กล้วยหอมทองพบพระ (Hom Thong Phop Phra Banana หรือ Kluay Hom Thong Phop Phra) หมายถึง กล้วยหอมทองที่มีผลโค้ง คล้ายรูปตัวแอล(L) ปลายผลมีจุกคล้ายปลายดินสอ เปลือกบาง ผลดิบสีเขียว ผลสุกสีเหลืองทองสม่ำเสมอ เนื้อแน่น เหนียวหนึบ รสชาติหวานหอม ปลูกในเขตพื้นที่อำเภอพบพระ จังหวัดตาก และกรมทรัพย์สินทางปัญญา ประกาศให้ขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ ( GI ) ” กล้วยหอมทองพบพระ “เมื่อวันที่ 28 พ.ค. 2564 โดยผู้ยื่นคำขอขึ้นทะเบียน ได้แก่ จังหวัดตาก
เมื่อประมาณปี พ.ศ. 2543 เกษตรกรอำเภอพบพระได้นำหน่อพันธุ์กล้วยหอมทองจากอำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี เข้ามาปลูกในพื้นที่อำเภอพบพระเป็นครั้งแรก ซึ่งกล้วยหอมทองที่ปลูกได้ 1 เครือ ทำน้ำหนักได้ถึง 14 กิโลกรัม รวมถึงมีรสชาติหอมหวาน เนื้อสัมผัสแน่นหนึบ จึงเริ่มเป็นที่นิยมของชาวบ้านอำเภอพบพระ มีการขยายหน่อพันธุ์ โดยนำหน่อไปปลูกเป็นพืชผสมผสานกับพืชสวนอื่น ๆ จนเป็นที่นิยมอย่างแพร่หลาย
และต่อมาภาคเอกชนได้เห็นถึงความสำคัญของตลาดกล้วยหอมทองที่ปลูกในพื้นที่อำเภอพบพระ จึงมีการนำหน่อพันธุ์ไปเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ เพื่อให้เกษตรกรปลูกในพื้นที่อำเภอพบพระและนำผลผลิตที่ได้ส่งออกไปจำหน่ายโดยเมื่อเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อจนได้ครบตามจำนวนที่ต้องการปลูกแล้ว จะส่งต่อให้เกษตรกรใช้หน่อจากแปลงปลูกทำการขยายพันธุ์ต่อไปจนถึงปัจจุบัน
นอกจากนี้ หน่วยงานในพื้นที่และภาคเอกชนได้ร่วมกันจัดงาน “วันเกษตรพบพระ” โดยจัดครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2545 เพื่อเผยแพร่ประชาสัมพันธ์แหล่งผลิตทางการเกษตร ประเพณี วัฒนธรรมท้องถิ่น แหล่งท่องเที่ยวการเกษตรและธรรมชาติ และผลผลิตทางการเกษตรของอำเภอพบพระให้เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย โดยมีการประกวดกล้วยหอมทองพบพระที่จัดเป็นประจำทุกปี รวมทั้งยังมีการจำหน่ายกล้วยหอมทองพบพระในห้างสรรพสินค้าชั้นนำ เช่น ท็อปส์ ซูเปอร์มาร์เก็ต และวิลล่า มาร์เก็ต เป็นต้น
ลักษณะภูมิประเทศและลักษณะภูมิอากาศ
อำเภอพบพระ ตั้งอยู่ที่ละติจูด 16.386111 ลองจิจูด 98.690278 อยู่ด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ของจังหวัดตาก ลักษณะภูมิประเทศเป็นพื้นที่ราบสูง สลับกับภูเขาสูง อยู่เหนือระดับน้ำทะเล 260 – 1,700 เมตร มีชุดดิน 29B 46B และ 29C ซึ่งมีแร่ธาตุอุดมสมบูรณ์และระบายน้ำได้ดีเหมาะสำหรับทำการเกษตร ลักษณะภูมิอากาศอยู่ในเขตรับลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้และอยู่ใกล้เส้นศูนย์สูตร ทำให้มีอากาศร้อนชื้น ฝนตกสม่ำเสมอ มีปริมาณน้ำฝนเฉลี่ย 1,300 มิลลิลิตรต่อปี จึงเป็นต้นกำเนิดของลำห้วยสำคัญ ๆ เช่น ห้วยวาเล่ย์ ห้วยแม่ละเมา ห้วยอุ้มเปี้ยม ห้วยน้ำนัก ห้วยมอเกอ และแม่น้ำเมย เป็นต้น พื้นที่อำเภอพบพระจึงมีแหล่งน้ำใช้ในการเกษตรตลอดทั้งปี รวมถึงมีแหล่งซับน้ำกว่า 20 แห่ง และมีพื้นที่สูงมากกว่า 600 เมตร เหนือระดับน้ำทะเล อากาศจึงเย็นสบายตลอดทั้งปีลักษณะแบบป่าดิบเขา
จากลักษณะภูมิประเทศและลักษณะภูมิอากาศดังกล่าว ถือได้ว่าระดับความสูงของน้ำทะเลเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้กล้วยหอมทองที่ปลูกในเขตพื้นที่อำเภอพบพระมีรสชาติดี แตกต่างจากกล้วยหอมทองที่ปลูกในพื้นที่ระดับน้ำทะเลต่ำซึ่งจะใช้ระยะเวลาการปลูกจนถึงเก็บเกี่ยวผลผลิต 8 – 9 เดือน แต่กล้วยหอมทองพบพระที่ปลูกในพื้นที่เหนือระดับน้ำทะเล 260 เมตรขึ้นไป ใช้ระยะเวลาปลูกจนถึงเก็บเกี่ยวผลผลิต 10 – 12 เดือน ทำให้ต้นกล้วยมีระยะเวลาในการสะสมอาหารมากกว่า ส่งผลให้กล้วยหอมทองพบพระมีเนื้อแน่นหนึบและรสชาติหวานหอมอร่อยแตกต่างจากพื้นที่อื่น