“ข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้”สินค้า GI จากจังหวัดร้อยเอ็ด สู่สากล

“ข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้” (Thung Kula Rong-Hai Thai Hom Mali Rice : TKR) หมายถึง ข้าวเปลือก ข้าวกล้อง และข้าวขาว ที่แปรรูปมาจากข้าวเปลือกพันธุ์ข้าวหอมที่ไวต่อช่วงแสง คือ พันธุ์ขาวดอกมะลิ 105 และพันธุ์ กข 15 ซึ่งปลูกในพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ ในฤดูนาปี และมีกลิ่นหอมตามธรรมชาติ ทั้งนี้ กรมทรัพย์สินทางปัญญา ได้ประกาศขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ ( GI) “ข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้” เมื่อ 28 เมษายน 2549 โดยผู้ยื่นคำขอ คือ สมาคมการค้าข้าวหอมมะลิไทยของจังหวัดร้อยเอ็ด

5fb388b45d2ba

ปัจจัยทางธรรมชาติและปัจจัยจากมนุษย์มีส่วนสำคัญต่อการผลิต “ข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้” คือพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้เป็นแอ่งกระทะขนาดใหญ่ มีพื้นที่ปลูกข้าวเป็นลูกคลื่น สูง ต่ำ สลับกันจากระดับน้ำทะเล 200 เมตร เป็นดินร่วนปนทราย ในดินมีธาตุโซเดียมและซิลิก้า มีความอุดมสมบูรณ์ต่ำ การเพาะปลูกข้าวขึ้นอยู่กับสภาพดินฟ้าอากาศ อาศัยน้ำฝนเป็นหลัก ลักษณะสภาพภูมิประเทศที่มีความเค็มในดิน ความแห้งแล้งของพื้นที่ พันธุ์ข้าว สภาพอากาศ ธาตุอาหารในดิน ส่งผลให้ข้าวเกิดความเครียดและหลั่งสารหอม 2-acetyl-1-pyrroline ( 2AP) ในปริมาณ 0.1-0.2 ไมโครกรัม (ณ แปลงปลูก) ซึ่งทำให้มีความหอมมากกว่าข้าวหอมมะลิที่ปลูกในพื้นที่อื่นของประเทศ อันเป็นธรรมชาติที่ส่งผลต่อข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ รวมทั้งการใช้ภูมิปัญญาของมนุษย์อันมีส่วนสำคัญต่อการผลิตข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้

00 A5B2013579C1E1280

เริ่มตั้งแต่การคัดเลือกพันธุ์ที่ดี ใช้วิธีการเพาะปลูกที่เหมาะสม ทำคันนาและแบ่งพื้นนาออกเป็นแปลงๆ เพื่อเก็บกักน้ำให้พอเพียงต่อการเจริญเติบโตของข้าว มีการระบายน้ำออกในช่วงก่อนเก็บเกี่ยวข้าวประมาณ 10 วัน และเก็บเกี่ยวในระยะพลับพลึงตลอดจนมีการตากข้าว 2-3 วัน เพื่อลดความชื้น อันเป็นปัจจัยธรรมชาติและภูมิปัญญาท้องถิ่นที่ส่งผลต่อข้าวหอมมะลิ ทุ่งกุลาร้องไห้ และมีระบบการตรวจสอบย้อนกลับได้

ทุ่งกุลาร้องไห้ เป็นทุ่งใหญ่ของภาคอีสาน มีพื้นที่อยู่ในเขต 5 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดมหาสารคาม จังหวัดร้อยเอ็ด จังหวัดยโสธร จังหวัดศรีสะเกษ และจังหวัดสุรินทร์ จำนวนพื้นที่ทั้งสิ้น 2,107,690 ไร่ เดิมมีชื่อว่า ทุ่งหมาหลง หรือ ทุ่งปู่ป้าหลาน ที่ได้ชื่อว่า “ทุ่งกุลาร้องไห้” นั้น มีตำนานกล่าวว่า มีพ่อค้าชาวกุลาเดินเร่ขายสินค้าผ่านเข้ามาในทุ่งกว้างแห่งนี้จนเมื่อยล้ายังไม่พ้นทุ่งกว้างแห่งนี้สักที ทุ่งนี้จึงมีชื่อว่า” ทุ่งกุลาร้องไห้ “

การเพาะปลูกข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ คาดว่าเริ่มมีการนำเข้ามาปลูก หลังจากทางราชการมีการปรับปรุงพันธุ์ข้าวหอมมะลิและรับรองพันธุ์ในปี 2502 ในชื่อพันธุ์ “ขาวดอกมะลิ 105” ได้เริ่มดำเนินการอย่างกว้างขวางในปี 2524 โดยโครงการแลกเปลี่ยนพันธุ์ข้าว เน้นการเปลี่ยนพันธุ์ปลูกจากข้าวเหนียวเป็นพันธุ์ข้าวเจ้า จึงทำให้ข้าวหอมมะลิมีการปลูกอย่างแพร่หลาย มีการพัฒนาพันธุ์ข้าวโดยส่งเสริมให้เกษตรกรเปลี่ยนพันธุ์ปลูกทุก 3 ปี เพื่อให้พันธุ์ข้าวมีความบริสุทธิ์

สภาพการปลูกข้าวหอมมะลิที่อาศัยน้ำฝนเป็นหลัก ทำให้ปลูกได้เพียงปีละ 1 ครั้ง เก็บเกี่ยวในช่วงฤดูหนาวที่มีอากาศหนาวเย็นและปราศจากฝน ประกอบกับภูมิปัญญาท้องถิ่นที่เชื่อว่าพื้นที่ที่มีน้ำ จะต้องระบายน้ำออกก่อนเก็บเกี่ยวข้าวประมาณ 10 วัน จะทำให้ผลผลิตข้าวที่เก็บเกี่ยวได้ มีคุณภาพดี ข้าวสารมีเมล็ดใส และแกร่ง ข้าวสุกมีความหอมและนุ่ม รวมทั้งขบวนการแปรรูปที่ได้มาตรฐาน จึงทำให้ ข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ มีคุณภาพที่เป็นเอกลักษณ์แตกต่างจากข้าวหอมมะลิที่ผลิตจากแหล่งอื่นๆ จนเป็นที่ยอมรับของผู้ค้าและผู้บริโภคทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ

“ข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ เป็นสินค้า GI ที่มีศักยภาพ และถือเป็นต้นแบบสินค้า GI ที่เป็นที่ยอมรับถึงคุณภาพมาตรฐาน มีชื่อเสียงไปไกลถึงสหภาพยุโรป ด้วยเป็นสินค้าที่มีเอกลักษณ์ มีความหอมที่โดดเด่นต่างจากข้าวชนิดเดียวกันที่ปลูกนอกพื้นที่ อีกทั้งยังคำนึงถึงการควบคุมคุณภาพตามมาตรฐานสากล ทำให้ข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ยังคงรสชาติ ความหอม อร่อยถูกใจผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศ หากรักษาคุณภาพตามมาตรฐาน GI ไว้ได้ ก็จะทำให้สินค้าเป็นที่ต้องการ และช่วยเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรเพิ่มขึ้น ซึ่งสินค้า GI อื่นๆ ก็เช่นเดียวกัน มีโอกาสที่จะขยายตลาดได้เพิ่มขึ้นทั้งในประเทศและต่างประเทศ