ไม้ผลอัตลักษณ์ “ส้มแม่สิน “ของดี GI จ.สุโขทัย

ส้มแม่สิน จังหวัดสุโขทัย ได้รับการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (Geographical Indication (GI) ปี 2563 เป็นส้มพันธุ์ส้มเขียวหวาน ผลค่อนข้างกลมแป้นเล็กน้อย เนื้อในผลมีสีส้มอมทอง รสชาติหวานอมเปรี้ยว เนื้อแน่น ผนังกลีบบาง ถุงส้มนิ่ม สีเปลือกแตกต่างกันไปตามฤดูกาล โดยฤดูหนาวจะมีเปลือกสีทอง ฤดูร้อนเปลือกสีน้ำตาลมีกระ และฤดูฝนเปลือกสีเขียวปนสีน้ำตาลกระด้าง เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่สามารถผลิตได้เฉพาะท้องถิ่น

ส้ม

ประวัติความเป็นมา

ส้มแม่สิน เริ่มมีการเพาะปลูกตั้งแต่ปี พ.ศ. 2495 เริ่มจากมีผู้นำพันธุ์ส้มเขียวหวานมาจากเขตบางมด กรุงเทพมหานคร โดยเริ่มปลูกครั้งแรกบริเวณริมแม่น้ำยม เนื่องจากเป็นที่ราบและที่ลาดเชิงเขาที่มีแม่น้ำยมและลำห้วยแม่สินไหลผ่านบนดินที่อุดมสมบูรณ์ จากนั้นจึงมีการขยายพันธุ์โดยใช้กิ่งตอนจากต้นที่มีลักษณะดี ให้ผลผลิตและรสชาติที่ดี ส้มเขียวหวานเริ่มมีการปรับตัวเข้ากับสภาพภูมิอากาศและภูมิประเทศของพื้นที่ทำให้ส้มเขียวหวานมีสีเปลือกที่แตกต่างกันในแต่ละฤดูกาล ได้แก่ ฤดูหนาวสีทอง ฤดูร้อนสีน้ำตาลมีกระ และฤดูฝนสีเขียวปนสีน้ำตาลกระด้าง จากการได้รับธาตุอาหารจากดินดานและตะกอนที่ทับถมกันจากแม่น้ำยม รวมถึงอิทธิพลของน้ำพุร้อน ทำให้เนื้อมีสีส้มอมทอง รสชาติหวานฉ่ำเข้มข้น

ส้ม1

อย่างไรก็ตามส้มเขียวหวานอาจมีประวัติยาวนานตั้งแต่สมัยอาณาจักรสุโขทัยเนื่องจากสมัยสุโขทัยมีอาณาเขตกว้างขวางและมีการผลิตเครื่องถ้วยชามที่เรียกว่า “สังคโลก” ส่งไปขายยังต่างประเทศ ซึ่งเอกสารจีนโบราณสมัยราชวงศ์ชุ่งได้เรียกเมืองโบราณแห่งหนึ่งอยู่บริเวณเมืองสุโขทัยว่า “เฉิงเหลียง” สันนิษฐานว่าน่าจะหมายถึงเมืองเชลียงหรือเมืองศรีสัชนาลัยนั้นเอง และเนื่องจากส้มเขียวหวานมีถิ่นกำเนิดจากประเทศจีนจึงอาจเป็นพืชที่คนจีนนำเข้ามาระหว่างค้าขายและมีการเพาะปลูกกันมาแล้วตั้งแต่สมัยสุโขทัยเป็นราชธานีสืบมา

311565543 5365067733600324 7524288095760930447 n

ปัจจุบันพื้นที่ปลูกส้มแม่สิน มีพื้นที่เพาะปลูกส้มเขียวหวานมากเป็นอันดับหนึ่งของประเทศไทย โดยมีขอบเขตพื้นที่การปลูกส้มแม่สิน ครอบคลุมพื้นที่ในเขดดำบลแม่สิน และตำบลแม่สำ ของอำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัยและได้ทำการส่งไปขายยังจังหวัดอื่นๆ รวมถึงในต่างประเทศด้วย ทำให้ส้มแม่สินเป็นที่รู้จักกันทั่วไป

นอกจากนี้ยังมีการจัดงาน “ส้มเขียวหวานและอาหารดี ตำบลแม่สิน” ซึ่งจัดเป็นประจำทุกปี เพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์สินค้าทางการเกษตรที่หลากหลายและแสดงถึงความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่ได้เป็นอย่างดี