผลให้สับปะรดบึงกาฬ มีลักษณะผลใหญ่ เนื้อละเอียดแน่น รสชาติหวานอมเปรี้ยวเล็กน้อย ฉ่ำน้ำ ไม่กัดลิ้น และมีกลิ่นหอมเฉพาะตัวซึ่งเป็นเอกลักษณ์ที่แตกต่างจากสับปะรดสายพันธุ์เดียวกันที่ปลูกในพื้นที่อื่น

เมื่อปี พ.ศ. 2529 เกษตรกรตำบลชัยพร อำเภอบึงกาฬ จังหวัดหนองคาย ได้นำหน่อพันธุ์สับปะรดพันธุ์ปัตตาเวีย อยู่ในกลุ่มสายพันธุ์ Smooth cayenne มาจากพ่อค้าที่มาติดต่อค้าขายซึ่งนำพันธุ์มาจากจังหวัดชลบุรีมาทดลองปลูกในเขตพื้นที่ตำบลชัยพร อำเภอบึงกาฬ ปรากฏว่าให้ผลผลิตที่ดีทำให้สับปะรดที่ปลูกในตำบลชัยพร อำเภอบึงกาฬ มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักและเป็นที่ต้องการของตลาดสับปะรด เพื่อน้ำไปบริโภคผลลสดเป็นอย่างมากดังคำขวัญประจำตำบลชัยพร ที่ว่า “สับปะรดหวาน สืบสานวัฒนธรรม ผู้นำเศรษฐกิจ แหล่งผลผลิตพืชเกษตรเป็นเขตท่องเที่ยว ปาสีเขียวชัยพร” จากคำขวัญดังกล่าวจะเห็นถึงของดีขึ้นชื่อคือ สับปะรด เป็นที่ยอมรับและเป็นผลิตภัณฑ์เด่นของตำบลชัยพร อำเภอบึงกาฬ ซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญ เป็นที่นิยมและเป็นที่ต้องการของตลาดสับปะรด สามารถสร้างอาชีพและรายได้ไห้กับประชาชนในพื้นที่ได้อย่างดี โดยจำหน่ายในรูปผลสดเพื่อการบริโภค และแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ต่อมาได้มีการขยายการปลูกสับปะรดไปยังหมู่บ้านและชุมชนในพื้นที่ที่ใกล้เคียง

ต่อมาในปี พ.ศ. 2554 มีการแยกอำเภอบึงกาฬ อำเภอเซกา อำเภอโซ่พิสัย อำเภอบุ้งคล้า อำเภอบึงโขงหลง อำเภอปากคาด อำเภอพรเจริญ และอำเภอศรีวีไล ของจังหวัดหนองคาย ออกจากการปกครองของจังหวัดหนองคาย รวมตั้งขึ้นเป็นจังหวัดบึงกาฬ ซึ่งการปลูกสับปะรดแพร่หลายมากขึ้นในพื้นที่จังหวัดบึงกาฬจนเป็นที่รู้จักไปทั่วในชื่อ “สับปะรดบึงกาฬ” เป็นที่นิยมและต้องการของตลาดลับปะรด เพื่อนำไปบริโภคสด

และเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2560 ได้มีการประกวดและจำหน่ายผลิตภัณฑ์สับปะรดที่มีคุณภาพของเกษตรกรซึ่งมีกลุ่มอาชีพต่างๆ ตลอดจนหน่วยงานราชการและหน่วยงานเอกชนให้ความสนใจเข้าร่วมงานดังกล่าวจำนวนมากซึ่งสร้างรายได้และชื่อเสียงให้กับกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกสับปะรดให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น ผลจากการจัดงานทำให้ สับปะรดบึงกาฬเป็นที่ยอมรับกันว่ามีรสชาติที่ดีมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว จึงเป็นของดีของขึ้นชื่อของจังหวัดบึงกาฬ