“มันแกวบรบือ” (Mankaeo Borabue หรือ Borabue Yam Bean) หมายถึง มันแกวพันธุ์เบาที่มีลักษณะหัวกลม แป้นอวบใหญ่ เปลือกบางสีน้ำตาลอ่อนลอกออกจากเนื้อได้ง่าย เนื้อมีสีขาว เส้นใยในเนื้อมาก ปริมาณของน้ำในเนื้อมาก รสสัมผัสกรอบ รสชาติหวานและมัน ปลูกและผลิตในเขตพื้นที่อำเภอบรบือและอำเภอกกุดรัง ของจังหวัดมหาสารคาม
อำเภอบรบือ แต่เดิมชื่ออำเภอประจิมสารคาม ตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2443 รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2457 หม่อมเจ้านพมาศ นวรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดมหาสารคามในขณะนั้น ได้ไปตรวจราชการในพื้นที่ ซึ่งเป็นที่ตั้งตำบลบรบือในปัจจุบัน พบว่ามีทรัพยากรธรรมชาติ คือ บ่อเกลือสินเธาว์ จึงประทานนามว่า “บ่อระบือ” ซึ่งต่อมาได้เรียกขานกันว่า “บรบือ” จนถึงปัจจุบัน
ลักษณะภูมิประเทศ อำเภอบรบือตั้งอยู่ระหว่างละติจุดที่ 16 องศา 2 ลิปดา 30 ฟิลิปดาเหนือ ลองจิจุดที่ 103 องศา 6 ลิปดา 54 ฟิลิปดาตะวันออก และอำเภอกุดรังตั้งอยู่ละติจูดที่ 16 องศา 1 ลิปดา 47 ฟิลิปดาเหนือ ลองจิจูดที่ 102 องศา 57 ลิปดา 2 ฟิลิปตาตะวันออก ตามลำดับ ซึ่งอยู่ตอนกลางของจังหวัดมหาสาสารคาม สภาพพื้นที่เป็นที่ราบสลับกับเนินดิน มีลักษณะเป็นลูกคลื่นลอนตื้นและที่ราบสูง มีความสูงจากระดับน้ำทะเล130 -230 เมตร มีลำห้วยหลายแห่งขนาดใหญ่และเล็กลักษณะดินมีความอุดมสมบูรณ์ต่ำ ค่อนข้างเป็นทรายหรือดินร่วนปนทราย มีความร่วนซุยเมื่อเปียกน้ำ บางแห่งยังพบดินที่มีลูกรังหรือกรวดปะปนอยู่ ดินเป็นดินตื้นไม่อุ้มน้ำ มีความเค็มเนื่องจากมีทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญ คือ แร่เกลือหิน ปฏิกิริยาดินมีความเป็นกรดปานกลางถึงเป็นด่าง
ลักษณะภูมิอากาศของอำเภอบรบือและอำเภอกุดรัง มีสภาพอากาศเป็นแบบมรสุมเมืองร้อน อุณหภูมิต่ำสุดเฉลี่ย 22.0 องศาเซลเซียส และอุณหภูมิสูงสุดเฉลี่ย 32.8 องศาเชลเชียสโดยได้รับอิทธิพลของลมมรสุมที่พัดประจำฤดูกาล 2 ชนิด คือ มรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งพัดพามวลอากาศเย็นและแห้งจากประเทศจีนเข้าปกคลุม ตั้งแต่กลางเดือนตุลาคมถึงประมาณเดือนกุมภาพันธ์ ทำให้มีอากาศหนาวเย็นและแห้งทั่วไป และมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดพามวลอากาศขึ้นจากทะเลและมหาสมุทรเข้าปกคลุมประเทศไทยในช่วงดูฝน ประมาณกลางเดือนพฤษภาคมถึงประมาณกลางเดือนตุลาคม ทำให้มีฝนตกชุกทั่วไปสลับกับอากาศแห้ง ปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยต่อปีต่ำกว่าหลายจังหวัดในภาคอีสาน
ด้วยลักษณะภูมิศาสตร์ดังที่กล่าวข้างต้น จึงเหมาะสมต่อการปลูกพืชหมุนเวียน คือ มันแกว เนื่องจากลักษณะดินเป็นดินร่วนปนทราย มีการสะสมของเกลือในชั้นดิน ซึ่งเหมาะกับมันแกวที่เป็นพืชที่ไม่ชอบดินชื้นแฉะ มีน้ำขัง ดินเหนียวจัด หน้าแน่น แต่จะเจริญเติบโตได้ดีในดินเหนียวปนทราย ดินร่วนปนทราย ดินทราย และดินที่แห้งแล้ง ซึ่งเป็นลักษณะภูมิศาสตร์ของอำเภอบรบือและอำเภอกุดรัง ทำให้เมื่อปลูกมันแกวจึงได้ผลผลผลิตที่แตกต่างจากแหล่งอื่น ทั้งลักษณะหัว ความกรอบและความละเอียดของเนื้อมันแกว จึงสร้างชื่อเสียงและเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่แตกต่างจากแหล่งอื่น
จังหวัดมหาสารคามโดยเฉพาะอำเภอบรบือและอำเภอกุดรัง มีสภาพดินที่ไม่อุดมสมบูรณ์มากนักประชาชนส่วนใหญ่จึงทำอาชีพการเกษตรแบบหมุนเวียน และค้นหาพืชที่จะนำมาปลูกหมุนเวียนในแต่ละฤดูดกาลให้เหมาะสมกับสภาพภูมิอากาศ
และสภาพดิน ด้วยสภาพดินที่เป็นดินทรายปนกรวด เกษตรกรจึงได้นำพืชที่มีลักษณะคลุมดินมาปลูกมันแกว จึงเป็นพืชหมุนเวียนที่ถูกนำมาปลูกในพื้นที่อำเภอบรบือและอำเภอกุดรังทั้งนี้ไม่สามารถระบุได้ว่าครั้งแรกที่มีการปลูกมันแกวที่มหาสารคามนั้น เริ่มปลูกครั้งแรกตั้งแต่เมื่อไหร่ รู้แค่เพียงคำบอกเล่าว่า มันแกวมีการปลูกสืบทอดกันมาจากรุ่นปู่ย่าตายาย สืบทอดจนถึงรุ่นพ่อแม่ ชาวอำเภอบรบือและอำเภอกุดรัง จึงรู้จักและคุ้นเคยกับการปลูกมันแกวมาตั้งแต่เกิด ในสมัยก่อนมันแกวมักปลูกตามบริเวณรอบบ้านเพื่อการบริโภคหัวในครัวเรือนทำบุญหรือแจกจ่ายให้เพื่อนบ้าน ปัจจุบันมีการพัฒนาการปลูกในเชิงพาณิชย์มากขึ้น ทำให้มีพื้นที่การปลูกมันแกวกว้างขวางมากขึ้นในพื้นที่อำเภอบรบือและอำเภอกุดรัง โดยเป็นพื้นที่ปลูกมันแกวมากที่สุดในประเทศไทย และได้นำมันแกวมาแปรรูปเป็นเมนูอาหารที่สามารถบริโภคได้อย่างหลากหลาย เช่น กะหรี่ปั๊บไส้มันแกว พายมันแกว โมจิไส้มันแกว และทับทิมกรอบ เป็นต้น
นอกจากการแปรรูปเพื่อการบริโภคแล้วสถาบันการศึกษาในท้องถิ่นได้ศึกษาวิจัยและนำสารสกัดจากมันแกวไปใช้ในการผลิตเวชสำอางค์ คือ เซรั่มมันแกวและสบู่มันแกว ที่มีคุณสมบัติช่วยให้ผิวขาวกระจ่างใส เนียนนุ่ม เป็นธรรมชาติ และนำไปแปรรูปเป็นน้ำมันแกวสำหรับดื่มเพื่อสุขภาพอีกด้วย
ในทุก ๆ ปีจะได้มีการจัดงานเทศกาล มันแกวบรบือ ในช่วงงานฤดูหนาวและงานปีใหม่ของอำเภอบรบือ โดยการจัด
งานดังกล่าวมีมากว่า 50 ปี ทำให้ “มันแกวบรบือ “เป็นที่รู้จักโดยทั่วไป เป็นของฝากติดไม้ติดมือสำหรับนักท่องเที่ยว
และยังปรากฏในคำขวัญของอำเภอบรบือว่า”มันแกวมากเหลือ เกลือใต้ดินมากมี ผ้าไหมดีมากค่า งามสง่าสวน
หนองบ่อ ศักดิ์สิทธิ์พ่อจูมคำ”