ปลาหมอสีคางดำหรือ Blackchin tilapia จะเห็นได้ ว่าปลาชนิดนี้มีลักษณะภายนอก คล้ายคลึงกับปลาหมอเทศ โดยเฉพาะในปลาระยะวัยอ่อน เมื่อโตเต็มวัยจะสังเกตได้ชัดขึ้น
ปลาหมอสีคางดำ จัดอยู่ในครอบครัว Cichlidaeเช่นเดียวกับปลาหมอเทศ ปลาชนิดนี้มีถิ่นกำเนิดในทวีปแอฟริกา พบแพร่กระจายตลอดแนวชายฝั่งจนถึงแอฟริกาตะวันตกเฉียงเหนือ แพร่กระจายในบริเวณชายฝั่งตลอดแอฟริกาตะวันตกเฉียงเหนือ เช่น ไนจีเรีย คาเมรูน เซเนกัล ไอวอรี่โคสต์ กินี ไลบีเรีย โตโก สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก เบนิน แกมเบีย กินี บิสเซา สาธารณรัฐคองโกมอริเตเนีย กานา และเชียร์ราลีโอน เป็นต้น
ปัจจุบันมีการนำเข้าพันธุ์ปลาหมอสีคางดำในหลายประเทศ ทั้งอเมริกา ยุโรป เอเชีย โดยเฉพาะในประเทศไทย มีรายงานการนำเข้ามาตั้งแต่ ปี 2553
ปลาหมอสีคางดำ ส่วนใหญ่พบอาศัยบริเวณปากแม่น้ำที่เป็นน้ำกร่อย ป่าชายเลน สามารถทนความเค็มได้สูง ทนต่อการเปลี่ยนแปลงความเค็มในช่วงกว้าง นอกจากนี้ยังพบปลาชนิดนี้ในพื้นที่น้ำจืด แม่น้ำและทะเลสาบน้ำจืด ในบริเวณที่มีกระแสน้ำไม่ไหลแรง
จากการทดสอบเบื้องต้น พบว่าลูกปลาหมอสีคางดำขนาด 1.5 – 2.5 เซนติเมตร สามารถทนต่อการเปลี่ยนแปลงความเค็มฉับพลันจากน้ำจืด 0 ppt จนถึงความเค็ม 30 ppt และสามารถปรับตัวและเริ่มกินอาหารได้ใน 1 ชั่วโมง ปลาหมอสีคางดำเมื่อมีขนาดโตเต็มวัย อาจมีขนาดลำตัวยาวถึง 8 นิ้ว หรือมากกว่า การจำแนกเพศของปลาหมอสีคางดำจากภายนอกไม่ชัดเจน เมื่อโตเต็มวัย ปลาหมอสีคางดำเพศผู้จะมีสีดำบริเวณหัวและบริเวณแผ่นปิดเหงือกมากกว่าเพศเมีย เมื่อถึงระยะช่วงระยะเวลาจับคู่ผสมพันธุ์ จะเข้ามาในเขตน้ำตื้น ปลาเพศเมียทำหน้าที่ขุดหลุมสร้างรัง เพศผู้ทำหน้าที่กระตุ้นให้เพศเมียไข่ และผสมกับน้ำเชื้อภายนอก ปลาหมอสีคางดำสมบูรณ์เพศและวางไข่ได้รวดเร็ว แม่ปลา 1 ตัว สามารถให้ไข่ได้ประมาณ 150 – 300 ฟอง การฟักไข่ และดูแลตัวอ่อนในปากโดยปลาเพศผู้โดยไข่จะใช้เวลาฟักประมาณ 4- 6 วัน และพ่อปลาจะดูแลลูกปลา โดยการอมไว้ในปากนาน ประมาณ 2-3 สัปดาห์
อาหารปลาหมอสีคางดำ เป็นปลาที่กินทั้งพืช และสัตว์ แพลงก์ตอน ลูกปลา ลูกหอยสองฝา รวมถึงซากของสิ่งมีชีวิต นอกจากนี้จากการสอบถามและทดลองในห้องปฏิบัติของศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่ง เขต๒ (สมุทรสาคร) พบว่าปลาหมอสีคางดำ ชอบกินกุ้งทะเล โดยเฉพาะกุ้งกุลาดำ กุ้งขาวแวนนาไมและกุ้งแชบ๊วย รวมถึงลูกปลาวัยอ่อน
จากการตรวจสอบความยาวของลำไส้ปลา พบว่ามีความยาวมากกว่า ๔ เท่าของความยาวลำตัวปลา โดยมีระบบการย่อยอาหารที่ดี สามารถย่อยกุ้งได้ภายในระยะเวลาไม่ถึง ๓๐ นาที ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ปลาหมอสีคางดำ มีความต้องการอาหารอยู่แทบตลอดเวลา ประกอบกับนิสัยของปลาที่ค่อนข้างดุร้าย เมื่อเทียบกับปลาหมอเทศ
การป้องกันการแพร่กระจายของปลาหมอสีคางดำเข้ามาในบ่อเลี้ยงสัตว์น้ำ
- การเตรียมบ่อ ตากบ่อให้แห้งสนิท
- กรองน้ำด้วยถุงกรองหรือใช้คลอรีน เพื่อทำลายไข่ของปลาและลูกปลา
- ใช้กากชาเพื่อฆ่าปลาในบ่อ ก่อนการเลี้ยงสัตว์น้ำ
การลดผลกระทบของปลาหมอสีคางดำในบ่อเลี้ยงสัตว์น้ำแบบธรรมชาติ แบบกึ่งพัฒนา
1.กรองน้ำที่นำเข้าบ่อด้วยถุงกรอง หรืออวนตาถี่
2.กำจัดปลาที่หลุดรอดเข้ามาด้วยกากชา
3.หลีกเลี่ยงการเลี้ยงกุ้งทะเล ในช่วงที่ยังไม่สามารถควบคุมหรือป้องกันปลาหมอสีคางดำไม่ให้หลุดรอดเข้ามาในบ่อได้
4.เลี้ยงปลากะพงขาวทดแทนการเลี้ยงกุ้งทะเล 1 – 3 รอบ หรือจนกว่าไม่มีการแพร่กระจายของปลาหมอสีคางดำในพื้นที่หรือในบ่อ โดยปล่อยปลากะพงขาวขนาด 2-4 นิ้ว กรณีปลากะพงขาวมีขนาดเล็กให้อนุบาลให้มีขนาด 3-4 นิ้ว ในกะชัง ก่อนปล่อยปลาสู่ในบ่อ ควรอนุบาลลูกปลากะพงขาวด้วยปลาหมอสีคางดำสดสับ เพื่อให้ปลากะพงขาวคุ้นเคยกับการกินเนื้อปลาหมอสีคางดำ เพื่อให้ปลากะพงขาวกินลูกปลาหมอสีคางดำวัยอ่อน โดยปลากะพงขาวสามารถกินปลาหมอสีคางดำที่มีขนาดเล็กกว่าปากปลากะพงได้ ช่วยลดต้นทุนค่าอาหารปลากะพงขาว
5.เลี้ยงปูทะเลในบ่อ โดยใช้ปลาหมอสีคางดำเป็นอาหารของปู จับปลาที่มีขนาดใหญ่โดยใช้แหหรืออวนแล่หรือตัดปลาเป็นชิ้นขนาด 1-2 นิ้ว ใส่ยอ ถาดหรือวางอาหาร หรือสาดในพื้นที่เลี้ยงปู โดยใช้ ปลา 1-2 ชิ้นต่อปูทะเล 1 ตัว ปลาส่วนที่เหลือ สามารถเก็บไว้ได้ โดยแช่แข็งหรือหมักโดยใช้เกลือ 10 เปอร์เซ็นต์ ต่อน้ำหนักปลาที่ต้องการหมัก
ปัญหาของปลาหมอสีคางดำที่แพร่กระจายในแหล่งน้ำธรรมชาติ ทำให้เกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ โดยต้องอาศัยพันธุ์สัตว์น้ำจากธรรมชาติมากขึ้นทั้งจากพันธุ์สัตว์น้ำจากธรรมชาติลดลง และเสี่ยงต่อปลาหมอสีคางดำที่จะหลุดรอดเข้ามา ทำให้ต้นทุนของเกษตรกรสูงมากขึ้นทั้งการกรองน้ำ การใช้กากชา รวมถึงต้องซื้อพันธุ์สัตว์น้ำมาปล่อยทดแทน และอาจต้องซื้ออาหารมาเสริมเพื่อทดแทนอาหารที่เคยได้รับจากธรรมชาติจากการเปิดน้ำเข้าออก
แนวทางการลดจำนวนปลาหมอสีคางดำในแหล่งน้ำธรรมชาติ
1.การกำจัดปลาหมอสีคางดำในธรรมชาติ ที่เข้าไปรุกรานสัตว์น้ำท้องถิ่นด้วยวิธีการ และมาตรการต่างๆ ต้องใช้ความร่วมมือหลายฝ่ายและงบประมาณที่สูง เนื่องจากปลาชนิดนี้กินอาหารได้แทบทุกชนิด ขยายพันธุ์เพิ่มจำนวนอย่างรวดเร็ว ทนต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมที่รุนแรงได้ดี โดยเฉพาะความเค็ม จากการที่ปลาหมอสีคางดำ หลุดลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติมานาน จากการสังเกต
พบปลาบางตัวมีลักษณะคล้ายลูกผสมระหว่างปลาหมอเทศและปลาหมอสีคางดำ ดังนั้นการศึกษาวิจัยเพื่อปรับปรุงพันธุ์ปลาจึงมีความเป็นไปได้ เพื่อลดความดุร้าย ลดการเป็นผู้ล่า และเพิ่มคุณค่าทางอาหาร รวมถึงคุณภาพของเนื้อปลา การแปรรูป เพื่อให้ตลาดมีความต้องการและมีราคาสูงขึ้น เพื่อให้เกิดการใช้ประโยชน์ของปลาเป็นการลดจำนวนปลาในธรรมชาติทางหนึ่ง
2. การปล่อยปลากินเนื้อ เช่น ปลากะพงขาว ลงในแหล่งน้ำธรรมชาติ ควรทำด้วยความระมัดระวัง เพราะปลากะพงขาว อาจเลือกกินสัตว์น้ำหรือปลาชนิดอื่นๆ ที่จับกินได้ง่าย จากในแหล่งน้ำธรรมชาติ ก่อนที่จะเลือกจับกินปลาหมอสีคางดำ และปลาหมอสีคางดำวัยอ่อนก็หลบอยู่ในปากของพ่อปลา ทำให้ยากที่ปลากะพงขาวจะจับกินได้โดยง่าย ซึ่งแตกต่างจากปลาหมอสีคางดำที่พบในบ่อ ที่มักจะพบปลาหมอสีคางดำจำนวนมาก เมื่อปล่อยปลากะพงขาวลงไปในบ่อ ปลากะพงขาวจึงจำเป็นที่จะต้องกินปลาหมอสีคางดำ เพราะไม่มีปลาเหยื่อหรีอสัตว์น้ำชนิดอื่นให้กิน ดังนั้นการปล่อยปลากะพงขาวลงไปในแหล่งน้ำธรรมชาติ ต้องมีการตรวจสอบให้มั่นใจก่อนว่าแหล่งน้ำนั้นถูกปลาหมอสีคางดำบุกรุกจนแทบไม่มีสัตว์น้ำชนิดอื่นอยู่เลย จึงเหมาะสมที่จะปล่อยปลากะพงขาวลงไปเพื่อควบคุมปริมาณปลาหมอสีคางดำ
3.การกำจัดปลาหมอสีคางดำออกจากบ่อเลี้ยงสัตว์น้ำแบบธรรมชาติและแหล่งน้ำธรรมชาติยังมีความยุ่งยากและอาจไม่ได้ผลดีเพราะปลาชนิดนี้สืบพันธุ์และโตเร็ว การศึกษาวิจัยเพื่อนำไปใช้ประโยชน์และเพิ่มมูลค่า เป็นแนวทางที่ดีในการควบคุมประชากรของปลาหมอสีคางดำไม่ให้แพร่กระจายไปยังพื้นที่อื่นโดยปราศจากการควบคุม จนเป็นอันตรายต่อสัตว์น้ำท้องถิ่น
4.เป็นบทเรียนที่สำคัญของการนำสัตว์น้ำต่างถิ่นเข้ามาเลี้ยงในประเทศไทยโดยขาดการรับผิดชอบและการควบคุมที่มีประสิทธิภาพ
ที่มาข้อมูล : ชัยวุฒิ สุดทองคง ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่ง เขต2 (สมุทรสาคร)