“ข้าวเหนียวซิวเกลี้ยงเมืองเลย” สินค้า GI สุดยอดข้าวเหนียวดอย

“ข้าวเหนียวซิวเกลี้ยงเมืองเลย” (Siwgleang Sticky Rice Mueang Loei หรือ Khao Neaw Siwgleang Mueang Loei) หมายถึง ข้าวไร่ข้าวเหนียวพันธุ์ซิวเกลี้ยง ซึ่งเป็นข้าวไร่พันธุ์พื้นเมืองที่ไวต่อช่วงแสง ปลูกในช่วงฤดูฝน ในพื้นที่ดอน เนินเขา ที่ราบลอนคลื่น และพื้นที่ราบระหว่างภูเขา ที่ระดับความสูง 500 – 1,000 เมตร จากระดับน้ำทะเล เมล็ดรูปร่างเรียวยาว ข้าวเปลือกมีสีฟาง ไม่มีขน ส่วนปลายเมล็ดมีจุดสีน้ำตาล เมื่อหุงสุกแล้วจะมีความเหนียว นุ่ม เมล็ดสวย และมีกลิ่นหอมเล็กน้อย หลังจากหุงเป็นเวลานานยังคงความนุ่มไว้ได้ ปลูกในพื้นที่อำเภอด่านซ้าย อำเภอภูเรือ และอำเภอนาแห้ว ของจังหวัดเลย และแปรรูปในพื้นที่จังหวัดเลย กรมทรัพย์สินทางปัญญา ประกาศให้ขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ ( GI )” ข้าวเหนียวซิวเกลี้ยงเมืองเลย”เมื่อ 21 พ.ค.2563 โดยผู้ยื่นคำขอจดทะเบียน ได้แก่ จังหวัดเลย

col06p1 7

ที่มาและชื่อ ข้าวเหนียวพันธุ์ซิวเกลี้ยง มีถิ่นกำเนิดอยู่จังหวัดเลย เป็นสายพันธุ์ข้าวไร่พื้นเมืองของจังหวัดเลยที่ปลูกสืบทอดมาจากบรรพบุรุษยาวนานกว่า 200 ปี ประกอบกับจังหวัดเลย มีสภาพภูมิประเทศเป็นพื้นที่ภูเขาและเนินเขา มีเทือกเขายาว โดยมีที่ราบลุ่มระหว่างหุบเขาสลับอยู่ระหว่างแนวเทือกเขา จึงนิยมปลูกข้าวไร่เป็นหลัก ซึ่งข้าวเหนียวพันธุ์ซิวเกลี้ยงเป็นสายพันธุ์ที่เกษตรกรนิยมปลูกกันมากกว่าพันธุ์อื่นๆ เพราะมีลักษณะเด่น คือ มีอัตราการงอกสูงที่สุดทั้งที่ขนาดของเมล็ดเล็กกว่าพันธุ์อื่นๆ มีความทนทานต่อความแห้งแล้ง โรคและแมลงศัตรูพืช ให้ผลผลิตดีและมีปริมาณมากกว่าข้าวไร่พื้นเมืองพันธุ์อื่นๆ

col02p1 7

จากคำบอกเล่าของคนท้องถิ่นในอำเภอด่านซ้ายให้ข้อมูลว่า ข้าวเหนียวซิวเกลี้ยง มีชื่อเดิมเรียกว่า ซิวอ้าว (ซิวแปลว่า เล็ก) ต่อมามีการเรียกชื่อใหม่ว่า”ซิวเกลี้ยง”ตามลักษณะของเมล็ดข้าวที่ไม่มีขน โดยข้าวเหนียวซิวเกลี้ยงเมืองเลยมีลักษณะเด่น คือส่วนปลายเมล็ดข้าวเปลือกมีจุดสีน้ำตาล และเมื่อหุงสุกเมล็ดข้าวจะสวย มีกลิ่นหอมเล็กน้อย เหนียว นุ่มอร่อยซึ่งแตกต่างจากการปลูกในบริเวณพื้นที่ราบที่ปลายเมล็ดข้าวเปลือกไม่มีจุดสีน้ำตาล

ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2543 ได้มีการรวมกลุ่มเกษตรกรในพื้นที่บ้านน้ำเย็น จัดตั้งวิสาหกิจชุมชนกลุ่มผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวไร่บ้านน้ำเย็น เพื่ออนุรักษ์พันธุ์ข้าวไร่พื้นเมืองหลายสายพันธุ์ รวมถึงข้าวเหนียวพันธุ์ซิวเกลี้ยงด้วย โดยภายหลังได้มีการนำกลับมาปลูกอย่างแพร่หลายตั้งแต่ปี พ.ศ. 2543 และได้มีการจัดกิจกรรมส่งเสริมการปลูกข้าวไร่เพื่อการท่องเที่ยว เช่น การจัดนิทรรศการวันข้าวไร่ การจัดงานวันถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อเริ่มต้นฤดูกาลผลิตใหม่เป็นต้น ซึ่งจัดโดยสำนักงานเกษตรจังหวัดเลย สำนักงานเกษตรอำเภอด่านซ้าย และองค์การบริหารส่วนตำบลกกสะทอน

จังหวัดเลย ตั้งอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน สภาพพื้นที่โดยทั่วไปมีลักษณะเป็นพื้นที่ภูเขาและเนินเขามีเทือกเขายาวในแนวเหนือ – ใต้ ได้ โดยมีที่ราบลุ่มระหว่างหุบเขาสลับอยู่ระหว่างแนวเทือกเขา สามารถแบ่งลักษณะภูมิประเทศได้เป็น 3 เขต คือเขตภูเขาสูง อยู่ทางด้านทิศตะวันตกของจังหวัด เขตที่ราบเชิงเขา อยู่บริเวณตอนใต้และตะวันออกของจังหวัด และเขตที่ราบลุ่ม อยู่ตอนกลางของจังหวัด ซึ่งพื้นที่อำเภอด่านซ้าย อำเภอภูเรือและอำเภอนาแห้ว เป็นพื้นที่ภูเขาสูงสลับซับซ้อน มีที่ระหว่างหุบเขาบางแห่งเป็นที่ราบสูง ทั้งที่ลุ่มและที่ดอนมีความสูงอยู่ในช่วง 500 – 1,000 เมตร จากระดับน้ำทะเล มีลักษณะเป็นดินร่วนปนทรายซึ่งเดิมเป็นพื้นที่ป่าปกคลุมทั้งพื้นที่ จึงมีความอุดมสมบูรณ์เหมาะแก่การปลูกข้าวไร่พันธุ์ซิวเกลี้ยงเมืองเลย

จังหวัดเลยมีลักษณะภูมิอากาศแบบทุ่งหญ้าเมืองร้อนหรือทุ่งหญ้าสะวันนา(Savaกกa) หรือภูมิอากาศAw (Tropical Savanna Climate) เมื่อพิจารณาตามลักษณะลมฟ้าอากาศ มีลักษณะคล้ายทางภาคเหนือ โดยมีอากาศเย็นสบาย มีอุณหภูมิเฉลี่ยต่ำกว่าจังหวัดอื่นในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและมีอุณหภูมิหนาวจัดอยู่ในช่วงเดือนธันวาคม – มกราคม ทำให้มีอากาศเย็นตลอดทั้งปี จากสภาพภูมิประเทศและภูมิอากาศจึงส่งส่งผลให้ข้าวเหนียวซิวเกลี้ยงเมืองเลย มีลักษณะเด่นคือ ส่วนปลายเมล็ดข้าวเปลือกมีจุดสีน้ำตาล ต่างจากการปลูกในพื้นที่ราบที่ปลายเมล็ดข้าวจะไม่มีจุดสีน้ำตาล และเมื่อหลังจากหุงข้าวสุกแล้ว หากทิ้งไว้เป็นระยะเวลานานยังคงความนุ่มไว้ได้