“ตั๊กแตน” พลิกศัตรูพืชเป็น “อาหารเลี้ยงโลก”

ตั๊กแตน ศัตรูพืชจอมกระโดดที่พบได้ทั่วทุกภาคของประเทศ  เข้าทำลายและระบาดในพืชไร่ทั้งหน้าแล้งและหน้าหนาว ตั้งแต่เริ่มเป็นตัวอ่อนจนถึงตัวเต็มวัย สร้างความเสียหายให้แก่ผลผลิต แต่ก่อนตั๊กแตนจะเข้าทำลายหญ้าต่าง ๆ เช่น หญ้าแฝกและหญ้าคา แต่เมื่อเรามีการทำพืชไร่ ตั๊กแตน จึงเข้าทำลายพืชผลเหล่านั้นด้วยการกัดกินใบ จนต้นหยุดการเติบโตทำให้เกิดความเสียหายอย่างมาก

530894935

ลักษณะสำคัญของ “ตั๊กแตน”คือปากแบบกัดและเคี้ยวตั้งแต่ตัวอ่อน มีขา 2 คู่หน้าเพื่อเดิน ส่วนขา 1 คู่หลังเพื่อกระโดด โดยทั่วไปเราแบ่งตั๊กแตนออกเป็น 3 กลุ่มใหญ่ๆ คือ ตั๊กแตนหนวดสั้นที่มีลำตัว 3 ปล้อง ซึ่งพบเห็นได้มากที่สุด ตั๊กแตนหนวดยาวมีลำตัว 4 ปล้อง และตั๊กแตนแคระ ที่มีลักษณะคล้ายตั๊กแตนหนวดสั้นแต่มีความยาวเพียง 1-2 เซนติเมตรเท่านั้น การป้องกันและกำจัดแมลงศัตรูพืชชนิดนี้จะต้องเริ่มตั้งแต่การไถพรวนดินก่อนการปลูกเพื่อกำจัดไข่ตั๊กแตนในแปลงพืช ซึ่งจะทำให้จำนวนของตั๊กแตนเบาบางลง หากมีตั๊กแตนในแปลงช่วงที่ทำการเพาะปลูกแล้วจะใช้การกำจัดโดยการใช้สวิงจับในไร่ และใช้ศัตรูพืชตามธรรมชาติเช่น ตัวเบียนหรือตัวห้ำ เข้าทำลาย หรือใช้พืชสมุนไพรและสารเคมีกำจัดตั๊กแตน

สิ่งที่น่าสนใจก็คือ เมื่อมีการระบาดของตั๊กแตนอย่างมากในพื้นที่จังหวัดนครสวรรค์ ลพบุรีและเพชรบูรณ์ ในช่วงปี พ.ศ.2519-2521 มีการจับเอาตั๊กแตนปาทังก้ามาทอดเป็นอาหาร จนกลายเป็นเมนูยอดฮิตมาถึงปัจจุบัน แค่เพียงนำมาทอดและเหยาะซอสก็ทานได้แล้ว จนทำให้ตั๊กแตนปาทังก้าขาดตลาด จนต้องมีการเลี้ยงตั๊กแตนให้เพียงพอกับความต้องการของตลาด และในปัจจุบันตั๊กแตนถูกจัดเป็นแหล่งอาหารใหม่ที่อุดมไปด้วยโปรตีนและได้รับการยอมรับให้เป็นอาหารเลี้ยงโลกที่ราคาถูก คุณค่าทางโภชนาการสูง ใช้เวลาและต้นทุนในการเลี้ยงต่ำกว่าสัตว์ใหญ่ต่างๆ และเป็นอาหารที่ไม่ผ่านการใช้ยาและฮอร์โมนเร่งอีกด้วย

การเพาะเลี้ยงตั๊กแตนนั้น จะต้องสร้างโรงเรือน มีหลังคาเพื่อบังแดดบังฝน บนพื้นที่ที่มีแดดส่องถึง และต้องมีกรงเลี้ยง 2 แบบ กรงแบบแรกคือกรงมุ้งไนล่อนเปิด-ปิดได้ ขนาด 25*35*25 เซนติเมตร มีรางใส่น้ำใส่อาหารให้ตั๊กแตน โดยต้องล้างทำความสะอาดทุกวัน กรงนี้มีไว้สำหรับตั๊กแตนวัย 1-5 วัน จำนวน 300 ตัว พอตั๊กแตนอายุครบ 1 เดือนก็ต้องย้ายไปไว้ในกรงแบบที่ 2 คือกรงมุ้งลวด ขนาด 60*60*60 ที่สามารถเลี้ยงตั๊กแตนได้ถึง 2,000 ตัวต่อกรง อาหารหลักที่ต้องให้ทุกวันตั้งแต่วัย 1 ถึงตัวเต็มวัยคือต้นแครด และเสริมด้วยรำข้าวสาลี 1 ครั้งต่อวัน ดูแล้วไม่ยุ่งยากซับซ้อนอะไร เพียงเราใส่ใจเรื่องความสะอาด จัดการเรื่องมูลตั๊กแตนให้ดี แค่นี้ก็สามารถผลิตตั๊กแตนออกสู่ตลาดได้แล้ว เกษตรกรส่วนใหญ่ที่ทำเงินได้ดีก็จะใช้วิธีการผลิตออกมาแล้วนำไปแช่แข็งส่งขายต่อไป