“เฉียงพร้านางแอ” ไม่โด่งดังแต่ประโยชน์แน่น

1093877279

“เฉียงพร้านางแอ” อีกหนึ่งไม้ยืนต้นที่คนส่วนใหญ่แทบจะไม่เคยได้ยินชื่อ และยิ่งมีชื่อหลายชื่อยิ่งอาจจะทำให้หลายคนสับสนกันได้ เพราะไม้ชนิดนี้ในกรุงเทพจะเรียกกันว่า ต้นร่มคมขวาน จังหวัดอื่นๆ ในภาคกลางอาจจะคุ้นกันกับชื่อ ต้นสันพร้านางแอหรือต้นต่อไส้ แถบจังหวัดตราดและประจวบคีรีขันธ์จะเรียกกันว่า ต้นขิงพร้าหรือเขียงพร้า ลงไปทางชุมพรจะเรียกว่าเขียงพร้านางแอ ทางภาคใต้เรียก ต้นคอแห้งหรือต้นสีฟัน ซึ่งไปใกล้เคียงกับทางภาคเหนือที่เรียกกันว่า สีฟันนางแอง และยังมีอีกหลายชื่อที่ใช้เรียกไม้ชนิดนี้ สามารถพบได้ในทุกจังหวัดของประเทศไทย ทั้งในป่าดิบชื้นและป่าดิบแล้ง รวมไปถึงป่าเบญจพรรณด้วย

186581574 2845122985802591 6568747934525202699 n

เราสามารถนำส่วนต่าง ๆ ของต้น “เฉียงพร้านางแอ” มาใช้ประโยชน์ได้หลายด้าน เช่น ส่วนของผลสุกที่มีรสชาติเปรี้ยวอมหวาน มีวิตามินซีสูง สามารถรับประทานเป็นผลไม้ได้ เนื้อไม้มีความคงทนแข็งแรง สามารถนำไปใช้ในงานก่อสร้าง นำมาประกอบหรือประดิษฐ์เป็นเครื่องใช้ไม้สอยในครัวเรือนและใช้ทำอุปกรณ์การเกษตรได้ ส่วนของเศษไม้ใช้เป็นเชื้อเพลิง ในแง่ของการนำไปใช้เป็นสมุนไพรในการบรรเทาอาการต่างๆ นั้น ลำต้นเมื่อนำมาต้มในน้ำสะอาดและนำมาดื่มเป็นยาบำรุงร่างกาย กระตุ้นให้รับประทานได้มากขึ้น ลดไข้ ขับพิษไข้ บรรเทาอาการระคายคอ เพิ่มความชุ่มคอ  ขับลม ส่วนของเปลือกไม้ใช้แก้อาการบิดและท้องเสีย เป็นต้น ในปัจจุบันนี้เรานิยมนำไม้ชนิดนี้มาปลูกป่าในบริเวณที่เป็นป่าเสื่อมโทรมหรือพื้นที่ที่เคยเกิดอุทกภัย เพราะเป็นไม้ที่มีการเจริญเติบโตได้เร็ว ขณะเดียวกันในการปลูกตกแต่งสวน มักนำมาปลูกไว้เพื่อให้เกิดร่มเงาแก่ตัวบ้านและปลูกเป็นไม้ประดับที่ให้ดอกสวยงามและมีกลิ่นหอมละมุนไปในตัว

“เฉียงพร้านางแอ” โดยทั่วไปจะมีความสูงระหว่าง 25-30 เมตร และอาจจะพบว่าสูงกว่านั้นได้หากสภาพแวดล้อมอุดมสมบูรณ์ ลำต้นสูงชะลูด เปลา มีเรือนพุ่มหนาทึบทรงฉัตร ฐานพุ่มกว้าง ฟอร์มสวย เปลือกของลำต้นมีผิวที่เรียบบ้างและบางต้นอาจจะผิวแตกเป็นร่องก็มี บางต้นพบว่ามีรากค้ำจุนแตกออกมาเป็นกระจุกที่โคนต้น ใบเดี่ยวสีเขียวแก่ ผิวใบเรียบเป็นมันวาว  ปลายใบมน แตกดอกเป็นช่อกระจุกสีขาวครีม ลักษณะกลม ประกอบด้วยดอกย่อยขนาดเล็กจำนวนมาก ดอกมีกลิ่นหอมอ่อนๆ ออกดอกในช่วงฤดูหนาวของแต่ปี หลังจากนั้นจึงออกผลขนาดเล็กเป็นกระจุกที่ปลายกิ่ง ผลกลมขนาด 5-10 มิลลิเมตร มีกลีบเลี้ยงหุ้มปลายผลไว้ ผลแรกผลิจะมีสีเขียวและเมื่อสุกจะมีสีแดงอมม่วง ด้านในมีเมล็ดสีน้ำตาลเข้ม ที่สามารถนำไปขยายพันธุ์ได้